แดนดินถิ่นไทยเหนือ

          ราวพุทธศตวรรษที่ 9 ดินแดนภาคเหนือของประเทศไทยมีชุมชนเชื้อสาย ไต หรือ ไท ถูกเรียกโดยรวมจากนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกรุ่นก่อนว่า ขมุ หรือ ลาว ได้ตั้งรกรากกระจัดกระจายอยู่ก่อนแล้วภายใต้การปกครองของอาณาจักร พยู (Pyu) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในลุ่มน้ำ อิระวะดี ประเทศเมียนมา



          อาณาจักร พยู (Pyu) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศเมียนมา ปกครองโดยชาวมอญยุคต้น ใช้เงินตราเป็นเหรียญกษาปณ์โลหะเงิน จำลองรูปแบบมาจากเหรียญกษาปณ์ของอาณาจักรอาราคัน (Arakan) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอาณาจักรพยู รูปแบบเหรียญกษาปณ์ของอาณาจักรพยูนี้ มีอิทธิพลต่อรูปแบบการผลิตเหรียญกษาปณ์ของอาณาจักรฟูนัน ศรีเกษตร และ ทวาราวดี ซึ่งรุ่งเรืองต่อมาในภายหลังจากที่ อาณาจักรพยูได้ล่มสลาย

          ตามรูปเหรียญฯ ดังภาพข้างต้นนี้ ด้านหน้าของเหรียญฯ เป็นรูปพระที่นั่งมีมงกุฏวางตรงกลาง ครอบด้วยวงกลมและเมล็ดไข่ปลาล้อมรอบเป็นรัศมี ด้านหลังของเหรียญฯ แสดงภาพสัญลักษณ์แห่งเทพเจ้าของอินเดีย สัญลักษณ์หลัก คือ รูปศรีวัตสา (Shrivatsa) Shri คือเทพสตรีแห่งความมั่งคั่ง และโชคลาภ ภายในสัญลักษณ์ มี ภูเขาหมายถึงเทพเจ้าศิวะ (Shiva) เทพเจ้าแห่งการสร้างและการทำลาย (การเวียนว่ายตายเกิด) ในขณะเดียวกันภูเขาหมายถึงโลกมนุษย์ ลอยอยู่เหนือเส้นคลื่นของมหาสมุทรด้านล่างของเหรียญฯ ส่วนด้านบนของเหรียญฯ รูปวงกลมแทนพระจันทร์ และ รูปดาวแฉกแทนพระอาทิตย์ หมายถึงสวรรค์ ส่วนด้านซ้ายของเหรียญฯ เป็นรูปวัชระสายฟ้า สัญลักษณ์ของพระอินทร์ (Indra) เทพเจ้าแห่งสรวงสวรรค์ และ ด้านขวาของเหรียญฯ เป็นรูปหอยสังข์ สัญลักษณ์ของพระวิษณุ (Vishnu) เทพเจ้าแห่งการสร้าง และ ปกปักรักษาจักรวาล




          ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 อาณาจักรพยูเสื่อมอำนาจ ล่มสลายจากการรุกราน และ ถูกปกครองโดยชาว พม่า (Burman) ผู้รุกรานมาจากทางเหนือ ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ตอนใต้ของอาณาจักร น่านเจ้า (Nanzhao) (น่านเจ้าเป็นอาณาจักรใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของยุนนาน ประกอบด้วยชนชาติเชื้อสายทิเบตหลายเผ่า) ได้สถาปณาอาณาจักร พุกาม (Pagan) ขึ้นมาแทนที่ แต่อาณาจักรพุกามนี้ ล่มสลายลงเมื่อปี พ.ศ. 1830 โดยกองทัพของ จักรพรรดิ์กุบไลข่าน (Kublai Khan) กษัตริย์ชาวมองโกลแห่งกรุงปักกิ่ง (Beiging)

          กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นหลายปี จอมทัพกุบไลข่านได้ส่งกองทัพมองโกลประกอบด้วยทหารม้าเผ่าเตอร์กจากเอเชียกลาง ซึ่งเป็นชาวมุสลิมลงมารุกราน และ ได้เข้ายึดครองเมือง ต้าลี่ (Dali) เมืองหลวงของชนเผ่าไต หรือ ไท เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 1796 ได้สำเร็จโทษเจ้าผู้ครองนคร ฐานต่อต้านไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อกองทัพมองโกล จากนั้น ได้ตั้งเจ้าผู้ครองนครจากชาวไตคนใหม่ ให้ปกครองภายใต้การควบคุมของมองโกล และได้ใช้เมืองต้าลี่เป็นศูนย์บัญชาการ ส่งกองทัพมองโกลออกรุกรบ และ เข้าครอบครองดินแดนจีนใต้ และ ดินแดนส่วนอื่นๆ ของประเทศจีนได้ทั้งหมด

          จากนั้น กุบไลข่านได้สถาปนาราชวงศ์ หยวน ตั้งตนขึ้นเป็นจักพรรดิ์ปกครองประเทศจีน กองทัพมองโกลและพันธมิตรได้ขยายดินแดน ยกทัพรุกรานลงมาทางใต้ได้ครอบครอง อาณาจักรพุกามของชาวพม่า (Burman) อาณาจักรอาราคัน (Arakan) ของชาวเบงกอลตะวันออก อาณาจักร ไดเวียต (Dai Viet) ของชาวเวียตนามตอนบน และ อาณาจักรจามปา (Champa) ของชาวจามในเวียดนามตอนกลาง

          ในกองทัพของจักรพรรดิ์กุบไลข่านนี้ มีเหล่าชนชาวไต หรือ ชาวไท จากประเทศจีนตอนใต้ในยุนนานจำนวนไม่น้อย ถูกเกณฑ์ให้เป็นลูกหาบ นำทาง และ เข้าร่วมรบ เนื่องจากพื้นที่ภูมิประเทศแถบนี้ เป็นป่าดิบ อากาศอบอ้าวร้อนชื้น ไข้ป่าชุกชุม เหล่าชนชาวไต หรือ ชาวไท เหล่านี้ จึงมีส่วนร่วมในชัยชนะ ร่วมครอบครองดินแดน ไตฉาน (Tai-Shan) ที่ตองอู และ เชียงตุง ต่อมามีผู้คนชาวไต และ ชาวไท กลุ่มอื่นๆ ในยุนนานจำนวนมาก ได้อพยพลงมาสมทบ เนื่องจากดินแดนแห่งใหม่เหล่านี้ มีภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศอบอุ่นกว่าแหล่งอาศัยเดิม ก่อให้เกิดหมู่ชนที่มีวัฒนธรรม และ ภาษาไต หรือ ไท อยู่กระจัดกระจายทั่วไปในดินแดนแถบนี้ จากลุ่มน้ำอิระวดี ถึง ลุ่มน้ำโขง ครอบคลุมกว้างไกล จรดถึงอ่าวตังเกี๋ยของเวียดนาม เกิดการรวมกลุ่มกับชุมชนผู้อาศัยอยู่แต่เดิม ก่อเกิดเป็นอาณาจักรเติบโตเป็น ลานช้าง ลานนา ในกาลต่อมา

          ก่อนหน้านั้น เมื่อปี พ.ศ. 1771 มีกลุ่มชนชาวไต หรือ ชาวไท นำโดย เจ้ารุ่ง สุขะฟ้า (Chao Rung Sukaphaa) ได้นำผู้คนจำนวนหนึ่งจากถิ่นฐานเดิม เมืองมงเมา (Mong Mao) ใน ยุนนาน ประเทศจีน ไปสร้างอาณาจักรใหม่ที่ ลุ่มน้ำพรหมบุตรของอินเดีย สถาปนาตนขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองแคว้นที่สร้างขึ้นใหม่ นามว่า อาหม (Ahom)

          ประวัติศาสตร์อินเดียบันทึกชื่อ แคว้น กามารูปา (Kamarupa) ปกครองโดยกษัตริย์ ต่อเนื่องกันยาวนาน 41 พระองค์ จนถึงกษัตริย์องค์สุดท้าย ทรงพระนาม พระเจ้าพูรานดาร์สิงห์ (Purandar Singha) ปี พ.ศ. 2369 ก็สิ้นราชวงศ์ ถูกอังกฤษผนวกเข้าเป็นรัฐหนึ่งของ อินเดีย-พม่า เปลียนชื่อใหม่เป็น อัสสัม (Assam) ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ์อังกฤษ

          ร่วมสมัยเดียวกัน ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลางของประเทศไทยมี ชนเชื้อสายมอญ ได้ตั้งรกรากอยู่มาแต่กาลก่อน ชื่ออาณาจักร ทวาราวดี เรียกตัวตน เซียม หรือ สยาม (Siam) มีอาณาเขตจรดตลอดแม่น้ำโขงฝั่งขวา ทางเหนือก็มีกลุ่มชนเชื้อสายมอญ สร้างอาณาจักร หริภุญไชย อยู่ได้ระยะหนึ่งก็ขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จากผลการขุดค้นศึกษาจารึกอักขระภาษามอญโบราณ ของอาณาจักรหริภุญไชยแต่ต้น ซี่งเคยมีบันทึกสืบต่อเนื่องกันมาโดยตลอด หลายรุ่น หลายชั่วคน นั้น อยู่ๆ ก็สะดุดขาดหายไป จากความขาดตอนนี้ นักประวัติศาสตร์ ผู้ซึ่งศึกษาเรื่องราวของชนชาติมอญโบราณ ต่างลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า คงได้มีการอพยพเคลื่อนย้าย อันเนื่องมาจากโรคระบาด ออกไปสร้างถิ่นฐานใหม่ หงสาวดี ประเทศเมียนมา ถิ่นฐานเดิมนี้ จึงว่างจากการครอบครองของชนชาวมอญหริภุญไชย คงถูกปกครอง และ อยู่อย่างกระจัดกระจายของชาวไต หรือ ไท ที่เคลื่อนย้ายลงในภายหลัง

