สะสมดวงตราไปรษณียากร ไม่มีอนาคต



          เด็กๆ หลายคนคงมีดวงตราไปรษณียากรทั้งไทยและเทศ เก็บสะสมบ้างไม่มากก็น้อย และ ก็คงได้รับรู้ ได้ยินได้ฟังมาว่า "การเก็บสะสมดวงตราไปรษณียากรไม่มีอนาคต"

          ปัจจุบันนี้ ทั้งโลกมีนักสะสมดวงตราไปรษณียากรประมาน 200 ล้านคน สมาคม ชมรมของเหล่านักสะสมแสตมป์ซบเซา ร้านค้าจำหน่ายลดลง แตกต่างจากเมื่อก่อนนี้ มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอย่างคึกคัก

          ดวงตราไปรษณียากรดวงแรกของโลกถูกปั้มตราด้วยมือลงบนแผ่นกระดาษที่ถูกตัดให้มีขนาดเล็กปิดมุมซองจดหมาย หรือ บนมุมห่อพัสดุ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1840 ตรงกับปี พ.ศ. 2383 เพื่อเป็นตั๋วอากรระบุว่าได้ชำระค่าส่งจดหมายหรือพัสดุแล้ว จากนั้นมา ระบบและวิธีการนำส่งจดหมายและพัสดุด้วยการปิดดวงตราไปรษณียากรเป็นที่นิยม ทุกประเทศให้ความสำคัญ และ มีการพิมพ์ดวงตราไปรษณียากรเพื่อใช้จัดส่งจดหมายและพัสดุไปทั่วโลก

          เมื่อแรก การเก็บสะสมดวงตราไปรษณียากรจากความเป็นของแปลกจากต่างแดน มีตราประทับเป็นของใช้แล้ว เมื่อมีการรวมตัวก่อตั้งชมรม สมาคมนักสะสมแสตมป์ มุมมอง และ วิธีคิดต่อการสะสมดวงตราไปรษณียากรจึงแตกต่างกันไป เด็กๆ เก็บสะสมดวงตราไปรษณียากรที่ถูกใช้แล้ว จากการขอ หรือ ได้รับจากผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ สำนักงานบริษัทใกล้เคียง แลกเปลี่ยนในกลุ่มเด็กด้วยกัน ในรูปของสะสม หรือ ตามที่คุณครูในชั้นเรียนให้เลือกกระทำในวิชางานอดิเรกของนักเรียน แต่ผู้ใหญ่มองในรูปของสะสมมีค่าจากต่างแดน ของหายาก

          จากนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บ้านเมืองทุกประเทศพัฒนาไปมาก เศรษฐกิจขยายตัวไปทั่วโลก ความคิดเดิมที่เก็บสะสมดวงตราไปรษณียากรจากของถูกใช้แล้ว ไปเป็นดวงตราใหม่เอี่ยมออกจากแท่นพิมพ์ เก็บเป็นแผง เป็นชุด เป้าหมายเพื่อการลงทุน คาดหวังราคาอนาคต เกิดชมรม สมาคมสะสมแสตมป์ มีกลุ่มใหม่ขี้นมากมาย หลายประเทศมีการจัดพิมพ์ดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก แบบพิเศษ ฯลฯ เพื่อการค้าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีการจัดงานแสดงดวงตราไปรษณียากรเพื่อส่งเสริมการขายไปทั่วโลก

          จากการพัฒนา และ ความก้าวหน้าของโลกอิเลคทรอนิคส์ไปสู่ยุคคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีนำไปสู่ระบบอินเตอร์เน็ต ติดต่อสื่อสารถึงกันทั้งภาพ ข้อความ และ เสียงสนทนาปราศัย ได้ฉับพลันดั่งไร้พรมแดน ทุกวันนี้ น้อยคนที่จะส่งจดหมายติดดวงตราไปรษณียากร แทบจะทุกคนมีอีเมล email ใช้สำหรับติดต่อรับข่าวสาร มีผู้ประกอบการรับจัดส่งพัศดุสิ่งของด้วยระบบโลจิสติคส์ให้เลือกมากมาย นำเสนอบริการหลากหลายวิธีการรับ และ ส่งจดหมาย พัศดุ ฯลฯ เลือกใช้บริการได้ตามความเหมาะสม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคู่แข่ง เป็นตัวการบั่นทอนการใช้บริการของสำนักงานไปรษณีย์ ดวงตราไปรษณียากรจึงถูกลดบทบาท จากที่เคยเป็นสิ่งจำเป็นต้องพึ่งพาในการส่งจดหมาย หรือ พัศดุ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ให้กลายเป็นอดีต

