เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน 5 บาท เก้าเหลี่ยม หลังครุฑ พ.ศ. 2515


คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่

เหรียญกษาปณ์ ห้าบาท เก้าเหลี่ยม (5 Baht 1972 Polygonal coin) โลหะคูโปรนิเกิล ประกอบด้วยทองแดง 75 % นิเกิล 25 % น้ำหนัก 9 กรัม กว้าง 27 ม.ม. หนา 2 ม.ม. ด้านหน้าและด้านหลังเยื้องกัน ขอบเรียบเก้าเหลี่ยม

ด้านหน้า พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ระดับพระอังสา ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ริมขอบบนซ้ายมีพระปรมาภิไธย ภูมิพลอดุลยเดช ริมขอบขวามีข้อความ รัชการที่ ๙

ด้านหลัง รูปครุฑพ่าห์ เบื้องบนมีข้อความ รัฐบาลไทย พ.ศ. ๒๕๑๕ เบื้องล่างมีข้อความบอกราคา ๕ บาท มีลายกระหนกคั่นข้อความทั้งสอง

ผู้ออกแบบด้านหน้า นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ กรมศิลปากร
ผู้ออกแบบด้านหลัง นายสานต์ เทศะศิริ กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์
จำนวนที่ผลิต 30,016,000 เหรียญ เมื่อ พ.ศ. 2515

ประกาศใช้เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 จากนั้น พบว่ามีการลักลอบผลิตเหรียญฯ ปลอมออกมาใช้เกลื่อนเมือง รัฐบาลจึงได้ประกาศยกเลิกและเรียกคืนคลังวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ด้วยเหตุนี้เหรียญฯ แท้สภาพดีจึงหายากมาก

เหรียญปลอมมีสามชนิด

ชนิดแรก ผลิตโดยการหล่อจากเบ้าแม่พิมพ์ รูปลักษณ์ด้านหน้าและด้านหลังของตัวเหรียญฯ หยาบ เนื้อโลหะแบบ Pewter ทำจากดีบุกผสมตะกั่ว เนื้อโลหะเป็นสีดำอมเทา ค่อนข้างอ่อน ชุบโลหะขาว เสียงทึบเมื่อตกกระทบ

ชนิดที่สอง ผลิตโดยการแกะแม่พิมพ์ปั๊มด้วยเครื่องจักร รูปลักษณ์ด้านหน้าและด้านหลังของตัวเหรียญฯ ค่อนข้างดีกว่าแบบแรก เนื้อโลหะผสมนิเกิลออกสีอัลปาก้าคือค่อนข้างเหลือง เสียงกังวาลเมื่อตกกระทบหรือเคาะ

ทั้งสองแบบข้างต้นนี้คุณภาพและรายละเอียดของตัวเหรียญไม่ดีนัก สังเกตได้ง่ายจากความแตกต่างของสีและผิว ตัวเหรียญฯ มีความหนาบางไม่เท่ากัน น้ำหนักจึงแตกต่างกันมาก

ชนิดที่สาม เข้ามาทีหลังผลิตจากฮ่องกง แกะแม่พิมพ์ปั๊มด้วยเครื่องจักรอุตสาหกรรม รูปลักษณ์ลวดลายมีความปราณีต ขนาด ความหนา และ น้ำหนัก ใกล้เคียงเหรียญฯ แท้มาก แทบแยกไม่ออก เนื้อโลหะผสมนิเกิลค่อนข้างน้อย สีจึงค่อนไปทางเหลืองเล็กน้อย เสียงกังวาลใสเมื่อ ตกกระทบ หรือ เคาะ เหรียญฯ ปลอมชนิดที่สามนี้ ผลิตจำนวนมากได้เข้ามาในตลาดแทนที่เหรียญฯ แท้ที่ออกโดยรัฐบาลฯ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจระดับครัวเรือนอย่างกว้างขวาง เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิก และ ให้นำเหรียญฯ แท้ ไปขอแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตร จากธนาคารฯ ปรากฏว่าผู้คนจำนวนมาก ถูกปฏิเสธการแลกคืน เพราะล้วนครอบครองเหรียญฯ ปลอมจำนวนมาก เนื่องจากแยกไม่ออก นัยว่า เหรียญฯ ปลอมมีมากกว่าเหรียญฯ แท้

ข้อสังเกตความแตกต่างระหว่างเหรียญฯ ปลอมชนิดที่สามซึ่งมีอยู่แพร่หลายนั้น ต้องเปรียบเทียบกับเหรียญฯ แท้

ข้อที่ 1. ด้านหน้า เหรียญฯ แท้ ตัวหนังสือคมชัด พระเนตรทั้งสอง มีพระเนตรชัดเจน (จุดสังเกต)

ส่วนเหรียญฯ ปลอม มี 3 พิมพ์ คือ

พิมพ์แรก พระเนตรทั้งสองใกล้เคียงเหรียญฯ แท้มาก พระเนตรเบื้องขวามีพระเนตรเป็นขีด เบื้องซ้ายมีแต่ขนพระเนตร ไม่มีพระเนตร ร่องพระปรางริมพระนาสิกและร่องริมพระโอษฐ์ ค่อนข้างลึก