          จากนั้น ได้มีการกล่าวถึงในบันทึกประวัติศาสตร์อีกครั้ง เมื่อ พระยามังราย ยกกองทัพจากเมือง เชียงแสน ขยายอาณาเขตลงมายึดครอง อดีตเมือง หริภุญไชย และถูกผนวกเข้าเป็นอาณาจักรลานนา เมื่อได้สร้าง เมืองเชียงใหม่ ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรลานนานับแต่นั้นมา



          อาณาจักรลานนา มีการติดต่อค้าขายกับจีนตอนใต้ เรียนรู้เทคนิคการผลิตเครื่องปั้น ดินเผาศิลาดล และ แนวคิดเงินก้อนของจีน จึงได้เอาอย่างประดิษฐ์ สร้างเงินตราใช้ในอาณาจักร ลักษณะเป็นเงินก้อน เรียกว่าเงินก้อนเจียง มีหน่วยเป็นตำลึง (น้ำหนักประมาณ 60 กรัม) เทียบเท่าน้ำหนักและค่าเท่าของจีน ผลิตจากโลหะเงิน มีตราประทับบนขาทั้งสองข้าง ตราชื่อเมืองที่ผลิตเป็นตัวอักขระฝักขาม รูปแบบเงินก้อนเจียงนี้ มีใช้แพร่หลายไปทั่วอาณาจักรข้างเคียง ไกลถึงอยุทธยาได้นำไปปรับใช้ พัฒนาให้มีรูปแบบง่ายต่อการผลิตจำนวนมาก กลายเป็นเงินก้อน พดด้วง

          อักขระตัวอักษรหนังสือไทเหนือ ฝักขาม (ลักษณะตัวโค้งบิดดั่งฝักมะขาม) ใช้มาแต่ดั้งเดิม นั้น ถูกยกเลิกโดยพระเจ้าติโลกราช เมื่อครั้งปรับเปลี่ยนหลักปฏิบัติศาสนาพุทธจากเดิมเป็นนิกายลังกาวงศ์ และจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฏก ณ วัดเจ็ดยอด บันทึกและจารคำภีร์พระไตรปิฏกด้วยอักขระตัวหนังสือไทยวน บันทึกและคัมภีร์อักขระฝักขามเดิมจึงถูกละทิ้งโดยปริยาย อย่างไรก็ดี คัมภีร์อักขระฝักขามดั้งเดิม ยังมีหลงเหลือให้เห็นในวัดวาอารามห่างไกลบางแห่งในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย และ ประเทศจีนตอนใต้ในยุนนาน ใกล้ตัวเรา ณ ที่นี่ .... มีให้เห็นและศึกษา
ตัวหนังสือ ประเทศลาวปัจจุบัน พัฒนาปรับปรุงมาจากตัวอักษรฝักขามเดิม

          ในยุคสมัยอาณาจักรหริภุญไชย มีตำนานเล่าขานกล่าวถึงกลุ่มชนเผ่าละว้า ชาวเหนือเรียก "ลัวะ" เป็นกลุ่มชนมีวัฒธรรม ตั้งเมืองชื่อ ระมิง หรือ เวียงพิงค์ บนขุนเขาริมฝั่งแม่น้ำระมิง (แม่น้ำปิงปัจจุบัน) ติดกับอาณาจักรหริภุญไชย ประมาณเขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่ชนเผ่าไต หรือ ไท เคลื่อนลงมายึดครอง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ยังหาข้อพิสูจน์หลักฐานทางโบราณคดีไม่ได้ คงเป็นเพียงตำนานและเรื่องเล่าขานเท่านั้น

          เมื่อปี พ.ศ. 2502 - 2504 ได้มีการรีบเร่งขุดค้นวัดต่างๆ ที่จะจมน้ำ โดยคณะของกรมศิลปากร บริเวณแอ่งที่ลุ่มที่จะถูกน้ำท่วมถึงในเขตอำเภอฮอด เพราะขณะนั้นได้เริ่มมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ที่บ้านยันฮี จังหวัดตาก หากสร้างเสร็จ การเก็บกักน้ำจะทำให้แอ่งเหล่านี้กลายเป็นทะเลสาบน้ำท่วมถึง ผลของการขุดค้นในครั้งนั้น พบโบราณวัตถุ สิ่งประดิษของใช้ย่อส่วน พระพุทธรูปบูชาองค์กระทัดรัด กรุหุ้มด้วยแผ่นทองคำและเงินจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นองค์เล็กๆ ขึ้นรูปจากการบุลาย ดุนลายแผ่นทองคำหรือเงินบางๆ สิ่งหนึ่งที่ขุดพบมีลักษณะต่างไปจากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ คือ พบพระแก้วแกะจากแร่ฟลูออไรท์ สีขาวบ้าง สีเทาบ้าง ทั้งขุ่นและใส จำนวนมาก ทั้งหมดล้วนเป็นศิลปะลานนารุ่นหลัง อายุไม่เกินสองสามร้อยปี ฝีมือหยาบ เข้าใจว่าน่าจะผลิต หรือ สร้างโดยช่างพื้นบ้าน สรุปโดยรวมไม่มีโบราณวัตถุใดมีอายุเก่าไปกว่านี้

          หลักฐานทางโบราณคดีของชนเผ่าละว้า มีให้พบเห็นได้แต่ในป่าลึกเขตอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตามเชิงเขาสูงมีร่องรอยวัฒนธรรมของชนเผ่าละว้า พบได้จากหลุมฝังศพโบราณตามทางลาดชันของหน้าผาสูง ฝังรวมกับ ของใช้ เครื่องประดับทำจากโลหะ เครื่องเคลือบดินเผาสมัยลานนา จากแหล่งเวียงกาหลง สันกำแพง ฯลฯ มีบ้างที่เป็นเครื่องเคลือบจากจีน สมัยหยวน สมัยหมิง

          สภาพพื้นที่ มีลักษณะเป็นชุมชนเล็กๆ ปลูกสร้างจากไม้ อยู่กันประปราย ไม่มีสิ่งบ่งบอกว่าเป็นเมือง ไม่มีซากสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุใดๆ ให้ประจักษ์ ไม่มีอักขระจารึกใดๆ ไร้อารยะธรรม สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่คงไม่ต่างไปจากวัฒนธรรมชาวป่า ชาวเขา นับถือผี ฯลฯ


          ในดินแดนตอนเหนือจาก สิบสองปันนา เรื่อยลงมาจนถึงภาคเหนือตอนบน หมู่ชนชาวไต หรือ ชาวไท ต่างอยู่กันเป็นชุมชนใหญ่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ตามถิ่นที่อยู่เดิมว่า ไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง ไทยวน ไทเมือง ไทดำ ไทพรวน ฯลฯ หมู่ชนเหล่านี้ มักจะอพยพเคลื่อนย้ายไปสมทบกับพวกพ้องเดียวกันในแหล่งอื่น จากการชักชวนหาแหล่งตั้งถิ่นฐานใหม่ หรือ เมื่อเกิดการสู้รบจากความขัดแย้ง การผนวกดินแดนระหว่างกัน ก็มักจะกวาดต้อนชุมชนแต่ละหมู่เหล่าเข้าไปรวมไว้เพื่อเป็นกำลังและแรงงานของฝ่ายตน ทำให้กลุ่มชนไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง ไทยวน และไท อื่นๆ ฯลฯ เหล่านี้ พบเห็นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เนื่องจากกลุ่มชนเหล่านี้ ต่างมีความผูกพันกับวิถีอาชีพ และ จารึตประเพณีของหมู่ตน จึงมักเรียกขานและตั้งชื่อหมู่บ้านของตนในที่แห่งใหม่ เหมือนชื่อถิ่นที่อยู่เดิมที่ได้จากมา ชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบล จึงมีชื่อซ้ำซ้อนให้เห็นกันอยู่ทั่วไปในหลายจังหวัดภาคเหนือและภาคอิสาน หมู่ชนเหล่านี้ที่พำนักอาศัยอยู่ในภาคเหนือ และ ภาคอิสานตอนบนของประเทศไทย จึงถูกเรียกโดยรวมว่า ไทยเหนือ ลาวเหนือ

          อย่างไรก็ดี จากภาพรวมทั้งหมดแยกออกได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ กลุ่ม คนเมือง หมายถึง ทุกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย กลุ่ม คนไต (ไตหลวง หรือ ไทใหญ่) หมายถึง กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในรัฐฉานของประเทศเมียนมา มี เมืองตองอู เป็นเมืองหลวงของฉานตะวันตก เมืองเชียงตุง เป็นเมืองหลวงของฉานตะวันออก รวมถึงกลุ่มชน พูดภาษาไต ที่พำนักอาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย และ กลุ่มพูดภาษาลาว คนลาว กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมถึงชาวลาวในประเทศลาวทั้งหมด

          ส่วนชนชาวเขาเผ่าต่างๆ อาทิ ละว้า (ลัวะ) เชื่อว่าเป็นชนเผ่าท้องถิ่นดั้งเดิมอยู่ก่อนใครอื่นในดินแดนแถบนี้ กะเหรี่ยง มีถิ่นที่อยู่แน่นอนเป็นอาณาจักรดั้งเดิมมาแต่โบราณตามทิวเขาถนนธงไชยด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย เป็นสายย่อยของชนเชื้อสายพม่า หลังจากที่ประเทศสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ร่วมกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศอังกฤษ เหล่าชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อย่างกระจัดกระจายตามแนวเขตชายแดนไทย ได้อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาในเขตชั้นใน ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเป็นหมู่บ้านกลุ่มย่อยๆ ตามป่าเขา ส่วน ชาวเขาเผ่าอื่นๆ อาทิ อาข่า ลาหู่ ลีซู นั้น ล้วนอพยพมาจากประเทศเมียนมา ได้เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยไม่เกิน 250 ปี ส่วนชนเผ่าที่เข้ามาหลังสุด คือ ม้ง ได้อพยพมาจากประเทศลาวและประเทศจีนตอนใต้ และชนเผ่า เย้า (เมี่ยน) อพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้เช่นกัน ทั้งสองชนเผ่านี้เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณร้อยกว่าปี

          กะเหรี่ยงดาราอัง (ปะหร่อง) และ กะเหรี่ยงคอยาว ล้วนมีถิ่นที่อยู่แต่ในประเทศเมียนมา ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่อาศัย หรือ หลบภัย ในราชอาณาจักรไทย ไม่นานมานี้ !

