กำเนิด ศาสนาเชน (Jainism) และ ศาสนาพุทธ (Buddhism)



          ประมาณ 3,500 ปี หรือ 1,000 ปีก่อนพุทธกาล ในประเทศอินเดียประชากรนับถือและมีความเชื่อ ลัทธิพระเวท (Veda) คือ เชื่อในเทพเจ้าที่เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศของพวกอริยกะ (Indo-Aryans) ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองทราวิทะ (Dravidian) เกี่ยวกับ สังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นศาสนาพราหมณ์ (Brahmanism) มีคัมภีร์พราหมณะ คัมภีร์อารันยกะ และ อุปนิษัทเป็นหลัก ครั้นต่อมา หลังจากที่ได้เกิดลัทธิความเชื่อใหม่อุบัติขึ้น คือ ศาสนาเชน และ ศาสนาพุทธ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ชักนำความเชื่อและศรัทธาด้านจิตวิญญาณของผู้คนจำนวนมากออกห่างจากลัทธิพระเวท

          เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เป็นยุคที่ผู้คนตื่นตัวต่อความเชื่อ มีผู้คิดค้นนำเสนอแนวคิดและลัทธิความเชื่อต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ ความหลุดพ้นของวิญญาณ เนื่องจากความเชื่อระบบ พราหมณ์-ฮินดู (Brahmanical Hinduism) ให้ความสำคัญพิธีกรรม บูชาสรรเสริญพระเจ้า และ เทพเจ้าต่างๆ บูชายัญด้วยสัตว์ตามหลักและข้อกำหนดของ คำภีร์พระเวท (Vedic) มิได้ส่งเสริมทางจิต ประชาชนมองไม่เห็นคุณค่าแห่งชึวิต การสวดอ้อนวอนสรรเสริญเทพเจ้าและการถวายเครื่องสักการะ ล้วนก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การฆ่าสัตว์อย่างโหดร้ายเพื่อการบูชายัญ สร้างความสะเทือนใจแก่คนหมู่มาก ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงใฝ่หาหนทางอื่นที่ดีกว่า เพื่อช่วยปลดปล่อยวิญญาณได้พ้นทุกข์

          พราหมณ์เป็นผู้ผูกขาด ควบคุมการจัดพิธีกรรมต่างๆ กำหนดชนชั้น วรรณะ ตั้งตนให้อยู่เหนือ ชนชั้นกษัตริย์ (Ksatriya) ซึ่งเป็นนักรบและผู้ปกครองบ้านเมือง เหล่ากษัตริย์ย่อมรู้สึกว่าถูกพราหมณ์ฉกอำนาจ นักปฏิรูปทางจิตวิญญาณในยุคนี้ที่สำคัญโดดเด่นมากที่สุด และหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ ล้วนมาจากตระกูลกษัตริย์ พระปารศวะนาท (Parsvanath) พระมหาวีระ (Mahavira) และ พระโคตะมะ (Gotama) ซึ่งพระปารศวะนาทเป็นพระองค์แรกที่ริเริ่มแนวคิดก่อน จากนั้น เวลาผ่านไปสองร้อยกว่าปีสองพระองค์หลังดังที่กล่าวมาได้ปฏิบัติตาม เคลื่อนไหวสั่งสอนเผยแพร่แนวคิดความเชื่อใหม่ในแคว้น มคธ (Magadha) และแคว้นใกล้เคียง โดยมีหลักการตรงกัน คือ ต่อต้านพิธีกรรม และ การบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์ของระบบพระเวท ความกล้าคิดกล้าทำเช่นนี้ เกิดจากหมู่ชนในเขตพื้นที่สูง ซึ่งล้วนสืบเชื้อสายมาจาก มองโกล (Sino-Tibetan Mongoloid) ชนชาติผิวเหลือง ไม่ใช่เชื้อสาย อริยกะ (Indo-Aryans) หมู่ชนเหล่านี้ต่างมีแนวคิดและปรัชญาของตน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมองว่าพราหมณ์ คือ ผู้แปลกแยกอ้างตนเป็นผู้รอบรู้ ผูกขาดหนทางสู่ความสงบแห่งวิญญาณ

