พึงระวัง ! การสะสมธนบัตรเก่า ฤา จะไร้อนาคต



          ประเทศจีนเป็นประเทศแรก ได้ริเริ่มใช้ตั๋วเงิน Bank Bill พิมพ์บนกระดาษ ระบุจำนวนเงิน และ ตราประทับของผู้ออกตั๋ว เพื่อนำไปขึ้นเงินที่ปลายทาง ในช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 7 รัชสมัย ราชวงศ์ ถัง Tang Dynasty และราชวงศ์ ซ้อง Song Dynasty คือ ประมาณ ค.ศ. 618 - 907 เนื่องจากพ่อค้าต่างเมืองไม่ต้องการ ขนเงินเหรียญกษาปณ์จำนวนมาก ส่วนใหญ่ผลิตจากโลหะทองแดง มีน้ำหนักมาก ตั๋วเงินเหล่านี้ เป็นที่ยอมรับและใช้ได้เฉพาะแต่ในราชอาณาจักรเท่านั้น นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางการเงินของประเทศจีนในสมัยนั้น ทั้งที่ ประเทศทางซีกตะวันตก ยังยึดถือเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตจากโลหะมีค่า อาทิ จ้างทหารรับจ้างด้วยเหรียญกษาปณ์ทองคำ การค้าขายในเส้นทางสายไหมซื้อขายสินค้าด้วยเหรียญกษาปณ์ทองคำ ซึ่งเหรียญทองคำของแต่ละ แคว้น หรือ เมืองที่ผลิต แม้นเป็นของกษัตริย์พระองค์ใดก็ตาม ล้วนยึดถือน้ำหนักอ้างอิงของเหรียญกษาปณ์ทองคำ โรมัน Aurei มีน้ำหนักประมาณ 8 กรัม เป็นมาตรฐานสากล อ้างอิงเสมอ ด้วยเหตุนี้ สื่อกลางการซื้อขายสินค้า หนึ่งเหรียญกษาปณ์ทองคำ ต้องเป็นเหรียญผลิตจากโลหะทองคำ น้ำหนักประมาณ 8 กรัม ส่วนการซื้อขายสินค้าภายในแคว้น เมืองระหว่างกันในอาณาจักร ล้วนเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตจากโลหะเงิน และ ทองแดง หรือ โลหะด้อยค่า อื่นๆ

          ล่วงถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวยุโรปเริ่มรับรู้การใช้กระดาษ Bank Note ประทับตรา มีค่าเทียบเท่าเหรียญกษาปณ์ทองคำของราชวงศ์ หยวน Yuan Dynasty ค.ศ. 1271 - 1368 ของชาวมองโกล โดยพระเจ้า กุปไลข่าน Kublai Khan ปกครองประเทศจีนในขณะนั้น ได้ครอบครองดินแดนเอเชียกลางทั้งหมด จรดถึงทวีปยุโรปที่ประเทศโปแลนด์ เนื่องจากกองทัพทหารม้ามองโกลจำนวนมาก อยู่กระจัดกระจายห่างไกล ยากต่อการจัดส่ง ต้องใช้ตั๋วเงินพิมพ์จากกระดาษ ออกโดยราชสำนักหยวนจากกรุงปักกิ่ง มีค่าเทียบเท่าเหรียญกษาปณ์ทองคำ ดังปรากฏในบันทึกการเดินทางของ มาโค โปโล Marco Polo

          จากนั้นมา เมื่อปี ค.ศ. 1661 มีการทดลองใช้ตั๋วเงินครั้งแรกในยุโรป โดยธนาคารการเงินประเทศสวีเดน ต่อมาในปี ค.ศ. 1694 ธนาคารการเงิน The Bank of England ประเทศอังกฤษ ได้ทดลองออกตั๋วเงินบริการลูกค้า และแล้ว 1 ปี ต่อมา ค.ศ. 1695 ได้ตัดสินใจออกธนบัตร Bank Note ใช้ร่วมกับเงินเหรียญกษาปณ์ มีราคา ตั้งแต่ มูลค่า 20 ปอนด์ ถึง มูลค่า 100 ปอนด์ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมทั่วไป หลายประเทศในยุโรปปฏิบัติตาม ต่างออกธนบัตรใช้ในประเทศอย่างแพร่หลายสืบมา