          การอพยพเข้ามาของชนเผ่าต่างๆ ล้วนหลบหนีภัยสงคราม หรือไม่ก็ถูกขับจากถิ่นที่อยู่เดิม เมื่อได้เข้ามาปักหลักสร้างถิ่นฐานในประเทศไทย จึงมีส่วนสร้างสีสันให้ถิ่นไทยเหนือมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ต่างอยู่รวมกันเป็นชุมชนเล็กๆ กระจัดกระจายไปทั่วตามป่าเขาและดอยสูง ดำรงชีพด้วยการทำเกษตร หาของป่า ส่วนใหญ่นับถือผี มีบ้างที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันทุกเผ่า คือ ความยึดมั่นถือมั่นในหลักปฏิบัติ จารีต ประเพณี พิธีกรรม และ รูปแบบของสีสันอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ของเครื่องแต่งกายเผ่าตน เผ่าใครเผ่ามัน จึงจำแนกแยกแยะได้จากอาภรณ์ที่สวมใส่ ประหนี่งเป็นเครื่องแบบแห่งเชื้อชาติ แสดงออกบอกให้รู้ถึงเผ่าพันธุ์


ภาพจาก Internet ละว้า (ลัวะ) ชนเผ่าดั้งเดิมอยู่อาศัยก่อนที่ชนเผ่าไต หรือ ไท เคลื่อนย้ายลงมาครอบครอง



ภาพจาก Internet บ้านเรือนของละว้า (ลัวะ) ไม่ต่างไปจากบ้านของชาวไต หรือ ไท ทั้งหลาย
บ้านไม้ไต้ถุนสูง กลางห้องยกพื้นเป็นเตาไฟ เบื้องบนแขวน หอม กระเทียม พริกแห้ง บวบ ข้าวโพด รมควันอ่อนๆ
เป็นวิธีการถนอมอาหาร ป้องกันมอดแมลง และ รักษาเมล็ดพันธ์ ไว้เพาะปลูกในฤดูถัดไป



ภาพจาก Internet หญิง ชนเผ่าละว้า (ลัวะ)



ภาพจาก Internet หญิง ชนเผ่าไตอาหม กลุ่มย่อยต่างๆ ในรัฐ อัสสัม มณีปูระ ตรีปูระ และ นากาแลนด์ ประเทศอินเดีย



ภาพจาก Internet ภาพจำลอง พิธีสู่ขอแต่งงาน ไตอาหม ต้องประกอบด้วยต้นกล้วย และผางไฟประทีป 100 ดวง



ภาพจาก Internet หนุ่มสาว ชนเผ่าไตอาหม ในรัฐ อัสสัม ประเทศอินเดีย



ภาพจาก Internet ชายชาตรี ไตอาหม ไตหลวง ไตใหญ่ ไม่ว่าไท หรือ ไตใดๆ ต้องพกดาปยาวประจำกาย
ตัวด้าม และ ฝักดาป เป็นตัวบอกให้รู้ ฐานะ และ ชนชั้น



ภาพจาก Internet หนุ่มสาว ชนเผ่าไตใหญ่ ไตหลวง ภาคเหนือประเทศไทย



ภาพจาก Internet หนุ่มสาว ชนเผ่าไตลื้อ ภาคเหนือประเทศไทย



ภาพจาก Internet: Credit www.matichon.co.th เด็กสาว ในชุดอาภรณ์ของชนเผ่าต่างๆ ภาคเหนือของประเทศไทย



ภาพจาก Internet ชาวเขา เป็นครอบครัวย่อย อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ บนดอยสูงใกล้แหล่งน้ำ



ภาพจาก Internet หญิงสาว ชนเผ่าไตอย่า จังหวัดเชียงราย



ภาพจาก Internet หญิงสาว ชนเผ่าไตอย่า สดใส สวยงาม



ภาพจาก Internet หญิงสาว ชนเผ่ากะเหรี่ยงดาราอัง (ปะหล่อง)



ภาพจาก Internet หญิง กะเหรี่ยงดาราอัง (ปะหล่อง) ในชุดชนเผ่า



ภาพจาก Internet ครอบครัวหญิง กะเหรี่ยงดาราอัง (ปะหล่อง) ในบ้านพักอาศัย



ภาพจาก Internet หญิง ชนเผ่าขะฉิ่น ในชุดชนเผ่า



ภาพจาก Internet หญิง กะเหรี่ยงคอยาว



ภาพจาก Internet หญิง อาข่า ในชุดชนเผ่า



ภาพจาก Internet: Credit Matador Network by Victoria Vorreiter หนุ่มสาว ชนเผ่าอาข่า ในชุดแต่งงาน



ภาพจาก Internet: Credit Matador Network by Victoria Vorreiter บนดอย มีลูกมากย่อมดีแน่ ลูกคือแรงงานในอนาคตของครอบครัว



ภาพจาก Internet: Credit Adventure Nam หากหญิงใดไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ จะมีปัญหา



ภาพจาก Internet ลูกสาวคนโต ต้องมีหน้าที่ดูแลน้องๆ



ภาพจาก Internet เด็กวัยใสทุกคน เรียนรู้สนุกสนาน เติบโตได้ตามวัย



ภาพจาก Internet ความสนุกสนานสมวัย มิได้มีเสมอไป เด็กบางคนต้องแบกภาระเกินวัยแต่เล็ก



ภาพจาก Internet เมื่อเติบใหญ่ ต้องมีส่วนรับผิดชอบ และ เป็นแรงงานของครอบครัว



ภาพจาก Internet ชาวกะเหรี่ยง ปลูกข้าวบนนาขั้นบันได อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่



ภาพจาก Internet การไถดะไถคราด ด้วยแรงงานควาย มีให้เห็นในชนบทห่างไกล



ภาพจาก Internet ข้าวไร่ และ ข้าวโพด คือ พืชหลักต้องปลูกเพื่อให้มีกิน



ภาพจาก Internet การปลูกข้าวไร่ เป็นวัฒนธรรมของทุกชนเผ่า



ภาพจาก Internet ทุกชนเผ่าปลูก และ บริโภคข้าวเจ้า ต่างจากชาวไตเหนือและชาวลาว ปลูกและบริโภคข้าวเหนียว



ภาพจาก Internet ข้าวโพด จะเก็บเกี่ยวต่อเมื่อฝักและต้นแห้งสนิท ผลทำอาหาร หมักสุรา เศษซากลำต้นและใบใช้จุดไฟในครัวเรือน



ภาพจาก Internet พืชผักอินทรีย์คุณภาพ ปลูกเพื่อส่งขาย ที่ไม่งามแจกแบ่งปันระหว่างครัวเรือน



ภาพจาก Internet หลักคิดของชนเผ่า มีน้อยต้องประหยัด มีมากเหลือใช้ต้องแบ่งปัน



ภาพจาก Internet: กินอยู่เรียบง่าย ฝาบ้านทำจากฟากไม้ไผ่ พื้นทำจากฟากไผ่ขัดแตะ หลังคามุงใบไม้แห้งจากต้นตึง ต้นสัก



ภาพจาก Internet: Credit www.northernthaitravel.com ชีวิตไม่เร่งรีบ อยู่กับธรรมชาติแสนร่มรื่น เย็นสบาย



ภาพจาก Internet: รายได้ เล็กๆ น้อยๆ จากการขายสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน



ภาพจาก Internet เด็กหญิง ชนเผ่าอาข่าในวัยเรียน บนดอยแม่สะลอง



ภาพจาก Internet ปุยฝ้าย เส้นใยกัญชง และ ไหมพรม เป็นวัตถุดิบใช้ถักทอเสื้อผ้าอาภรณ์



ภาพจาก Internet หญิงชรา ชาวไทดำกำลังกรอเส้นด้ายจากปุยฝ้าย



ภาพจาก Internet การทอผ้า อยู่ในจิตวิญญาณของทุกชนเผ่า
ใต้ถุนบ้านแสนร่มรื่น หญิงสาวเผ่าแลนแตนประเทศลาว ผูกกี่เอวทอผ้าจากเสาเรือน แสนง่ายดาย



ภาพจาก Internet: Credit canvas-of-light.com กี่เอว เครื่องมือใช้ในการทอผ้าของชาวเขา และ ชนเผ่าทั้งหลาย



ภาพจาก Internet การทอผ้าด้วยกี่เอวไม่ซับซ้อน หาที่ว่างได้ ก็ โยงยึดกับเสาบ้าน ผูกรั้งให้ตึงด้วยบั้นเอว



ภาพจาก Internet หญิงสาว ชาวลาว กำลังทอผ้าด้วยกี่ยันด้วยเท้า



ภาพจาก Internet กลุ่มทอผ้าอุตสาหกรรมพื้นบ้าน จะใช้กี่กระตุก เพราะได้ผ้าหน้ากว้าง



ภาพจาก Internet ผ้าทอจากกี่เอว หน้าแคบ แต่ลวดลายโดดเด่นเฉพาะตัว



ภาพจาก Internet: Credit Amazing Thailand www.bookthailandnow.com แม่บ้าน ต้องรับผิดชอบเสื้อผ้าอาภรณ์ของครอบครัว



ภาพจาก Internet เสื้อผ้าใหม่จะได้สวมใส่ ก็แต่งานบุญ งานมงคล และ โอกาสพิเศษเท่านั้น



ภาพจาก Internet: credit Cat Motors ช้างเป็นทั้งสัตว์เลี้ยง สินทรัพย์ และส่วนหนึ่งของครอบครัวชาวกะเหรี่ยง



ภาพจาก Internet ช้างรวมกลุ่มอยู่กันเป็นปางช้าง ในป่าใช้ชักลากซุง ในเมืองใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยว



ภาพจาก Internet บนดอยไม่มีธนาคาร จำต้องเก็บออมด้วยการเลี้ยงหมู ดั่งเป็นกระปุกออมสินของครอบครัว