          ความเชื่อใหม่ที่โดดเด่น คือ ลัทธิเชน (Jainism) ของ พระปารศวะนาท และ พระมหาวีระ กับ ลัทธิพุทธ (Buddhism) ของพระโคตะมะ ซึ่งต่อมาทั้งสองลัทธินี้เติบใหญ่ กลายเป็นศาสนาในที่สุด มีผลต่อแนวคิด และหลักปฏิบัติตนในสังคมของมวลมนุษย์ชาติ สองศาสนานี้ ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ต่อต้านหลักการของลัทธิพราหมณ์-ฮินดู แต่ก็ใช่ว่าจะแตกต่างไปจากลัทธิพราหมณ์-ฮินดูอย่างสิ้นเชิงก็หาไม่ เพราะพระปารศวะนาท พระมหาวีระ และ พระโคตะมะ ต่างก็ล้วนนับถือลัทธิพราหมณ์-ฮินดูมาก่อน จึงมิได้ทำลายและไม่ปฏิเสธระบบวรรณะ หรือ ละทิ้งความเชื่อของสังคมฮินดูแต่อย่างใด เพียงแต่ปฏิเสธอำนาจของพระเวท ประณามการบูชายัญ และ เลิกการเคารพบูชาเทพเจ้า หากมองกลายๆ ทั้งศาสนาเชน และ ศาสนาพุทธ ยังคงมีแนวคิดและหลักปฏิบัติหลายอย่างของศาสนาฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยึดถือความเชื่อในหลักการของ การเวียนว่ายตายเกิด โดยมี กรรม (Karma) เป็นปฐมเหตุแห่งชีวิต ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวอินเดียมาแต่โบราณ ก่อนการเข้ามาของชาวอริยกะ (Indo-Aryans)

          พุทธศตวรรษที่ 9 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้ปฏิรูปตนเอง กำหนดให้เกิดสมมุติเทพ ตรีมูรติ (Trimurti) พระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 3 พระองค์ ได้แก่ พระพรหมณ์ พระวิศณุ (พระนารายณ์) และ พระอิศวร ขนานนามว่าศาสนาฮินดู (Hinduism) มีคัมภีร์ปุราณะต่างๆ รวมทั้งมหากาพย์ เช่น มหาภารตะ และ รามายาณะ เป็นหลัก ยอมรับและผนวกจุดเด่น หลักการอหิงสา (Ahimsa) ของศาสนาเชน ยอมรับและกลืนความดีงามในบุคคลิกภาพของพระพุทธเจ้าให้เป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ (Avarta) เพื่อช่วงชิงศรัทธาจากมวลชนที่ได้เคยหันไปนับถือศาสนาเชน และ ศาสนาพุทธ

ศาสนาเชน (Chainism)
          นักบุญ หรือ ศาสดาของศาสนาเชน คือ ถีรถังกร (Tirthankara) ผู้สร้างทางข้ามไปยังอีกฝั่ง ตามตำนานความเชื่อ ได้เกิดและมีมาก่อนหน้าแล้ว 22 องค์ พระปารศวะนาท (Parsvanath) ถีรถังกรองค์ที่ 23 ได้มาจุติ สั่งสอนตามความเชื่อของศาสนาเชน และ พระมหาวีระ ถีรถังกรองค์ที่ 24 เป็นลำดับหลังสุด

          คำภีร์ศาสนาเชนระบุว่า พระปารศวะนาท นิพพานก่อนพระมหาวีระ 250 ปี ดังนั้น จึงน่าจะอยู่ในช่วง 2791 ปีที่ผ่านมาแล้ว พระปารศวะนาทเป็นราชโอรสของกษัตริย์ เมืองพาราณสี (Benares) ช่วงครึ่งหลังของชีวิตได้สละทางโลก ออกแสวงหาความสงบ ดำรงตนเป็นนักพรตเยี่ยงฤษี บำเพ็ญทุกข์กริยา นุ่งห่มขาว ได้กำหนดหลักการสี่ข้อแก่สาวกและผู้นับถือ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต พูดแต่ความจริง ไม่ลักขโมย ไม่ยึดติดต่อทรัพย์สิ่งของ ซึ่งเป็นหลักคำสอนพื้นฐานของ ศาสนาเชน