          ปัจจุบันนี้ ระบบไปรษณีย์จึงถูกเมิน ร้านค้า ชมรม สมาคมนักสะสมดวงตราไปรษณียากรซบเซา เด็กไม่นิยม ไม่สนใจที่จะสะสมดวงตราไปรษณียากร ส่วนใหญ่ให้ความสนใจสะสมเหรียญกษาปณ์ แต่แปลกใหม ! ใช่ว่าจะไร้ความสำคัญ กลับมีนักสะสมหน้าใหม่ ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 เข้ามาสะสมเชิงธุระกิจ คนเหล่านี้มีเงิน จะสะสมในรูปของการลงทุนเพื่อเก็งกำไร จะเลือกซื้อหาสะสมเฉพาะแต่ดวงตราไปรษณียากรที่หายาก คือ หนึ่งเดียว หรือ มีดวงเดียวในโลก

ดวงตราไปรษณียากรแบบต่างๆ ออกแบบวาดและพิมพ์ด้วยลายเส้นนูนแบบธนบัตร


          เมื่อสถานการณ์แปรเปลี่ยนไปเช่นนี้ เหล่าเด็กๆ จะคิดและทำอย่างไร เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองและญาติพี่น้องของเด็กจำนวนไม่น้อย ผู้ใหญ่หลายครอบครัวได้เคยเก็บสะสมดวงตราไปรษณียากรมาชั่วชีวิต จากเมื่อเล็กเป็นเด็ก จวบจนถึงปัจจุบันโตเป็นผู้ใหญ่ หากคิดคำนวณเป็นตัวเงินที่ได้เคยไปเข้าคิวซื้อหาที่ทำการไปรษณีย์ก็คงมากโข หากจะนำไปเสนอขายก็กลัวถูกกดราคาครึ่งต่อครึ่ง ผลก็คือเหล่าลูกหลานของเขาเหล่านั้นต้องรับช่วงตกทอดเป็นมรดก

          ใครผู้ใดที่อยู่ในสถานะนี้ หรือ ผู้ที่ต้องรับช่วงมรดกการเก็บสะสมดวงตราไปรษณียากร พึงทำความเข้าใจ ดังนี้

          แบ่งดวงตราไปรษณียากรออกเป็นสามกลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ดวงตราไปรษณียากรรุ่นเก่า หายาก หรือ ผลิตจำนวนน้อย เช่น ของสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 8 ส่วนของรัชกาลที่ 9 เลือกเก็บเฉพาะที่ออกแบบวาดและพิมพ์ด้วยลายเส้นนูนแบบธนบัตร ดวงตราไปรษณียากรเหล่านี้ จัดเป็นกลุ่มมีค่าหายาก

กลุ่มที่ 2 ดวงตราไปรษณียากร รุ่นพิเศษ ส่วนมากเป็นของรัชกาลที่ 9 จัดพิมพ์ออกมาเท่าใด ก็มีอยู่ในมือของนักสะสมเต็มจำนวน ไม่มีการนำไปใช้ ดวงตราไปรษียากรกลุ่มนี้ไม่ตาย แต่ต้องถือครองไว้อีกนาน เพราะในอนาคตแม้นจะไม่มีการใช้ดวงตราไปรษณียากรก็ตาม แต่เชื่อแน่ว่าจะยังคงมีการพิมพ์ดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกเป็นกรณีย์พิเศษ ในพระบรมราชวโรกาสอันเป็นมงคล หรือ เพื่อการเฉลิมฉลอง ฯลฯ

กลุ่มที่ 3 ดวงตราไปรษณียากร แบบธรรมดา กระดาษมัน พิมพ์ด้วยวิธี Lithograph ดวงตราไปรษณียากรในกลุ่มนี้มีมากมาย วัตถุประสงค์เพื่อใช้งานจริง มีกระจายอยู่ทั่วไป ในขณะเดียวกันประเทศเล็กๆ ทุกทวีป ไม่เว้นแม้ประเทศที่เป็นเกาะเล็กเกาะน้อยต่างหารายได้เข้าประเทศ โดยการพิมพ์ดวงตราไปรษณียากรส่งออกขายนักสะสมเพื่อการค้า ดวงตราไปรษณียากรกลุ่มนี้จึงด้อยค่า