ภาพจาก Internet หญิงสาวต้องเลี้ยงหมู ขุนให้อ้วน เพื่อจะได้ใช้ปรุงอาหารเลี้ยงแขกในวันแต่งงาน



ภาพจาก Internet บนดอยสูงอากาศเย็นจัด สัตว์ใหญ่เลี้ยงได้ ก็ แต่หมู และ ควายเท่านั้น



ภาพจาก Internet แม้นอากาศหนาวเหน็บ ขอแต่กลางวันมีแสงแดด กลางคืนมีฟืนไฟ พวกเราอยู่ได้



ภาพจาก Internet วิถีชีวิตไม่ซับซ้อน กลางวันอยู่ในไร่ ในสวน ตกเย็นหุงหาอาหาร ค่ำก็หลับนอน



ภาพจาก Internet ในลำห้วยบนดอยสูง ปลา ตัวไม่โตไปกว่านี้



ภาพจาก Internet เครื่องครัวแบบง่ายๆ คือ ปล้องไม้ไผ่ ใบตอง ใบไม้ หาได้ใกล้ตัว



ภาพจาก Internet: Credit thainews.psd.go.th บนดอยไม่มีไฟฟ้า ไม่มีโรงสี ต้องตำข้าว กินข้าวซ้อมมือ ทุกมื้อ ทุกวัน



ภาพจาก Internet: ไม้ฟืนมีความสำคัญมาก หากไม่มีข้าวไม่มีฟืน พวกเราอยู่ไม่ได้



ภาพจาก Internet ไม้ฟืน เก็บจากไม้ขอนนอนไพร ต้นไม้ที่ล้มแห้งตายเอง



ภาพจาก Internet คนอยู่กับป่าหากใช้ไม้ฟืนเกินความจำเป็น อาจกลายเป็นผู้ทำลายป่า



ภาพจาก Internet: Credit karenhilltribes.org.uk ทุกชนเผ่า จะตั้งครัวหุงปรุงอาหารที่มุมหนึ่งของเรือนพักอาศัย



ภาพจาก Internet: Credit สตารมีเดย Sign and Photos. หญิงสาว ในชุดเครื่องแต่งกายชนเผ่าเย้า



ภาพจาก Internet หนุ่มและสาว ในชุดแต่งงานชนเผ่าเย้า



ภาพจาก Internet กลุ่มหนุ่มสาว ชนเผ่าเย้า



ภาพจาก Internet: Credit www.stolaf.edu/people/learning/interim98.htm กินอยู่อย่างเรียบง่าย สำรวม ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มั่งคั่ง ไม่แร้นแค้น



ภาพจาก Internet ชาวเย้า มีความสามารถในการเย็บปักถักร้อยเป็นเลิศ



ภาพจาก Internet หญิงชรา ชาวเย้า ประเทศเวียดนาม (Red Dao)



ภาพจาก Internet หญิงชาวเขาทุกคน ต้องเรียนรู้งานเย็บปักถักร้อยแต่เยาว์วัย



ภาพจาก Internet ต้องเรียนรู้ หัดขีดเขียนลายปักผ้าประจำเผ่า



ภาพจาก Internet ทุกชนเผ่า มีรูปแบบลายปัก และ ลวดลายเฉพาะ รักษา ปฏิบัติสืบต่อจากรุ่น สู่รุ่น



ภาพจาก Internet จากฝีเข็มบรรจงปักด้วยเส้นไหม เส้นด้าย เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ



ภาพจาก Internet เป็นลวดลายต่อเนื่อง สวยงามมีเอกลักษณ์ จาก ความขยัน พากเพียร และ อดทน



ภาพจาก Internet แบ่งปันภายในเครือญาติ ที่เหลือใช้ จะขายเป็นรายได้เสริม



ภาพจาก Internet เครื่องดนตรีของชาวเขา เป็นเครื่องเป่าทำจากปล้องไม้ไผ่



ภาพจาก Internet ชาวม้ง กำลังเป่าแคนม้ง ในงานวัฒนธรรมชนเผ่า



ภาพจาก Internet แม้นห่างไกลความเจริญ ไม่หรูหรา แต่ ความสะดวกสบาย และ คุณภาพชีวิตไม่ด้อยกว่าใคร



ภาพจาก Internet คุณแม่ ชาวอาข่า กำลังจัดแต่งหมวกให้ลูกน้อย ก่อนเข้าโบสถ์ฟังเทศน์



ภาพจาก Internet: Credit Breakaway Backpacker เด็กหญิง ชนเผ่าม้ง จากดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่



ภาพจาก Internet: เด็กหญิง ชนเผ่าม้ง จากดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่



ภาพจาก Internet: Credit tieandtothailand.com กลุ่มเด็กหญิง ชนเผ่าม้ง บนดอยม่อนแจ่ม จังหวัดเชียงใหม่



ภาพจาก Internet หญิง ชนเผ่าลาหู่ จังหวัดเชียงใหม่



ภาพจาก Internet: เด็กหญิง ชนเผ่าลีซอ จังหวัดเชียงใหม่



ภาพจาก Internet: Credit costumeplanet.blogspot.com หญิงสาว ชนเผ่าลีซอ จังหวัดเชียงใหม่



ภาพจาก Internet ครอบครัว ชนเผ่าลีซอกำลังง่วนอยู่กับงานหัตถกรรม



ภาพจาก Internet ชนเผ่าลีซอ เป็นชนเผ่าที่มีร่างกายสูงระหงกว่าชนเผ่าอื่น



ภาพจาก Internet ความโดดเด่นของหญิง ชาวลีซอ คือ หมวกใบใหญ่ประดับภู่สีสด



ภาพจาก Internet หญิง ชนเผ่าลีซอสูงวัย ใส่ตุ้มหูกระบอกเงิน



ภาพจาก Internet: Credit รักษ์อาข่า http://pic.me/show147394522 หญิง ชนเผ่าอาข่าและเด็ก บนดอยสูง จังหวัดเชียงราย



ภาพจาก Internet หญิง ชนเผาอาข่า ในกระต๊อบบนดอยสูง จังหวัดเชียงราย



ภาพจาก Internet: Credit A.P. Soe เด็กหญิง ชนเผ่าอาข่า กำลังดับกระหายจากน้ำ บรรจุในกระบอกผลน้ำเต้าแห้ง



ภาพจาก Internet ต้นชา มีปลูกมาแต่โบราณ ขึ้นได้ดีในที่สูงอากาศเย็น ยอดอ่อนส่งขายได้ราคา



ภาพจาก Internet ชาวเหนือ ชาวไต ชนเผ่า ใช้ใบชาสดปรุงอาหาร หมักเป็นเมี่ยง หรือ ตากแห้ง ชงเป็นน้ำชาเมี่ยง



ภาพจาก Internet: Credit bluevoyage.com หญิง ชนเผ่าอาข่า กำลังตวงข้าวเปลือกลงกระสอบเพื่อเก็บใว้กิน



ภาพจาก Internet หญิง ชนเผ่าอาข่า กำลังตากเมล็ดกาแฟอาราบีก้า พืชเศรษฐกิจพื้นที่สูง



ภาพจาก Internet เอกลักษณ์หญิง ชนเผ่าอาข่า คือ ความสง่างามของเครื่องประดับหมวก



ภาพจาก Internet เครื่องประดับ บ่งบอกถึงความมั่งคั่งของผู้สวมใส่



ภาพจาก Internet ลายปักบนอาภรณ์ บ่งบอกถึง คุณภาพ ฝีมือ และ รสนิยม ของผู้สวมใส่



ภาพจาก Internet หญิงสาว ในชุดเครื่องแต่งกายชนเผ่าม้ง



ภาพจาก Internet: Credit newsletter.detaphilambda.org หญิง ในชุดเครื่องแต่งกายชนเผ่าม้งหลากสี



ภาพจาก Internet หญิง Flower Hmong ชาวม้งเผ่าย่อย ประเทศเวียดนาม



ภาพจาก Internet ผู้อาวุโส จะเป็นแก่บ้าน หมอบ้าน ผู้นำกำกับดูแลจารีตประเพณี



ภาพจาก Internet กว่าจะได้ เป็นแก่ เป็นเฒ่า เป็นย่า เป็นยาย สุขภาพดีได้ ต้องรู้จักใช้พืชทางยา



ภาพจาก Internet สิ่งเสพติดจากพืชต้องห้าม ไม่ทำลายคุณภาพชีวิต หากรู้จักใช้ประโยชน์ทางยา



ภาพจาก Internet ยาพื้นบ้าน ยางฝิ่นดิบละลายน้ำ ดื่มแก้ปวดท้อง สูบใบยาผ่านกระบอกน้ำแก้เครียด



ภาพจาก Internet ฝิ่น และ กัญชา เป็นของต้องห้าม สิ่งเสพติดผิดกฏหมาย
แต่เป็นยาแก้ ลมชัก ช่วยเจริญอาหาร หลับสบาย ความจำดี อารมณ์ดี ฯลฯ



ภาพจาก Internet พวกเราเกิดบนดอย อยู่ทำมาหากินบนดอย แก่เฒ่าบนดอย ขอตายบนดอยบ้านเรา



ภาพจาก Internet ในอดีต ชาวม้งบางกลุ่มเคยขัดแย้งกับทางการ จากความหลงผิด ฝักไฝ่ ปลุกระดม ถึงขั้นสู้รบล้มตาย



ภาพจาก Internet ผลลัพธ์ คือ ความสูญเสีย ทุกข์ยากแสนสาหัส พลัดพรากจากถิ่นที่อยู่



ภาพจาก Internet: Credit Gomew co.Ltd Mr.Nateewa Thakham สีสันแห่งอาภรณ์ ลวดลาย รูปแบบ คือ เอกลักษณ์ ตัวตน ชนเผ่า



ภาพจาก Internet: นักเรียนชนบท บนพื้นที่สูง อยู่เรียนรวมกัน ไม่แบ่ง แยกเผ่า แยกชาติพันธุ์
มักพบเห็น เด็กนุ่งห่มเสื้อผ้าคละกัน เช่น เด็กหญิงไตลื้อนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อชาวเขา