          ศาสดาของศาสนาเชนองค์หลังสุด ถีรถังกรองค์ที่ 24 คือ วรรธมานะ (Vardhamana) นิยมเรียกขานกันว่า มหาวีระ (Mahavira) ผู้เป็นราชโอรสในวรรณะกษัตริย์ (Kshatriya) แห่งเมืองเวสาลี (Vaisali) ตระกูล ชนตริก (Janatrika) หรือ ที่เรียกว่า ลิชฉะวีย์ (Lichchavi) และเป็นพระญาติทางพระมารดากับกษัตริย์เมือง วิเทหา (Videha) มคธ (Magadha) และ อังกะ (Anga) เมื่อพระชนมายุ 30 ได้สละทางโลก และ ถือปฏิบัติตามแนวทางของพระปารศวะนาท ใช้เวลา 12 ปี ทรมานตนและทำสมาธิ จนในที่สุดสำเร็จบรรลุธรรม จากนั้นได้ประกาศศาสนาโดย กำหนดและเพิ่มหลักปฏิบัติจากเดิมสี่ข้อของพระปารศวะนาท อีกหลายข้อ และ ได้รับขนานนามว่า ชินะ (Jina) คือ ผู้ชนะ จากเหล่าศานุศิษย์ หรือ อีกพระนามหนึ่ง นิกรณ (Nirgranthas) ผู้ปราศจากพันธนาการ ไม่นุ่งห่มอาภรณ์ ไม่ยึดถือครอบครองใดๆ

          พระมหาวีระได้เดินทางธุดงค์แสดงธรรมเทศนาสั่งสอนในแคว้นมคธ (Magadha) ตั้งอยู่ทิศใต้รัฐพิหารปัจจุบัน แคว้นวิเทหา (Videha) หรือ Tirhoot และแคว้นอังกะ (Anga) หรือ Bhagalpur พระองค์ได้กำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ให้คนทุกสาขาอาชีพบวชเป็นพระหรือชีได้ทั้งชายและหญิง โดยมิได้กีดกันชนชั้น ได้ขยายลัทธิความเชื่อในหมู่เครือญาติระดับสูงในแคว้นต่างๆ คัมภีร์ของศาสนาเชนบันทึกว่า พระเจ้าพิมพิสาร (Bimbisara) และ พระเจ้าอชาติศัตรู (Ajatasatru) เป็นศานุศิษย์ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของศาสนาเชน

          พระมหาวีระใช้เวลาเทศนาสั่งสอน 30 ปี นิพพานที่เมือง ปาวา (Pawa) ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองปาตลีบุตร (Patna) โดยทั่วไประบุ 527 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ ประมาณ 2541 ปี แต่คำภีร์ภาษาบาลีของศาสนาพุทธระบุว่า พระพุทธเจ้า และ พระมหาวีระ มีชีวิตร่วมสมัยเดียวกัน อย่างไรก็ดี เหมจันทร์ (Hemchandra) นักประพันธ์และนักปราชญ์ของศาสนาเชน ผู้มีชีวิตระหว่าง พ.ศ. 1668 - 1702 ได้ระบุว่า 467 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ ประมาณ 2481 ปี นักวิชาการต่างให้น้ำหนักและยอมรับช่วงเวลาดังกล่าวนี้

          ศาสนาเชนนับถือศาสดา เรียกว่า ถีรถังกร (Tirthankara) หรือ ชินะ (Jinas) 24 องค์ เฉพาะสองพระองค์ลำดับหลังสุด คือ พระปารศวะนาท และ พระมหาวีระ ได้รับความนิยม นับถือและบูชาสูงสุด