          ธนบัตรเป็นของมีค่า มีราคา บ่งบอกถึงความมั่งคั่ง ผู้ที่มีธนบัตรเก็บรักษามาก ได้แก่ นายธนาคาร พ่อค้าวาณิช ส่วนชาวบ้าน บุคคลทั่วไป เมื่อได้รับมาก็ใช้จ่ายไป เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ หมุนเวียนไปมาหลายรอบจนเก่าคร่ำ ประคอง ทนใช้จ่ายตามปรกติ จะเก่าแสนเก่าเพียงไรยังมีค่าเต็มร้อย แม้นฉีกขาดยังตัดแปะ เพราะค่าพิมพ์ธนบัตรมีต้นทุนสูงมาก ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในยุคสมัยนั้น จึงยังไม่มีความคิดสะสมธนบัตร ซึ่งต่างจากดวงตราไปรษณียากร เมื่อใช้แล้วย่อมไร้ราคา จึงถูกเก็บเป็นของที่ระลึก รักษา สะสมในแบบดวงตราไปรษณีย์หายากจากต่างแดน

          หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้อไปทั่วโลก หลายประเทศอัตคัดขัดสนเงินทอง ธนบัตรที่มีใช้อยู่แต่เดิมด้อยค่า มีหลงเหลือจากการใช้จ่าย มีติดอยู่ในที่เก็บภายในบ้าน ถูกละเลย มีอยู่ในที่เก็บเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุ ให้ผู้คนสนใจเก็บสะสมธนบัตร ดั่งเช่น การเก็บสะสมดวงตราไปรษณีย์ ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศในยุโรปได้ริเริ่มพิมพ์เผยแพร่ แคตตาล๊อกลำดับภาพธนบัตร แบบต่างๆ แต่ละรุ่น ของประเทศตน

          จากนั้นมา ในปี ค.ศ. 1961 ได้มีการก่อตั้งสมาคมธนบัตรระหว่างประเทศ The International Bank Note Society (ISBN) ออกวารสารเกี่ยวกับเรื่องราวของธนบัตร จัดการประมูลซื้อขายแลกเปลี่ยนธนบัตรระหว่างสมาชิก และ ในปี ค.ศ. 1970 ได้มีกลุ่มบุคคล ในบริษัท Stanley Gibbons รวมตัวก่อตั้งสมาคมนักสะสมธนบัตร ได้นิยามศัพท์ คำว่า Notaphily หมายถึง การศึกษา การสะสมธนบัตรเป็นงานอดิเรก และ Notaphilist หมายถึง นักสะสมธนบัตร

          การสะสมธนบัตรต้องใช้ต้นทุนสูง ธนบัตรฉบับสมบูรณ์ไม่ผ่านการใช้ ของเก่าหากหายาก จะมีราคาแพง การเก็บรักษายุ่งยาก ฉีกขาด สีเปลี่ยนง่าย ..... กระทำได้ก็แต่ผู้มีเงินเก็บ มีความนิยม ชื่นชอบที่จะเก็บสะสมอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ การสะสมธนบัตร จึงถูกจำกัดในวงแคบ

          พัฒนาการของธนบัตร จากเริ่มต้น ถึง ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก นั้น ร่วมสมัยกับ ดวงตราไปรษณียากร มีความเหมือนกัน คือ พิมพ์บนกระดาษ ต่างกันที่ มูลค่าของธนบัตรบอกถึงอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศ นักสะสมธนบัตรเก่ามีไม่มาก อยู่ในวงจำกัด ส่วนดวงตราไปรณียากรเป็นของพื้นๆ หาได้ทั่วไป เป็นที่นิยมสะสมของคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ เป็นตลาดใหญ่ ก่อนหน้านี้เฟื่องฟูมาก มีประเทศเล็กๆ จำนวนไม่น้อย พิมพ์ดวงตราไปรณียากร สุดหรู สวยงาม ส่งออกเพื่อการค้าหาเงินเข้าประเทศ แต่เมื่อเทคโนโลยียุคดิจิตัล Digital เข้ามาเปลี่ยนโลกอนาลอก Analog ทุกผู้ ทุกนาม มีอีเมล E-mail สำหรับติดต่อรับส่งข่าวสาร และ ใช้บริการขนส่งพัสดุด่วน Logistic ทำให้ผู้คนห่างเหินจากการใช้บริการไปรษณีย์ ผลลัพธ์ คือ ความล่มสลายของการสะสมดวงตราไปรษณียากร สิ่งที่ได้สะสมมาช้านาน ด้อยค่า ผู้ค้าดวงตราไปรษณียากรหายไปจากระบบ กระทบไปทั่วโลก

          ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ที่ได้บังเกิดขึ้นกับดวงตราไปรษณียากร หากมองไปที่ธนบัตร เมื่อเทคโนโลยีดิจิตัล ก่อให้เกิด สังคมไร้เงินสด ไม่มีการพิมพ์ธนบัตร ไม่มีการผลิตเหรียญกษาปณ์เพื่อใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตามหลักการ เมื่อไม่มีของใหม่ ของเดิมเก่าเก็บ สะสมมานาน หากมีจำนวนน้อยย่อมมีราคา แต่อย่าลืมว่า ธนบัตร ล้วนผลิตจากกระดาษ ฝรั่งเรียกว่า Fiat Money เงินตราที่บังคับใช้โดยไม่มีทุนสำรอง เป็นเครื่องมือทางการเงินการคลัง มีอายุพอๆ กับ ดวงตราไปรษณียากร ประมาณสามสี่ร้อยปีเท่านั้นเอง ต่างจากเหรียญกษาปณ์ มีราคาในตัวมันเองจากคุณค่าราคาของตัวโลหะที่ถูกประทับตรา ในขณะเดียวกัน ตัวเหรียญกษาปณ์โบราณ คือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นแคปซูลแห่งเวลา Time Capsules บรรจุด้วยข้อมูล ประวัติศาสตร์ของ อารยะธรรม ศิลปะ ภาษา เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง สังคม ของแต่ละยุคสมัยในอดีต

          เหรียญกษาปณ์โบราณขุดพบในระยะหลังๆ นี้ มีไม่น้อยที่มี ชื่อ หรือ พระนามของกษัตริย์บนหน้าเหรียญกษาปณ์ไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน หรือ ไม่เคยมีปรากฏบันทึกใดในหน้าประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ คือ การค้นพบข้อมูลใหม่ ท้าทายความเพียรพยายามของ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ ทุกวันนี้ เหล่านักโบราณคดีทั่วโลก มุ่งขุด ค้นหา เหรียญกษาปณ์โบราณ ซึ่งเชื่อแน่ว่ายังมีฝังอยู่ในบริเวณ อาณาเขตโบราณสถาน แหล่งอารยะธรรมโบราณ สุสานโบราณ แม่น้ำใหญ่ และ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลลึก อาทิ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เหรียญกษาปณ์ ของ กรีก โรมัน คาเทจ โปลีนิเชี่ยน ... จากซากเรือโบราณจมอยู่ใต้ทะเลเมดิเตอเรเนียน หรือ ยุคล่าอาณานิคมของสเปนในมหาสมุทรแอ็ทแลนติค เป็นต้น

          จากความแตกต่าง และ ความสำคัญ ระหว่างธนบัตรกับเหรียญกษาปณ์ พออนุมานได้ว่า เหรียญกษาปณ์ยังมีอนาคตอีกไกล เพราะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ส่วนการสะสมธนบัตรเก่า คงจะสิ้นเสน่ห์ในไม่ช้า และ หมดอนาคต ถ้าระบบสังคมไร้เงินสด สมบูรณ์แบบ เฉกเช่น การล่มสลายของการสะสมดวงตราไปรษณียากร ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว ก่อนหน้านี้

          ที่สำคัญและพึงสังเกต ทุกวันนี้ แทบไม่มีประเทศใด พิมพ์ธนบัตรที่ระลึก เพื่อเฉลิมฉลอง เนื่องโอกาสใดๆ .... แต่ในทางกลับกัน หลายประเทศ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย จำนวนไม่น้อย ผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกราคาแพง จาก ทองคำขาว ทองคำ เงิน และ โลหะอื่นๆ ออกจำหน่าย เพื่อการสะสมอย่างต่อเนื่อง ร้านค้าที่เคยทำธุรกิจซื้อขายดวงตราไปรษณียากร ปรับเปลี่ยนเป็นซื้อขายเหรียญกษาปณ์ ....


**********


          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ท่านสามารถนำ ข้อเขียน เนื้อหา ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแจ้งแต่ประการใด ส่วนภาพประกอบในสาระน่ารู้เหล่านี้ได้คัดลอกมาจาก Internet Public Domains บางภาพอาจมีลายน้ำต้องคงไว้เป็นตัวอ้างอิงถึงที่มา ต้องให้ Credit แก่เจ้าของภาพ และ www.dandinth.com เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่

กลับไปหน้าหลัก