ภาพจาก Internet: ผู้อาวุโสบนพื้นที่สูง ยึดมั่นในจารีตประเภณี ดูได้จากการแต่งกาย การกินอยู่



ภาพจาก Internet: ชาวไตลื้อ จะให้ความสำคัญการแต่งกายชุดพื้นเมือง ในงานพิธีกรรมต่างๆ



ภาพจาก Internet. เด็กหญิงไตลื้อ



ภาพจาก Internet: Credit The Lady II. หญิงสาว ในชุดไตลื้อ



ภาพจาก Internet: Credit FACEBOOK แอดมินคำ หญิงสาว ไตลื้อ สิบสองปันนา แต่งชุดไตลื้อ และ เครื่องประดับจากประเทศไทย



ภาพจาก Internet: Credit Postjung ชุดแต่งกายสตรี และ เด็กชาวไตลื้อ ประเทศไทย



ภาพจาก Internet: Credit Postjung ชุดแต่งกายเด็กหญิง ชาวไตลื้อ ประเทศไทย



ภาพจาก Internet ชาวไตลื้อ บนผืนนาของตน ที่ภาคเหนือ ประเทศไทย



ภาพจาก Internet หญิงสาว ในชุดไตลื้อ เตรียมดอกบัว เพื่อถวายวัด



ภาพจาก Internet: Credit www.phayao.go.th ขบวนแห่เครื่องไทยทาน ของชาวไตลื้อ นำขบวนด้วยทิวธง ตุงมงคลแบบต่างๆ



ภาพจาก Internet credit:www.toochonlove.com อาภรณ์สีสันต์สดใสสตรี ชาวไต พบเห็นได้ในงานประเพณี เทศกาลงานบุญ



ภาพจาก Internet หญิงสาว ชาวไต สิบสองปันนา คุนหมิง ประเทศจีน



ภาพจาก Internet หญิงสาว ชาวไต สิบสองปันนา คุนหมิง ประเทศจีน กำลังไต่สะพานไม้ไผ่ข้ามลำห้วย



ภาพจาก Internet บ้านชาวไต สิบสองปันนา คุนหมิง ประเทศจีน



ภาพจาก Internet: หญิงสาว ในชุดไตดำ



ภาพจาก Internet: credit พลับหน้าทับ Photography หญิงสาว ในชุดไตดำ ประเทศลาว



ภาพจาก Internet หญิงชนบท ชาวไตดำ ประเทศลาว



ภาพจาก Internet แม่ค้า ชาวไตดำ ในตลาดแลง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว



ภาพจาก Internet หญิง ชาวไตดำ ประเทศเวียดนาม



ภาพจาก Internet หญิงสาว ชาวไตดำ ประเทศเวียดนาม



ภาพจาก Internet หญิง ชาวไตลู (ไทลื้อ) ประเทศลาว



ภาพจาก Internet หญิง ชาวไตลู (ไทลื้อ) ประเทศเวียดนาม



ภาพจาก Internet หญิง ชาวไตเมือง (ไทเวียง) ประเทศเวียดนาม



ภาพจาก Internet เอกลักษณ์ของหญิงไตเหนือไตอิสาน และ ที่อื่นใด ล้วนนุ่งผ้าซิ่น



ภาพจาก Internet ในท้องถิ่นห่างไกล ชาวไท และ ชาวไต ทั้งหลายอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยาย ในบริเวณบ้านเดียวกัน



ภาพจาก Internet ชีวิตความเป็นอยู่ แสนเรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟย



ภาพจาก Internet พิธีกรรมแต่งงาน ของชาวไต ชาวไท และ ชาวลาว มีรูปแบบไม่แตกต่างกัน



ภาพจาก Internet: Credit sirojsfiles.wordpress.com เด็กๆ ต้องเรียน และ อยู่อย่างเรียบง่าย ทั้งๆ ที่วิชาการชักนำให้คิดเตลิดไปไกล ...



ภาพจาก Internet: Credit Adrian Baker ประสาธรรมชาติ ... เด็กหญิงคนนี้มีไก่แจ้ตัวน้อยเป็นเพื่อนเล่น



ภาพจาก Internet ธรรมชาติ และ สภาพแวดล้อม หล่อหลอมให้เด็กทุกคนเข้มแข็ง



ภาพจาก Internet เด็กๆ ห่างไกลแถวชายขอบจำนวนไม่น้อย ด้อยพัฒนา ไร้การศึกษา



ภาพจาก Internet ลูกผู้หญิงคนโตต้องดูแลน้องๆ เมื่อโตขึ้นจะเป็นผู้ครองเรือน
ส่วน เหล่าพี่น้องผู้ชายทั้งหลาย หากแต่งงาน ต้องย้ายออกจากเรือน



ภาพจาก Internet วัฒนธรรมไทเหนือ ลาว และ รัฐอัสสัม รัฐมนีปูระ ประเทศอินเดีย สตรีเป็นใหญ่ในเรือน
การเงิน การค้า ล้วนเป็นอำนาจ และ หน้าที่ ของแม่บ้าน



ภาพจาก Internet ตลาดถนนคนเดินยามค่ำคืน อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน



ภาพจาก Internet สองแม่อุ้ย ในชุดนุ่งห่มปรกติ เสื้อม่อฮ่อม และ ซิ่นผ้าฝ้ายตีนจก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่


          พื้นที่ในจังหวัดแม่ฮองสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง ตาก ตลอดจนบางส่วนในจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ และ กำแพงเพชร ล้วนเป็นหลักแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวไทเหนือ ประชากรในท้องถิ่นเหล่านี้ พูดภาษาไทเหนือ อาหารการกิน ประเพณี หลักปฏิบัติทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ล้วนยึดถือสืบต่อเนื่องกันมาช้านาน เป็นที่กล่าวขานว่า ถิ่นไทยเหนือ ประเพณีที่โดดเด่น และ มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ ประเพณี ปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่มาแต่โบราณกาล ในขณะเดียวกัน ชาวไตลื้อ เมืองต้าลี่ ยุนนาน ประเทศจีน ถือเป็นวันนิพพานของพระพุทธเจ้า จากความเชื่อของ ศาสนาพุทธ นิกายมหายาน จากทิเบต วันที่ 7 เมษายน ครึกครื้นรื่นเริง ฉลองคล้ายวันประสูติของพระพุทธเจ้า ส่วนวันที่ 15 เมษายน จัดพิธีธรรมทางศาสนา คล้ายวันปรินิพพานฯ

          เนื่องจากเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ทุกบ้านจึงมีเวลาดูแลตัวเอง ซ่อมแซมบ้านช่องห้องหอ มีเวลาคิดถึงวงศาคณาญาติ ถือเป็น วันรวมญาติ ใคร ผู้ใด อยู่แห่งหนตำบลใด ถึงจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน จะต้องกลับบ้านเพื่อไหว้บรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเรือน ดำหัวผู้อาวุโสและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ซื้อหาเสื้อผ้าใหม่เพื่อมอบให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ ทำความสะอาด บ้านเรือน วัดวาอาราม สรงน้ำพระด้วยน้ำขะมิ่นส้มป่อย จากนั้นชวนกันเล่นสาดน้ำทั้งหญิงและชาย ไม่ว่าผู้ใหญ่และเด็ก เพื่อสร้างความสามัคคี และ ความผูกพันภายในชุมชน


ภาพจาก Internet: Credit Amazing Thailand e-Magazine Los Angeles ปี๋ใหม่เมือง สงกรานต์เมืองเหนือ



ภาพจาก Internet หนุ่มสาว ชื่นชอบ ยินดี ปี๋ใหม่เมือง



ภาพจาก Internet ปี๋ใหม่เมือง ปักตุงที่วัด เพื่อสื่อขอพร บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ


          ก่อนเข้าพรรษา บ้านใดที่มีเด็กชายอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องบวชเรียน ชาวไต และ ชาวไทเหนือ จะไม่รีรอ พ่อแม่จะทุ่มเทยอมใช้จ่ายเพื่อการนี้ เพราะเชื่อว่าได้บุญมาก ยิ่งเป็นเด็กเล็กบวชเณร จะให้ความสำคัญมากกว่าการบวชพระ เพราะเด็กมีความบริสุทธิ์มากกว่าผู้ใหญ่ พิธีกรรมจึงมีสีสัน สนุกสนาน เอิกเกริก ครึกครื้น การบวชของชาวไตเรียกว่า ปอยส่างลอง ส่วนชาวไทเหนือเรียกว่า บวชลูกแก้ว

          ฤดูนี้เป็นฤดูฝน ฤดูทำนา ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าหญิงหรือชายจะง่วนอยู่ในเรือกสวนไร่นา ปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ทั่วทุกหนแห่งจึงเขียวขจี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ด้วยระบบลำเหมืองจากฝายน้ำล้น ซึ่งเป็นระบบชลประทานพื้นบ้าน มีมาแต่ในอดีต พระเจ้ามังรายกษัตริย์แห่งลานนา ได้กำหนดเป็นกฏหมายบัญญัติไว้ในมังรายศาสตร์ แม้นเป็นระบบชลประทานเก่าแก่คร่ำครึโบราณ ก็ยังเหมาะสมเข้ากันได้ดีกับเกษตรกรรมสมัยใหม่ ทุกวันนี้ เป็นแบบอย่างให้พื้นที่ในภูมิภาคอื่นๆ นำไปปรับใช้เพื่อรักษาพัฒนาระบบนิเวศน์ อนุรักษ์พื้นที่ป่า และ พื้นที่เกษตรกรรม เพื่อก่อให้เกิดพื้นที่ชุ่มน้ำ จากฝายขนาดย่อมสำหรับลำห้วย ลำธาร ลำน้ำขนาดเล็ก ที่ชาวไทยภาคกลางเรียกว่า ฝายทดน้ำ ฝายแม้ว หรือ ฝายชลอน้ำ ฝายมีชีวิต เป็นต้น