          หลักศาสนาเชนเน้นการควบคุมตนเองให้มีความอดกลั้น ประหยัด อดออม ไม่ฟุ่มเฟือย หลักธรรมสำคัญที่พระมหาวีระมุ่งเน้นเผยแพร่ คือ การปฏิบัติให้ถึง นิพพาน (Nirvana) โดยการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากพันธนาการแห่งโลกีย์ กระทำได้ด้วยการยึดและปฏิบัติตนตาม ไตรรัตน์ คือ ความเชื่อที่ถูกต้อง ความรู้ที่ถูกต้อง ประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักของศาสนาเชน

          ศาสนาเชนปฏิเสธอำนาจและหลักปฏิบัติของพระเวท ประนามแนวคิดเทพเจ้าสร้างโลก จักรวาลไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ พระเจ้าเป็นเพียงความดีงามอันสูงส่งที่ประจักษ์ในจิตวิญญานของตัวเรา ศาสนาเชนมีปรัชญาความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด สังสารวัฏ เช่นเดียวกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทุกชีวิต มนุษย์ สัตว์ พืช จุลินทรีย์ มิอาจดับสูญ ไม่เว้นแม้กระทั่งธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ล้วนแต่ต้องพึ่งพาตนเอง ไม่สามารถพึ่งพาชีวิตอื่นได้ ทุกชีวิตมี กรรม (Karma) อันเป็นผลของการกระทำที่จะส่งผลให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด สิ่งต่างๆ ที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ล้วนมีวิญญาณตามระดับชั้นแห่งการรับรู้

          หลักการเบื้องต้นแห่งการปฏิบัติทางด้านศืลธรรม คือ การไม่กระทำทารุณกรรม ไม่ประทุษร้ายต่อสรรพสิ่งที่มีชีวิต มนุษย์ สัตว์ จุลชีพ และ พืช ต้องเป็นมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด โลกีย์ทำให้วิญญาณไม่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอันเนื่องมาจาก กรรม (Karma) ที่ได้เคยก่อไว้ กิเลศคือตัวตนเราเอง ยิ่งทรมานตนมากเท่าไร ก็จะชนะกิเลสมากเท่านั้น

          ศาสนาเชนแบ่งออกเป็นนิกายหลัก สองนิกาย คือ

เศวตคัมพร (Svetambaras) นุ่งห่มขาว นักบวชฉันต์อาหารก่อนพระอาทิตตกดิน รับอาหารจากผู้ถวายด้วยบาตร พำนักประจำในอาราม จาริกแสวงบุญเป็นครั้งคราว แตกเป็นนิกายย่อย 84 นิกาย

ทิฆัมพร (Digambaras) นุ่งลมห่มฟ้า หรือ ผู้ที่ไม่นุ่งห่มอาภรณ์ใดๆ นักบวชมีสมบัติติดตัวเพียงไม้กวาดหางนกยูงสำหรับปัดกวาดแมลง กาน้ำสำหรับบรรจุน้ำดื่ม ฉันต์อาหารมื้อเดียว รับอาหารจากผู้ถวายด้วยฝ่ามือ ไม่พำนักในอารามเว้นแต่เข้าพรรษา นอกนั้นเดินทางจาริกเผยแพร่ธรรม เป็นนิกายสุดโต่ง แตกเป็นนิกายย่อย 5 นิกาย

          หัวใจของศาสนาเชน คือ หลัก อหิงสา (Ahimsa) การที่มนุษย์ละเว้นการฆ่า การทำร้าย และการเบียดเบียนทุกรูปแบบ ทั้งในความคิด วาจา การกระทำ ผู้นับถือศาสนาเชนจึงเป็นมังสะวิรัตโดยสมบูรณ์ โดยมีพืชบางชนิดต้องห้ามตามวิถีของศาสนาเชน พืชลงหัว เช่น หัวมันต่างๆ หัวหอม หัวกระเทียม รากไม้ หน่อไม้ ถือว่ายังมีชีวิต การกินพืชเหล่านี้ถือเป็นการทำลายชีวิตพืชนั้นๆ ในทันที ซึ่งตรงข้ามกับธัญพืช เช่น ถั่ว งา ข้าว ต่างๆ จะเหี่ยวแห้งตาย คือ สิ้นอายุขัยหลังจากได้ผลิดอกออกผลเป็นเมล็ดแล้ว