พิมพ์ที่สอง พระเนตรทั้งสองใกล้เคียงเหรียญฯ แท้มาก พระเนตรเบื้องขวามีพระเนตรเป็นขีด เบื้องซ้ายมีแต่ขนพระเนตรด้านบน ไม่มีพระเนตร ใต้มุมพับของฉลองพระเนตร (แว่นตา) มีขีดนูนสั้นเอียงลงมา 45 องศา 1 ขีด ร่องพระปรางริมพระนาสิกและร่องริมพระโอษฐ์ ค่อนข้างลึก

พิมพ์ที่สาม พระเนตรเบื้องขวากลวงโบ๋ ไม่มีพระเนตร เบื้องซ้ายมีแต่ขนพระเนตรด้านบนและล่าง แต่ไม่มีพระเนตร

ข้อที่ 2. ด้านหลัง เหรียญฯ แท้ ลวดลายและตัวหนังสือคมชัด ลายกระหนกมีปลายหางยาวแหลม เหรียญฯ ปลอมมีตัวหนังสือนูนบวมกว่าเหรียญฯ แท้

เหรียญฯ แท้ ครุฑมีฝ่ามือและฝ่าเท้าทั้งสองเรียวงาม เล็บและเดือยเท้ายาวแหลม ปลายขนปีกทั้งสองข้างเรียวแหลม (จุดสังเกต) ขนปีกและลำตัวซ้อนกันเป็นระเบียบกว่าเหรียญฯ ปลอม

เหรียญฯ แท้ หางครุฑมีขนหางใหญ่ 9 ขน ปลายแหลมมีระยะห่างที่ปลายขนหาง ปลายขนแหลมโค้งเล็กน้อยเหมือนปลายเคียว ขนหางใหญ่อันกลางมีเส้นตรงวิ่งดิ่งกลางขนหางชิดไปทางซ้าย (จุดสังเกต) ซึ่งเหรียญฯ ปลอมปลายขนหางค่อนข้างทึบไม่มีเส้นวิ่งกลางขนหางใหญ่อันกลาง

เหรียญฯ แท้ ลำคอของครุฑ มีเส้นเอ็นคอเป็นเส้นนูนบางๆ 2 เส้นคู่ใกล้คอด้านซ้าย และ 2 เส้นคู่ใกล้คอด้านขวา (จุดสังเกต) เหรียญฯ ปลอมไม่มีเส้นคอดังกล่าว

เหรียญฯ แท้ ใบหน้าครุฑแม้นจะเยินจากความสึกของแม่พิมพ์ แต่ยังพอมองเห็น เค้าหน้า ปาก คาง และใต้แก้มทั้งสองดั่งคันธนู (จุดสังเกต) ชัดเจน ซึ่งเหรียญฯ ปลอมกลับเป็นก้อนมุ่นมวยแทบมองไม่เห็นคางของครุฑ

เหรียญฯ แท้ มีหางกระหนกหนีบหลังหูของมงกุฏแยกออกขึ้นไปสองเส้นเหนือไหล่ใต้หูครุฑทั้งสองข้าง (จุดสังเกต) ซึ่งเหรียญฯ ปลอมบางพิมพ์ไม่มี บางพิมพ์มีเพียงจุดเล็กๆ ข้างละจุด

เหรียญฯ แท้ จะมีน้ำหนักคงที่ระหว่าง 8.5 - 9.15 กรัม ขึ้นอยู่กับความสึกหรอของตัวเหรียญฯ แต่เหรียญฯ ปลอมมีน้ำหนักระหว่าง 7 - 10.5 กรัม

พิมพ์ด้านหน้าและด้านหลังของเหรียญฯ ปลอมชุดนี้ มักเปลี่ยนแปลงสลับจับคู่ต่างบล๊อคแม่พิมพ์

พึงสังเกต ภาพเหรียญฯ ที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมข้างต้นสองภาพนั้น หากดูผิวเผินด้านหน้าของตัวเหรียญฯ จะคิดว่าเป็นเหรียญฯ ปลอม เพราะฉลองพระเนตร (แว่นตา) ผิดเพี้ยน เยินและมีรอยย่นจากความสึกกร่อนของบล๊อคแม่พิมพ์ แต่หากได้พลิกดูด้านหลังของตัวเหรียญฯ จะเห็นว่าเป็นเหรียญฯ แท้ เพราะเป็นบล๊อคแม่พิมพ์เดียวกันกับเหรียญฯ แรก ข้างต้น

จึงใคร่เสนอแนะ ก่อนอื่นให้จับผิดที่ตัวครุฑ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ ขนปลายหางครุฑ จากนั้นจึงค่อยตรวจสอบด้านหน้าของภาพฉายาลักษณ์



**********


          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ท่านสามารถนำข้อเขียน เนื้อหา ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแจ้งแต่ประการใด ส่วนภาพประกอบในสาระน่ารู้เหล่านี้ได้คัดลอกมาจาก Internet Public Domains บางภาพอาจมีลายน้ำต้องคงไว้เป็นตัวอ้างอิงถึงที่มา และต้องให้ Credit แก่เจ้าของภาพ และ www.dandinth.com เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่

กลับไปหน้าหลัก