ภาพจาก Internet: วัด คือ ศูนย์รวม จิตวิญญาณ ศิลปะ วัฒนธรรม ของชุมชน



ภาพจาก Internet: Allen's World งานปอยส่างลอง งานบวชลูกแก้ว ของชาวไต และ ชาวไทเหนือ



ภาพจาก Internet ระหว่างพิธีเฉลิมฉลองก่อนบรรพชา ส่างลอง หรือ ลูกแก้ว ฝ่าเท้าต้องไม่แตะพื้นดิน



ภาพจาก Internet ขบวนแห่เครื่องไทยทาน ของชาวไต



ภาพจาก Internet การแสดงฟ้อนโต ของชาวไต



ภาพจาก Internet การแสดงฟ้อนนกกิงกาลา ของชาวไต



ภาพจาก Internet เหล่าเณรน้อย หน้าบรรไดทางขึ้นวัดกองมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน



ภาพจาก Internet วัดชาวไตในชนบท สังเกตได้จากอาคาร มีมณฑปยอดแหลมซ้อนกันหลายชั้น ประดับสังกะสีฉลุลาย



ภาพจาก Internet พระพุทธรูปชาวไตในที่ห่างไกล แม้นจะอ่อนพุทธศิลป์ พระพักตร์ต้องอิ่มเอิบสดใส



ภาพจาก Internet สะหล่า (ช่าง) ชาวไต กำลังรวบรวมแผ่นสังกะสีฉลุ เพื่อนำไปประดับหลังคาอาคารของวัด



ภาพจาก Internet งานฉลุแผ่นสังกะสี งานศิลป์พื้นบ้าน เอกลักษณ์เฉพาะของชาวไต ตอกสะกัดด้วยมือ



ภาพจาก Internet วัฒนธรรมปลูกข้าวในเอเชีย ล้วนมีต้นกำเนิดจากชนเผ่าไตในยุนนาน



ภาพจาก Internet: Credit Kim Kavin ชาวนากับแปลงนาที่ตนได้ทุ่มเทเพื่อปลูกข้าวเหนียวไว้กิน



ภาพจาก Internet ข้าวควบ ข้าวเกรียบย่างไฟของชาวเหนือ ทำจากข้าวเหนียว



ภาพจาก Internet เกวียนเทียมโค พาหนะล้อเลื่อนในภาคเกษตรกรรมของชาวไต และ ไทเหนือ



ภาพจาก Internet ขัวแตะ สะพานลำลองผูกจากลำไม้ไผ่ หากน้ำหลากจะเสียหาย ถูกน้ำพัดพาไป
เมื่อน้ำลด ชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันหาลำไม้ไผ่มาผูกทำใหม่ เป็นเช่นนี้เสมอไป


          เมื่อออกพรรษาสิ้นหน้านา เริ่มการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ชาวบ้านมีรายได้จากการที่ได้ลงทุนลงแรง หมดฝนอากาศเริ่มเย็น ย่างเข้าฤดูหนาว ใครทุนหนาฐานะดีก็เตรียมตัวทอดกฐิน ระดับชาวบ้านก็รวมตัวชวนกันทอดผ้าป่า ถึงเป็ง (คืนเพ็ญ) เดือนสิบสอง ประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง) ชาวไทยเหนือจะให้ความสำคัญรองจากประเพณีปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) ชาวบ้านต่างไม่รีรอจัดหาต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ทำซุ้มประตูป่า ประดับโคมไฟที่ประตูรั้ว หน้าบ้าน เรือนชาน ประตูทางเข้าวัด ทางเข้าหมู่บ้าน ระหว่างเวลากลางวันวัดวาอารามต่างปล่อยโคมลอยกระดาษลูกใหญ่ติดประทัด ส่วนในเวลากลางคืน ทุกบ้านจะจุดโคม ผางประทีป รอบเรือนชาน ทุกวัดจะปล่อยโคมไฟ จุดผางประทีปรอบอุโบสถ โบส วิหาร เรียงรายรอบกำแพง จุดพลุดอกไม้ไฟสว่างไสว ตอนหัวค่ำผู้สูงอายุคนแก่คนเฒ่า จะชวนคนหนุ่มคนสาวเข้าวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม จากนั้นชวนกันไปลอยกระทงที่ทำจากลำต้นกล้วย หรือ กาบกล้วย ลงในแม่น้ำ ลำธาร ใส่ดอกไม้ จุดธูปเทียน ตัดเล็บ ตัดปลายผม เศษสตางค์ ใส่ลงไปในกระทง เพื่อลอยทุกข์ลอยโศก สะเดาะเคราะห์ไปกับสายน้ำ บางแห่งในจังหวัดลำพูน ผู้คนจะแต่งกระทงขนาดใหญ่ใส่ข้าวของเครื่องใช้ ลงลอยในแม่น้ำ เรียกว่า ล่องสะเปา (ลอยเรือสำเภา) นัยว่าส่งไปให้บรรพบุรุษชาวมอญในอดีต ที่ได้อพยพ โยกย้ายถิ่นฐานออกจาก เมืองหริภุญไชย ในอดีตไปอยู่ต่างแดนในเมืองหงสาวดีประเทศเมียนมา

          ลอยกระทง สืบทอดจากประเภณีแสงสี และ สายน้ำของอินเดีย เนื่องจาก ศาสนาพุทธ และ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความสัมพันธ์ และ เกี่ยวข้องการบูชาด้วยแสงประทีป และ น้ำ

          พิธีกรรม "ลอยกระทง เพื่อขอขมาแม่คงคาหรือสายน้ำ" เป็นของคนไทยภาคกลาง ส่วนชาวไต หรือ ไทเหนือ มีพิธีเกี่ยวกับ การขอขะมาลาโทษ ต่อสายน้ำ คือ พิธีเลี้ยง ผีฝาย ผีน้ำ กระทำในช่วงก่อนฤดูฝน ที่ฝั่งแม่น้ำ เหมืองฝาย เขื่อนใหญ่ ก่อนฤดูการทำนา


ภาพจาก Internet บ้านเรือนไม้สัก ที่อยู่อาศัยของชาวไทเหนือ



ภาพจาก Internet: Credit www.globerrovers.com วิหารไม้สัก และ เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมของวัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่



ภาพจาก Internet ในวิหาร ไม่โอฬาร แต่ สงบ สง่า เอกลักษณ์ของลานนา



ภาพจาก Internet: Credit siamzone.com K.ถปรร ฟ้อนเล็บ หรือ ฟ้อนเงี้ยว นำขบวนทอดกฐิน ผ้าป่า งานบุญต่างๆ



ภาพจาก Internet: Credit facebook.com/rigo.junjao ชาวไต และ ไทเหนือ ทุกหมู่เหล่ามีศรัทธา และ ยึดมั่นในจารีตประเพณีของตน



ภาพจาก Internet ชาวไทเหนือ นำต้นเงินไปถวายวัดในหมู่บ้าน



ภาพจาก Internet: Credit Plearn Jai Nai Fun ยี่เป็ง (ลอยกระทง) พิธีกรรม เกี่ยวกับ ประทีป และ สายน้ำ



ภาพจาก Internet: Credit Amazing Thailand Archive ลอยกระทงสายในแม่น้ำปิง จังหวัดตาก



ภาพจาก Internet: Credit Wikipedia John Shedrick-Flkr: loi_krathong ครอบครัว กำลังลอยกระทงที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่


          ในสมัยก่อน เมื่อหมดหน้านาสิ้นฤดูฝน ชาวบ้านจะรวมตัวกันเป็นคณะใหญ่ เดินทางไกลรอนแรมเพื่อไปสักการะพระเจดีย์ที่ชาวไทย และ ชาวมอญ เรียกว่า พระธาตุมุเตา ชาวไทยเหนือเรียกว่า พระธาตุตะโก้ง ณ เมืองหงสาวดี ประเทศเมียนมา ปัจจุบันชาวมอญเรียกเมืองนี้ว่า Pegu หรือ พะโค ทางการเมียนมาเรียกว่า เมือง Bago พระธาตุมุเตาแห่งนี้ ชาวเมียนมาเรียกว่า มหาเจดีย์ ชะเวเมาดอ พะยา Shwemawdaw Paya ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่ที่สุด และ สูงที่สุดในประเทศเมียนมา ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหงสาวดี ในการเดินทางไปแต่ละครั้ง ชาวไทยเหนือทุกคนจะนำพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้สัก องค์เล็กขนาดโตไม่เกินฝ่ามือติดตัวไปด้วย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษในอดีต ที่ได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย ณ เมืองหงสาวดีแห่งนี้ และ มีอีกกลุ่มหนึ่งร่วมเดินทางไปด้วยเสมอ เพื่อรำลึกถึงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่ถูกกวาดต้อนไปเมื่อครั้ง พระเจ้าบุเรงนอง ยกกองทัพมายึดครองเมืองเชียงใหม่ และ หัวเมืองฝ่ายเหนือเมื่อ กว่า 400 ปี ปัจจุบัน ยังปรากฎหลักฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้สักเหล่านี้ จำนวนมากที่วัดพระธาตุมุเตา ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้เพื่อชนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าชาวไทเหนือในอดีตได้ให้ความเคารพ นับถือพระเจดีย์มุเตาแห่งนี้


ภาพจาก Internet พระธาตุมุเตา (ตะโก้ง) Shwemawdow Paya ประเทศเมียนมา


          เมื่อครั้งที่พระเจ้าบุเรงนองยึดครองแผ่นดินลานนา ได้ทรงแต่งตั้งให้ราชบุตรทรงพระนาม เม็งชานรธามังดุย เป็นอุปราชมาปกครองนครเชียงใหม่ กินอาณาเขตถึงเชียงตุง ได้ปกครองระหว่างปี พ.ศ. 2122 - 2150 เป็นเวลา 28 ปี ก็เสด็จทิวงคต จึงได้มีการก่อสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิ บริเวณที่เป็นป่าไผ่ และให้สร้างเป็นวัด ชื่อ วัดเวฬุวนาราม (วัดกู่เต้า)