          นักบวชผู้ปฏิบัติ สิ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง ได้ชื่อว่า อรหันต์

          ศาสนาเชนจำกัดตัวเองอยู่แต่ในประเทศอินเดีย ไม่พยายามเผยแพร่ออกไปนอกประเทศ แม้นกำเนิดในแคว้นเวสาลี และ แคว้นมคธ แต่กิจกรรมต่างๆ เคลื่อนไหวตื่นตัว และมีผู้นับถือจำนวนมากในแคว้น Gujarat, Malawa และ Rajputana

          ศาสนาเชนมีอิทธิพลต่ออารยธรรมของอินเดียใต้มาก วรรณกรรม และ วรรณคดียุคแรกๆ ที่เป็นภาษา Kanaresa และ Tamil ล้วนประพันธ์โดยนักบวชในศาสนาเชน คำสอนหลัก อหิงสา (Ahimsa) เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีอิทธิพลต่อศาสนาอื่นมาก ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้นำไปผนวกเป็นข้อกำหนดของศาสนาตน และ ศาสนาพุทธได้นำหลักการนี้ไปปรับใช้เช่นกัน แต่ไม่เข้มงวดนัก

          ความที่ศาสนาเชนเป็นศาสนาที่มีหลักปฏิบัติเข้มงวดมาก ยากที่คนธรรมดาสามัญจะปฏิบัติได้ครบถ้วน ต่อมาจึงได้มีการปรับให้เหมาะสม โดยยอมให้กฏและศีลของฆราวาสไม่เข้มงวดเท่าของนักบวช ที่สำคัญ คือ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ล้วนมีวิญญาณ นักบวชและผู้นับถือศาสนาเชนต้องมีผ้าปิดปาก เพื่อป้องกันแมลงตัวเล็กๆ และ จุลินทรีย์ มิให้ถูกทำลายชีวิตจากการหลุดเข้าปาก เป็นการฆ่าโดยไม่ตั้งใจ เวลาเดินไปในที่ต่างๆ ต้องปัดกวาดไปข้างหน้า เพื่อป้องกันการเดินเหยียบมดหรือแมลง ในฤดูฝนพืชต่างๆ เจริญงอกงามไปทั่ว นักบวชและผู้ทรงศีลจะไม่เดินทางธุดงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้ไปเหยียบย่ำ ต้นพืช ต้นหญ้า และ แมลงต่างๆ ที่มีอยู่ชุกชุม ด้วยเหตุนี้ ศาสนาเชนจึงกำหนดเป็นกฎ และบังคับให้นักบวชต้องอยู่ในพรรษา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เมื่อย่างเข้าฤดูฝน ห้ามเดินทางจาริกไปในที่ต่างๆ

          จากความเข้มงวดในกฎเกณดังกล่าว จึงไม่มีศาสนิกชนชาวเชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพราะการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร มีความเสี่ยงที่จะไปเบียดเบียนที่อยู่อาศัย และทำลายล้างสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้พื้นดิน ถือเป็นการกระทำผิดต่อ หลักอหิงสา ศาสนิกชนชาวเชน จึงประกอบอาชีพ นักข่าว เจ้าของหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ โรงพิมพ์ นักวิชาการ นักการศึกษา เจ้าของสถานศึกษา นักกฏหมาย พ่อค้า นักธุรกิจ นักพัฒนาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ นักอุตสาหกรรม นายธนาคาร ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ศาสนิกชนชาวเชนจึงเป็นผู้ที่มีความรู้สูง ฐานะดี มีความมั่งคั่ง ร่ำรวยที่สุดในหมู่ชนชาวอินเดียทั้งปวง ทั้งที่ศาสนิกชนชาวเชนเป็นขนกลุ่มน้อยที่สุดในประเทศ คือ มีเพียง 5 ล้านคนของประขากรในประเทศอินเดีย ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นกลุ่มชนเล็กๆ ปรับตัวเข้ากับสถานะการณ์ต่างๆได้ดี ทั้งๆ ที่ในอดีตต้องดิ้นรนต่อสู้ทางความคิดกับ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาพุทธ และ ทำสงครามปกป้องตนเองกับผู้รุกรานชาวอิสลาม ซึ่งจองล้างจองผลาญย่ำยีลัทธิความเชื่อของศาสนาอื่น