          พึงเข้าใจ การสะสมเหรียญกษาปณ์ยุคแรกๆ เป็นของเล่นพระราชา เพราะผลิตจากโลหะมีค่าต้องลงทุน มีมาแต่โบราณกว่าสองพันเจ็ดร้อยปี แม้นระบบเศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนไปเป็นสังคมไร้เงินสด จะไม่มีการผลิตธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ออกมาใช้หมุนเวียน แต่เหรียญกษาปณ์โบราณยังคงถือเป็นโบราณวัตถุ เป็นหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ทุกวันนี้ ยังมีเหรียญกษาปณ์โบราณแบบที่ไม่เคยเห็นและรู้จักมาก่อนถูกขุดค้นพบอยู่เนืองๆ การสะสมเหรียญกษาปณ์จึงมุ่งเน้นไปที่ของเก่าหายาก

          ส่วนการสะสมดวงตราไปรษณียากร เกิดจากจากการเก็บกระดาษอากรที่ถูกใช้ไปไร้ราคา จึงเหมาะแก่เด็กหัดสะสมโดยไม่ต้องลงทุนมากนัก แต่ทรงคุณค่าเพราะเป็นของมาจากต่างแดน ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันแม้นจะมีอายุเพียงร้อยกว่าปี ซึ่งดวงตราไปรษณียากรยุคต้นๆ มีจำนวนน้อย ย่อมหายาก เช่นกัน เมื่อไม่ได้รับความนิยมใช้ดวงตราไปรษณียากร ไม่มีการส่งจดหมายหรือพัสดุกับบริการของการไปรษณีย์ก็ตาม เชื่อแน่ว่า ยังคงมีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่นิยมลงทุนสะสมดวงตราไปรษณียากรเก่าหายากเพื่อการเก็งกำไรในอนาคต

          หากเด็กๆ เข้าใจตามนี้ ย่อมจะตัดสินใจและจัดการกับเหล่าดวงตราไปรษณียากรทั้งสามกลุ่ม ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น




          เมื่อปี ค.ศ. 2013 ตรงกับปี พ.ศ. 2556 บริษัท Sotheby's ได้ทำการประมูลขายดวงตราไปรษณียากร British Guyana one cent Black-on-Magenta จำนวน 1 ดวง ได้ราคาสูงสุดเป็นประวัติกาล 9.5 ล้านเหรียญอเมริกัน ทั้งที่ ดวงตราไปรษณียากรแบบเดียวกันนี้ มีเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานหลายแห่ง

          ในที่สุดก็เป็นที่ประจักษ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564 บริษัท Sotheby's ได้ทำการประมูลขายดวงตราไปรษณียากร British Guyana one cent Black-on-Magenta ดวงดังกล่าวข้างต้นอีกครั้ง ได้ราคาเพียง 8.3 ล้านเหรียญอเมริกัน ราคาต่ำกว่าเดิม 1 ล้านเหรียญอเมริกัน เชื่อแน่ว่า วันข้างหน้าหากนำกลับเข้าตลาดเพื่อประมูลใหม่ คงได้ราคาต่ำกว่านี้มาก หรือไม่มีผู้ประมูล !

          การสะสมดวงตราไปรษณียากร ไม่มีอนาคตแน่นอนแล้ว ต่อไปภายหน้าจะมีให้เห็นและศึกษาแต่ในพิพิธภัณฑ์สถาน เท่านั้น สิ่งเดียวที่เด็กๆ พึงสะสมได้ก็คงไม่พ้นการสะสมเหรียญกษาปณ์ เนื่องจากอยู่ในวิสัยที่เด็กๆ จะกระทำได้ เพราะมีต้นทุนต่ำและค่าใช้จ่ายไม่แพงนัก มีอนาคตรองรับชัดเจน


**********


          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ท่านสามารถนำ ข้อเขียน เนื้อหา ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแจ้งแต่ประการใด ส่วนภาพประกอบในสาระน่ารู้เหล่านี้ได้คัดลอกมาจาก Internet Public Domains บางภาพอาจมีลายน้ำต้องคงไว้เป็นตัวอ้างอิงถึงที่มา ต้องให้ Credit แก่เจ้าของภาพ และ www.dandinth.com เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่

กลับไปหน้าหลัก