          ตามคติของพม่าแต่โบราณ อัฐิของราชวงศ์ชั้นสูงจะถูกบรรจุในสถูปเจดีย์รูปทรงบาตรคว่ำเรียงซ้อนกันหลายๆ ชั้นจากฐานลดหลั่นขึ้นไป แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ตัวสถูปเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสูงย่อเก็จ ปลายยอดจะเป็นฉัตรหลายชั้นแบบเจดีย์ศิลปะมอญ โดยที่ทรงดำรงตำแหน่งอุปราช สถูปเจดีย์แห่งนี้จึงเป็นรูปทรงบาตรคว่ำ 5 ชั้น ซึ่งสถูปเจดีย์รูปทรงบาตรคว่ำนี้ มีให้เห็นในประเทศเมียนมาหลายแห่ง ที่กรุงย่างกุ้งก็มีให้เห็นสถูปเจดีย์รูปทรงบาตรคว่ำ 3 ชั้น อยู่ในวัดเล็กๆ แห่งหนี่ง รูปลักษณ์ แบบ และ โครงสร้างไม่ต่างไปจากสถูปเจดีย์วัดกู่เต้า จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำนวนชั้นของรูปทรงบาตรคว่ำ เป็นตัวบ่งบอกให้รู้ถึงลำดับชั้นของฐานันดร

          เหตุที่ชาวเหนือเรียกชื่อว่า วัดกู่เต้า คือ กู่ = เจดีย์ที่บรรจุอัฐิ ส่วนคำว่า เต้า มาจากคำวา มะเต้า = ผลแตงโม โดยรวมคือ เจดีย์บรรจุอัฐิรูปทรงแตงโม

          วัดเวฬุวนารามแห่งนี้ถือเป็นวัดพม่าแห่งแรก และ เป็นวัดพม่าแท้ที่สร้างโดยราชสำนักพม่า มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะพุกาม พระเจ้าระแข่งหลวง ปางมารวิชัยทรงเครื่องกษัตริย์ สง่างาม และ เป็นวัดหลวง ศูนย์กลางศาสนาพุทธ เป็นที่พำนักของพระเถระชั้นผู้ใหญ่อาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่กำกับดูแลคณะสงฆ์ในลานนาทั้งหมด ส่วนวัดพม่าอื่นๆ ในภาคเหนือล้วนสร้างโดยพ่อค้า คหะบดีชาวพม่า และ ชาวไทใหญ่ ประดิษฐานพระประธานก่อด้วยอิฐสอปูนเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นมา สถาปัตยกรรมในภาคเหนือถูกผสมผสานศิลปะ และ วัฒนธรรมพม่า เช่น จีวรสงฆ์ และ เณร ใช้สีกลัก ประเพณีสงกรานต์ บวชลูกแก้ว และอื่นๆ อีกมาก


ภาพจาก Internet เจดีย์ วัดเวฬุวนาราม (วัดกู่เต้า) และพระพุทธรูปพระเจ้าระแข่งหลวง จังหวัดเชียงใหม่



ลานนาภายใต้การปกครองของพม่า เงินเจียง มีรูปแบบเปลี่ยนไปเป็น เงินฮาง เรียบง่ายดั่งเงินแท่ง
เงินฮาง ในภาพนี้ ประทับชื่อเมือง เชียงแสน แสน



ภาพจาก Internet พระสิงห์ พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่



ภาพจาก Internet: Credit WIKIPEDIA. พระพุทธรูปบูชาในบ้านชาวไต และ ไทเหนือ ของแท้ดั้งเดิม เป็นศิลปะพื้นบ้าน ปางมารวิชัย แบบ แสนหวี สีป้อ
ใบหูกว้างยาว ดั่งกลีบบัว พระเกตุสูงชะลูด ลำตัวยืดยาว นิ้วยาว แกะจากไม้ ทาลักแดง ปิดทอง


          การละเล่นและการแสดง มักจะเป็นการฟ้อนที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา และ พิธีกรรมต่างๆ ส่วนการรื่นรมย์ มักเป็นการเล่นดนตรีพื้นบ้าน ประเภท ดีด สี ตี เป่า มีท่วงทำนองอ่อนโยนตามสภาพของถิ่นที่อยู่ ซึ่งแวดล้อมด้วยธรรมชาติของขุนเขาป่าไม้ อ่อนไหวนิ่มนวลไปตามแบบการไหลของสายน้ำ หรือ เอื้อนเอ่ยเหมือนสายลมพริ้วไหว ไม่รีบร้อน ตามวิสัย และ วิถีของสังคมเกษตร เครื่องดนตรีล้วนผลิตจากวัสดุใกล้ตัว ส่วนใหญ่จะทำจากไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง กะลามะพร้าว ยกเว้น ฉาบ ฆ้อง ที่ทำจากโลหะ การละเล่นส่วนใหญ่จะบรรเลงโดยผู้ชาย กล่าวคือ เมื่อเสร็จงานหลังอาหารมื้อเย็น มักนิยมนำไปเล่นตอนหัวค่ำเพื่อเกี้ยวพาราสี ใต้ถุนบ้านหญิงสาว มักเป็นลานกว้าง สำหรับทำงานด้านหัตถกรรม ทอผ้า จักสาน ฯลฯ หรือไม่ก็ตั้งวงบรรเลงเป็นกลุ่มเล็กๆ เรียกว่า วง สะล้อ ซอซึง


ภาพจาก Internet: Credit Wat Khungtapao Local Music Museum, Uttaradit. การละเล่นดนตรีพื้นเมือง ไทเหนือ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์



ภาพจาก Internet ขบวนแห่ กลองปู่จา ชาวไตลื้อ



ภาพจาก Internet YouTube: Credit นายยุทธภูมิ นามวงศ์ การละเล่นตี กลองปู่จา จังหวัดพะเยา



ภาพจาก Internet: Credit WIKIPEDIA นักดนตรีพื้นบ้านกำลังดีดซึงคู่กาย เครื่องดนตรีอัตลักษณ์ของคนไทเหนือ


          การละเล่นยอดนิยมของเด็ก และ ผู้ใหญ่ อีกสิ่งหนึ่งของชาวเหนือ คือ กีฬา ชนกว่าง กระทำกันในช่วง เดือนเข้าพรรษา เท่านั้น กว่าง หรือ แมงคาม เป็นแมลงปีกแข็ง ลำตัวขนาด 2 - 6 เซ็นติเมตร ตัวผู้มีเขายาวโง้งเข้าหากันสำหรับหนีบรัด ตัวเมียไม่มีเขา กินยอดอ่อนพืช หน่อไม้ กล้วยสุก ผลไม้ และ ต้นอ้อย ช่วงเดือนพฤศจิกายน ตัวผู้จะตายหลังได้ผสมพันธ์ ส่วนตัวเมียเมื่อได้ออกไข่ในดินก็จะตายข้างๆ เนินดินที่ได้ออกไข่ไว้ จากนั้นไข่จะฟักเป็นตัวหนอนหากินในดิน เมื่อโตได้ที่จะเข้าดักแด้ แล้วออกจากดักแด้เป็นตัวเต็มวัยขึ้นจากดิน รวมเวลาที่อยู่ในดินประมาณ 8 เดือน เมื่อขึ้นจากดินไม่ว่ากว่างตัวผู้หรือตัวเมียจะมุ่งออกหาอาหาร และ ผสมพันธ์ โดยรวม จะมีอายุอยู่ได้ไม่เกินเดือนพฤศจิกายน

          เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน คือ เดือนสิงหาคม ถึง เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเดือนเข้าพรรษา ชาวบ้านจะงดเว้นกีฬาทุกชนิดที่ทรมาณสัตว์ เช่น ชนไก่ กัดปลา แต่มีข้อยกเว้น ชนกว่าง เพราะแมลงกว่างจะมีก็เฉพาะในฤดูเข้าพรรษาเท่านั้น และ ด้วยธรรมชาติของแมลงกว่าง ตัวผู้จะเข้าชนกันด้วยการใช้เขาโง้งเข้าหนีบกันเพื่อแย่งผสมพันธุ์กับตัวเมียซึ่งไม่มีเขา การต่อสู้ไม่ถึงตาย ตัวผู้ที่ด้อยกว่า หรือ แพ้ มักจะหนีคู่ต่อสู้ ตัวผู้ที่ชนแพ้ จะถูกปล่อยให้เป็นอิสระ ส่วนตัวผู้ที่ชนชนะ เมื่อถึงวันออกพรรษา เจ้าของจะหาตัวเมียมาให้ผสมพันธุ์ จากนั้นจะปล่อยทั้งตัวผู้ และ ตัวเมีย ให้เป็นอิสระ เพื่อไปไข่ขยายพันธุ์ต่อไป


ภาพจาก Internet: Credit ibtimes.com การเล่นชนกว่าง กีฬายอดนิยมของชาวเหนือในช่วงฤดูเข้าพรรษา


          อาหารการกินจะกระเดียดไปทางลาว รส เผ็ด เค็ม เปรี้ยว และ พม่า รส เหมือนลาว แต่ค่อนข้างมัน (น้ำมันพืช)