          หลักของศาสนาเชน ประนามระบบวรรณะ แต่ในทางปฎิบัติกลับปรับตัวแบ่งรับแบ่งสู้ยอมให้มีระดับชนชั้นของนักบวชที่มาจากต่างวรรณะ นักบวชเชนที่มาจากวรรณะพราหมณ์จะมีลำดับสูงกว่าผู้ที่มาจากวรรณะอื่น ความยืดหยุ่นนี้ คือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาสนาเชนสามารถดำรงคงอยู่ได้ในแดนเกิดประเทศอินเดียตราบถึงทุกวันนี้











ศาสนาพุทธ (Buddhism)
          พระโคตะมะ (Gautama) วรรณะกษัตริย์ (Kashatriya) เป็นราชโอรสของกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสต์ (Kapilavastu) แห่งแคว้นสักกะ หรือ อีกพระนามหนึ่ง ศากยามุนี (Sakyamuni) นักบวชแห่งตระกูลศากยา ชีวิตแรกเกิดไม่ต่างไปจาก พระปารศวะนาท (Parsvanath) และ พระมหาวีระ (Mahavira) เมื่อวัยหนุ่มมักครุ่นคิดไตร่ตรองเกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิต ผู้คนที่มีทั้งทุกข์และสุข ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากสักกะเป็นแคว้นเล็ก ถูกกดดันภายใต้อิทธิพลของแคว้นข้างเคียงที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะแคว้นโกศล ขัดแย้งแย่งน้ำชลประทานเพื่อการเกษตร อยู่เนืองๆ เนื่องจากแคว้นสักกะตั้งอยู่เหนือน้ำ

          อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ไม่ยินดีต่อสถานะภาพความเป็นมกุฏราชกุมาร (Crown Prince) ความสุขสำราญ หรูหราฟุ่มเฟือยที่มีอยู่ จีงได้ตัดสินพระทัยสละละทิ้งพระราชวังและครอบครัว เมื่อพระชนมายุ 29 ออกไปศึกษาค้นหาเหตุแห่งความทุกข์ ดั้นด้นเดินทางแสนไกลไปทางใต้สุด พำนักอยู่ในแคว้นมคธ (รัฐพิหาร ประเทศอินเดียปัจจุบัน) ซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ ตั้งอยู่ในชัยภูมิแข็งแกร่งด้วยเนินเขาล้อมรอบ มีความเข้มแข็งกร้าวร้าว มักขัดแย้งกับแคว้นข้างเคียง ถึงขั้นกระทำสงครามต่อกันบ่อยครั้ง

          ณ ที่นั้น ได้ศึกษาหลักปรัชญากับผู้รู้หลายสำนัก แต่ก็ไม่เป็นที่สบพระทัย จากนั้น จึงหันไปปฏิบัติตนตามหลักของ ศาสนาเชน บังคับจิตด้วยการทรมานกาย ตามหลักปฏิบัติและวิธีการอดอาหารของ พระปารศวะนาท (Parsvanath) ผลลัพธ์ คือ ความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ร่างกายผ่ายผอมอ่อนเพลียอิดโรย ไม่เกิดความรู้แจ้งใดๆ แต่โดยที่จิตของพระองค์ยังคงตั้งมั่นมุ่งไฝ่หาความรู้ความเข้าใจของแก่นแท้แห่งชีวิต ซึ่งต่างจากเหล่าสาวกของศาสนาเชนทั้งหลาย ตั้งจิตมั่นแต่ในหลักปฏิบัติของศาสนาเชน มุ่งทรมานร่างกายด้วยการอดอาหาร เพื่อให้จิตค่อยๆ อ่อนแรง สงบและดับ ตายไปในที่สุด เพื่อบรรลุ นิพพาน (Nirvana) ตามวิถีของศาสนาเชน

