เลขที่สินค้า A-017

เมี่ยง ใบชาหมักของชาวเหนือ จากยอดอ่อนใบใหญ่ของต้นชาในตำบล ป่าแป๋ อำเภอ แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ชื่อว่าเป็นเมี่ยงชั้นดี เพราะขึ้นตามธรรมชาติในป่าบนเขา ปะปนอยู่ในป่าไม้เบญจพรรณ จึงเป็นต้นชาเมี่ยงอินทรีย์ เมื่อได้ถูกนึ่งให้สุก และผ่านกระบวนการหมักระยะเวลาหนึ่งจนได้ที่ จะมีรสชาติดีกว่าเมี่ยงที่มาจากแหล่งอื่น เป็นที่ยอมรับและนิยมของคนทั่วไปในภาคเหนือ ไม่ใส่สารกันบูด

น้ำหนักมัดละ 200 กรัม

จำนวนสิบมัด ราคา 300 บาท

ชา หรือ ชาเมี่ยง เป็นพืชมีประวัติการปลูก และ บริโภคของชาวลานนามายาวนานแต่โบราณ ผ่านการพิสูจน์ถึงความปลอดภัยจากการรับประทาน ขบเคี้ยว ต้มชงดื่ม

ในชนบท ทุกบ้านจะมีเมี่ยงไว้เป็นของกิน และ ใช้ต้อนรับแขกหรือญาติมิตรที่มาเยือนเรือนชาน โดยมีห่อเมี่ยงวางเคียงคู่กับโป้ยาขึ่น (กระป๋องบรรจุบุหรี่พื้นเมือง) แขกผู้มาเยือนจะแกะห่อเมี่ยงที่เจ้าบ้านจัดไว้ต้อนรับ อม หรือ เคี้ยว จากนั้น จึงจะพูดคุยสาระ

ชาวเมืองเหนือนิยมอมเมี่ยงสูบบุหรี่หลังอาหาร ส่วนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ก็อมแต่เมี่ยง

วิธีกินเมี่ยง คลี่ใบเมี่ยงใส่เกลือเม็ด อาจจะตามด้วยขิงสด ม้วนเป็นคำใช้อมยามพักจากงาน หรือ ก่อนออกไปทำงานนอกบ้าน เนื่องจากใบเมี่ยง คือ ใบชาพันธุ์อัสสัม มีสารคาเฟอีน จึงทำให้ประสาทตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า สดชื่น ดั่งได้ดื่มน้ำชาเข้มข้น

งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ หรือ งานฉลองต่างๆ แม้แต่ฟังธรรมเทศนาในวัด เจ้าบ้านหรือเจ้าภาพจะจัดสำรับ จัดวางเมี่ยงห่อด้วยใบตองสดขนาดพอคำ มีสองชนิด คือ เมี่ยงหวาน และ เมี่ยงส้ม (เปรี้ยว) ไว้รับรองแขก

**********

ทางวิชาการ จำแนกต้นชาออกเป็นสองกลุ่ม คือ

กลุ่มแรก ได้แก่ ชาจีน และ ชาญี่ปุ่น นิยมใช้ใบอ่อนและยอดอ่อน นิยมปลูกให้เป็นต้นทรงพุ่มเตี้ยเพื่อง่ายต่อการยืนเก็บยอดอ่อน และหมั่นตัดแต่งกิ่งเพื่อให้แตกยอดอ่อนมากๆ

กลุ่มที่สอง ได้แก่ ชายืนต้นใบใหญ่ เรียกว่า ชาอัสสัม ต้นพันธุ์ดั้งเดิมอยู่ในยุนนาน ประเทศจีน เชื่อว่ามีอายุมากกว่า 2,500 ปี ชาวจีนเรียกชากลุ่มนี้ว่า ชาผู่เอ๋อ ชาวไท หรือ ไต เรียกว่า ชาเมี่ยง

กลุ่มชนชาวไท หรือ ไต จากสิบสองปันนา ได้นำเมล็ดพันธุ์พร้อมเมล็ดข้าวเปลือกติดต้วไปเมื่อครั้งอพยพไปสร้างถิ่นฐานใหม่ในลุ่มน้ำพรหมบุตร สถาปณาอาณาจักรไทอาหม ปัจจุบัน คือ รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย กลุ่มชนชาวไท หรือ ไต จากสิบสองปันนา กลุ่มอื่นๆ ต่างก็ได้นำเมล็ดพันธ์เหล่านั้นติดตัวมาเมื่อครั้งได้เคลื่อนย้ายลงมาในภาคเหนือของประเทศไทย ก่อให้เกิด วัฒนธรรมปลูกข้าว กินข้าว(เหนียว) ปลูกต้นชาเมี่ยง กินเมี่ยง เคี้ยวเมี่ยง ดื่มน้ำเมี่ยงใส่เกื๋อ (น้ำชาใส่เกลือ) ไม่ว่ายามว่าง งานรื่นเริง งานเลี้ยงต่างๆ ซึ่งต่างไปจากชนชาวสยาม หรือ ไทย นิยมเคี้ยวหมาก ใบพลู ซึ่งรับจากวัฒนธรรมอินเดีย

งานวิชาการได้พิสูจน์ว่า สารสกัดจากใบชาเมี่ยงทั้งใบสดและที่หมักเป็นเมี่ยง มีสารที่มีคุณประโยชน์หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารกลุ่ม คาเทชิน (Catechins) ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เซลล์มนุษย์แก่ช้าลง นอกจากนี้ยังช่วยลดการสร้างสารเมลานินที่บริเวณผิวหนังที่ได้รับแสงแดด หรือ แสงจ้า ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำและเกิดฝ้า กระ สารเช่นว่านี้ มีการสกัดจำหน่ายอย่างแพร่หลายในรูปของเวชสำอาง และ ผสมอยู่ในกลุ่มยาอายุวัฒนะ


ติดต่อ สั่งซื้อ กลับไปหน้าหลัก