          ชาวเหนือทานข้าวเหนียวแบบลาว ส่วนชาวไต ไตใหญ่ ส่วนใหญ่จะทานข้าวเจ้าแบบพม่า อาหารโดยรวมค่อนไปทางผักพื้นบ้าน ผัด ต้ม ยำ หากจะแกงก็ไม่ใส่กระทิ เนื้อสัตว์ก็พอมีบ้าง เมื่อก่อนนี้ หากจะฆ่าหมู หรือ ล้มวัว ควาย จะต้องถามละแวกบ้าน ถ้าได้จำนวนผู้ที่ต้องการเนื้อสัตว์พอที่จะฆ่า จึงจะทำการฆ่า สุดยอดอาหารเนื้อสัตว์ก็คือ ลาบควาย โอกาสที่จะทำกินต้องพิเศษจริงๆ ส่วนอาหารประเภทปลาไม่ค่อยนิยมนัก หากจัดงานเลี้ยงด้วยอาหารที่ทำจากปลาสด จะต้องทำแต่น้อย มิเช่นนั้นจะเหลือ นิยมใช้ปลาแห้งปรุงรส ต้มแกง น้ำพริก ส่วนอาหารที่ทำจากเนื้อเป็ดนั้น ถือเป็นข้อห้าม เพราะมีคติความเชื่อ หากทานเนื้อเป็ดแล้วจะโกรธเคืองกัน อาหารที่มาจากไต หรือ ไตใหญ่ ได้แก่ น้ำพริกอ่อง ขนมจีนน้ำเงี้ยว รสชาติที่ถูกต้อง ต้องไม่ใส่กระปิ น้ำปลา แต่จะใส่ ถั่วเน่าแข็บ ถั่วเน่าแผ่น (ทำจากถั่วเหลือง) ผสมเกลือ และ อีกอาหารยอดนิยม แกงฮินเล จะไม่ใช้ผงกะหรี่ แต่จะใช้ ผงมาสาลา (ผงฮินเล) อาหารใส่ผงกะหรี่ มีแต่ข้าวซอย ซึ่งเป็นบะหมี่แกงของชาวมุสลิม จากยุนนาน ประเทศจีนตอนใต้ เข้ามากับการอพยพลี้ภัยของ ครอบครัวทหารกองพล 93 ทัพทหารจีนคณะชาติ ของเจียงไคเช็ค (ไต้หวัน) ซึ่งถูกกดดันจากกองทัพแดงของเหมาเซตุง ถอยร่นเข้ามาลี้ภัยในพม่า และ ชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงราย ชนเหล่านี้ถูกเรียกรวมๆ ว่า จีนฮ่อ มากันเป็นครอบครัว นับถือศาสนาอิสลาม ข้าวซอยรสดั้งเดิมจึงเป็นข้าวซอย เนื้อวัว หรือ เนื้อไก่ ไม่ใส่กระทิ ส่วนลาบเมืองเหนือ ต้องใช้เกลือ ห้ามใส่น้ำปลา ปรุงรสด้วย พริกลาบ ผสม มะแขว่น หรือ ถ้าให้ออกรสจัดแบบเมืองแพร่ พริกลาบต้องมี ดีปลี ผสมเล็กน้อย เพิ่มความเผ็ดร้อน มะแขว่น เป็นสมุนไพรปรุงรสที่สำคัญ มีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอมเฉพาะตัว ใช้ดับคาวเนื้อสัตว์ และ ปรุงแต่งรสชาติของอาหารประเภทผัก เครื่องปรุงหลักเหล่านี้ เป็นตัวกำหนดรสอาหาร เอกลักษณ์เฉพาะตัวของอาหารเมืองเหนือ


ภาพจาก Internet: Credit Mark Wiens อาหารเหนือมื้อนี้ ข้าวเหนียว ยำจิ้นไก่ ลาบควาย แอ๊ปกุ้งฝอย น้ำพริกหนุ่ม เนื้อย่างจิ้นเกลือ



ภาพจาก Internet: Credit library.cmu.ac.th K.มณี พยอมยงค์ ขันโตก หรือ โตก สำรับอาหารของชาวเหนือ


          ในชนบท ทุกบ้านจะมีเมี่ยงไว้เป็นของกินยามว่าง ใช้ต้อนรับแขกเหรื่อญาติมิตรที่มาเยือนเรือนชาน โดย มีห่อเมี่ยงวางเคียงคู่กับโป้ยาขึ่น (กระป๋องบรรจุบุหรี่พื้นเมือง) แขกผู้มาเยือนจะแกะห่อเมี่ยงที่เจ้าบ้านจัดไว้ต้อนรับ อม หรือ เคี้ยว จากนั้น จึงจะพูดคุยสาระ

          ชาวเมืองเหนือนิยม อมเมี่ยงสูบบุหรี่หลังอาหาร ส่วนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ก็อมแต่เมี่ยง

          วิธีกินเมี่ยง คลี่ใบเมี่ยงใส่เกลือเม็ด อาจจะตามด้วยขิงสด ม้วนเป็นคำใช้อมยามพักจากงาน หลังอาหาร หรือ ก่อนออกไปทำงานนอกบ้าน เนื่องจากใบเมี่ยง คือ ใบชาพันธุ์อัสสัม มีสารคาเฟอีน ช่วยกระตุ้นให้ประสาทตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า สดชื่น ดั่งได้ดื่มน้ำชารสเข้มข้น

          นิยมมาก ไม่ว่า งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ หรือ งานฉลองใดๆ แม้แต่ ฟังธรรมเทศนาในวัด เจ้าบ้าน หรือ เจ้าภาพ จะจัดสำรับ จัดวางเมี่ยง ห่อด้วยใบตองสดขนาดพอคำ เรียกว่าเมี่ยงคำ มีสองชนิด คือ เมี่ยงหวาน และ เมี่ยงส้ม (เปรี้ยว) ไว้รับรองแขก ผู้ร่วมพิธี ฯลฯ


ภาพจาก Internet เมี่ยงใบชาหมัก ของขบเคี้ยวหลังอาหาร และ ยามว่าง ช่วยให้สดชื่น


          สมัยก่อน การค้าขายตามแนวชายแดนด้านตะวันตก และ ทางเหนือ ที่ติดกับประเทศเมียนมา ชาวพม่าใช้เงิน รูปี อินเดีย บริษัท East India Company เรียกโดยรวมว่า British India ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม เงินเหล่านี้ ชาวเหนือเรียก เงินแถบ ชาวเขา และ ชนเผ่าต่างๆ มักนำเงินแถบเข้ามาแลกซื้อสินค้าในตัวเมือง เงินแถบ ผลิตก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จะมีส่วนผสมของโลหะเงินประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ช่างหัตถกรรมเครื่องเงิน จึงนิยมใช้เงินแถบเหล่านี้ หลอมทำของใช้ เครื่องประดับ เข็มขัด สายสร้อย กำไล แหวน ปิ่นปักผม ฯลฯ และ ขันเงิน ซึ่งเรียกว่า ขันสะหลุง ล้วนทำจากเงินแถบแทบทั้งสิ้น ขันสะหลุง จะมีขนาดใหญ่ หรือ เล็ก แค่ไหน ว่าน้ำหนักกันที่ หนักกี่แถบ เงินแถบเหล่านี้ นิยมใช้กันแพร่หลายมากในหมู่ชาวเหนือ ชาวเขา และ ชนเผ่า

          นอกจากใช้เป็นเงินตราสื่อกลางซื้อขายสินค้า ชำระหนี้ และ เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับ ยังมีผลต่อวัฒนธรรมความเชื่อของผู้คนในแถบนี้ แทบทุกบ้านต้องมีอย่างน้อยหนึ่งเหรียญ จะเป็นเหรียญฯ รูป ราชินี (Queen Victoria) หรือ เหรียญฯ ที่เป็นรูป กษัตริย์ (King William หรือ King George) หากบ้านใดมีคนป่วยไข้ ปวดหัว ตัวร้อน จะใช้เหรียญเหล่านี้ ทำพิธีเยียวยา กล่าวคือ ถ้าเป็นชายจะใช้เหรียญรูปกษัตริย์ แต่หากเป็นหญิงจะใช้เหรียญรูปราชินี ซึ่งส่วนใหญ่ก็มิได้แยกแยะว่าจะต้องใช้เหรียญราชินี หรือ เหรียญกษัตริย์ สักแต่ขอให้เป็นเหรียญเงินแถบเป็นใช้ได้ ผู้ที่มีอาการป่วยไข้ไม่ว่าเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ หมอพื้นบ้านจะต้มไข่หนึ่งฟองให้สุกแข็ง ผ่าไข่ต้มฟองนั้น แล้วสอดเหรียญเงินแถบเข้าไปในระหว่างไข่แดงที่ถูกผ่า ใช้ผ้าขาวบางห่อหุ้มไข่ฟองนั้น จากนั้น บริกรรมคาถาเป่าลงไป แล้วจึงนำไปถู ลูบไล้ตามแขน ขา ศีรษะ และ ลำตัวของผู้ป่วย เมื่อได้ถูทั่วตัวดีแล้ว จึงคลี่ผ้าขาวออกดูที่ตัวเหรียญฯ หากผิวของเหรียญฯ เงินแถบ เปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ หมอพื้นบ้านผู้นั้น จะสันนิษฐาน และ ทายทัก หากคนไข้รายนี้ป่วยมาก จะเจาะทิ่มปลายนิ้วด้วยเข็มเบาๆ ให้เลือดแห่งความป่วยไข้ไหลชิบออกมา หยด สองหยด เพื่อกำจัดความป่วยไข้ ผลของจิตวิทยาจากการเจาะเลือด ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกนึกคิดไปว่า ความป่วยไข้ได้ถูกกำจัด ปัดเป่าออกไปแล้ว ต้องนอนพักผ่อน เมื่อผู้ป่วยหายดีเป็นปรกติ ตัวผู้ป่วยเอง หรือ ผู้ปกครอง จะนำสิ่งของ หรือ เงินจำนวนเล็กน้อยไปมอบให้แก่หมอพื้นบ้านผู้นั้น ที่บ้าน เพื่อเป็นค่าตอบแทน โดยบอกกล่าว คำว่า มาดำหัวท่านหมอฯ


ภาพจาก Internet เหรียญเงินรูปีจากประเทศอินเดีย เงินตราเรียกว่า เงินแถบ ใช้ในหมู่ชนชาวพม่า ไต และ ไทเหนือ


**********



ภาพจาก Internet: Credit bridgeworks thailand สวัสดีค่ะ สวัสดีเจ้า



ภาพจาก Internet หมู่ชน ขุนเขา ลำห้วย และ สายน้ำ หากได้มาเยือน จะประทับใจเมืองเหนือ นานแสนนาน


**********


          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ท่านสามารถนำข้อเขียน เนื้อหา ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแจ้งแต่ประการใด ส่วนภาพประกอบในสาระน่ารู้เหล่านี้ได้คัดลอกมาจาก Internet Public Domains บางภาพอาจมีลายน้ำต้องคงไว้เป็นตัวอ้างอิงถึงที่มา และต้องให้ Credit แก่เจ้าของภาพ และ www.dandinth.com เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่

กลับไปหน้าหลัก