          พระองค์ทรงเห็นว่า ชีวิตมีค่า ไม่ควรฝืนธรรมชาติ ชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหาร ต้องพยายามเพียรค้นหาต่อไป จึงได้ล้มเลิก ละการปฏิบัติตามวิถีของศาสนาเชน ตัดสินใจกลับมาเสวยอาหารเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวดั่งเดิม ใช้เวลานานอยู่หลายเดือน เมื่อร่างกายฟื้นตัวแข็งแรงสมบูรณ์ดีแล้ว จึงได้ไปหาที่สงบใต้ต้นโพธ์ใหญ่ในเขต คยา (Gaya) ทบทวนชีวิตจากประสพการณ์ต่างๆ ในอดีตที่พบพาน ลำดับสาเหตุและผลที่เกิดตามมาของเหตุการต่างๆ เหล่านั้น วิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่รอบกาย ทบทวนกลับไปกลับมาหลายรอบ ในที่สุดก็ค้นพบความจริง กฏของธรรมชาติ มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ลำดับขั้นตอนก่อนหลัง ที่มาที่ไปให้ถูกต้อง ทำใจให้เป็นกลาง ไม่โอนเอนตามแนวคิดความเชื่อของลัทธิใด มนุษย์และธรรมชาติเป็นตัวกำหนดความจริงของชีวิต มิได้ขึ้นอยู่กับพระเจ้า หรือเทพเจ้า ทุกข์และสุขล้วนเกิดจากการกระทำของตัวเรา ถ้ามีการกระทำก็จะก่อให้เกิดผล ดี หรือ ไม่ดีตามมา ถ้าไม่มีการกระทำ ย่อมไม่เกิดผล เว้นแต่ความทุกข์บางอย่างอาจเกิดจากการถูกกำหนด จำกัดสิทธิ์จากผู้อื่น เช่น การแบ่งชั้น วรรณะ หรือ จากธรรมชาติ เช่น วัย สังขาร โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ พระองค์ได้ตั้งพระทัยจะใช้ชีวิตที่มีอยู่เพื่อมุ่งเผยแพร่ กฏความจริงแห่งธรรมชาติ แก่ผู้คนเพื่อได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของชีวิต

          พระองค์ได้เดินทางไปยังสารนาท (Saranath) ใกล้เมืองพาราณสี (Benares) ณ ที่แห่งนั้น มีผู้ศรัทธาเข้าร่วมบวชเป็นสาวก และติดตามพระองค์จำนวน 5 รูป เป็นจุดเริ่มต้นเกิดเป็นคณะสงฆ์ในเวลาต่อมา

          เนื่องจากพระองค์มีความคุ้นเคยพื้นที่ในแคว้นมคธ แรกๆ พระองค์ได้เพียรพยายามเผยแพร่ทำความเข้าใจ และสั่งสอนหลักความจริงเหล่านี้อยู่หลายปี ทว่าเป็นไปโดยยาก เพราะแคว้นมคธเป็นฐานที่ตั้งหยั่งรากลึกอย่างมั่นคงของศาสนาเชน ซึ่งได้ปักหลักอยู่มาก่อนที่พระโคตะมะจะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ปฎิบัติตนจนบรรลุพระสัมโพธิญาณ ประการสำคัญ พระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นมคธในขณะนั้น ให้ความอุปถัมภ์ศาสนาเชน ขณะเดียวกันพระองค์ถูกขัดขวางจากลัทธิตรงข้ามต่างๆ นาๆ ต้องปกป้องภัย ดั่งเหตุการ ยมกปาฏิหารย์ปราบช้างนาลาคีฬี ในที่สุด ตัดสินใจเดินทางขึ้นเหนือ ประกาศศาสนาตามแว่นแคว้นใกล้เคียงต่างๆ หากเจ้าผู้ครองแคว้นใดให้การอุปถัมภ์จะพำนักอยู่นาน รวมเป็นเวลา 45 ปี ตลอดเวลานั้น พระองค์ไม่เคยหวลกลับมายังแคว้นมคธ

          พระองค์มีสาวกและสานุศิษย์มากมาย ทรงได้รับสมญานาม พระพุทธเจ้า (Buddha) ผู้เป็นแสงสว่าง ให้ความกระจ่าง

          พระพุทธเจ้าทรงห่วงใยพระญาติและผู้คนของเมืองกบิลพัสต์ ทรงกังวลความขัดแย้งระหว่างแคว้นมีมาแต่เดิม ซึ่งพระองค์ได้เคยเสด็จไปขัดขวาง ขอร้อง ห้ามทัพแคว้นโกศลหลายครั้ง บั้นปลายชีวิตพระองค์ต้องการไปพำนักยังถิ่นกำเนิดเพื่อปกป้องเหล่าประยูรญาติ จึงได้เดินทางรอนแรมมุ่งไปยังกรุงกบิลพัสต์ ระหว่างทางเกิดอาพาธต้องแวะพักรักษาพระวรกายที่เมืองเล็กๆ กุสินารา (Kusinagara) อยู่หลายเดือน ทรงอาพาธหนัก ในที่สุดนิพพาน ณ ที่แห่งนี้ ศิริพระชนมายุ 80 ปี จึงเป็นที่น่าเสียดายที่พระองค์ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะก่อนหน้าที่พระองค์จะนิพพานสองเดือน แคว้นโกศลได้ส่งกองทัพไปทำลายล้างตระกูลศากยา และกรุงกบิลพัสต์

          บันทึกของศรีลังกาเชื่อว่าพระพุทธเจ้านิพพาน 544 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ 2558 ปี แต่ Geiger ระบุว่า 483 ปี ก่อนคริสต์ศักราช หรือ 2497 ปี แต่บันทึกของจีนโบราณระบุ 486 ปี ก่อนคริสต์ศักราช หรือ 2500 ปี จากการศึกษาบันทึกและหลักฐานอ้างอิงเหล่านี้ นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญ และยอมรับบันทึกของจีนมากกว่าข้ออ้างจากบันทึกอื่นๆ

          หลักคำสอนของศาสนาพุทธ คือ ความทุกข์ต่างๆ ล้วนมาจากความอยากได้อยากมี รัก โลภ โกรธ หลง หรือ ที่เรียกว่า กิเลส ตัณหา ราคะ โลกีย์ หากหยุดอารมณ์ความู้สึกเหล่านี้ได้ ย่อมหยุดความทุกข์ได้ การที่จะหยุด กิเลส ตันหา ราคะ โลกีย์ ต้องมีวินัย ควบคุมตนเอง รู้จักทบทวนปฏิบัติตนให้มีสติ สำรวม บำเพ็ญสมาธิในภาวะที่พอเหมาะ ไม่เข้มงวดเหมือนของศาสนาเชน คือ ให้เดินสายกลาง ต้องไม่เป็นการทรมานร่างกายเข้มข้นถึงตาย เพราะชีวิตมีค่า ปฏิบัติเพื่อให้รับรู้ จะได้ หมดกรรม หากปฏิบัติได้ตามนี้ ย่อมหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่ นิพพาน (Nirvana) สภาวะของการดับสูญอย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องกลับมาเกิด

          ศาสนาพุทธยอมรับกฏแห่ง กรรม (Karma) ของศาสนา พราหมณ์-ฮินดู (Brahmanical Hinduism) ที่ว่า สถานะของบุคลคลที่มีชีวิตเป็นอยู่ ย่อมสืบเนื่องมาจากเหตุแห่งกรรม ที่ได้เคยกระทำมาแต่เก่าก่อน หรือชาติปางก่อน ดั่งห่วงโซ่ที่ถูกร้อยเรียงกัน ในทำนองเดียวกันศาสนาพุทธก็มีหลักการเช่นเดียวกับศาสนา เชน (Jain) คือ ยอมรับการมีชีวิตของสรรพสัตว์ ไม่มีการแบ่งชั้น ปฏิเสธวรรณะ เพิกเฉยไม่ให้ความสำคัญต่อการมีตัวตนของพระเจ้าผู้สร้างโลก

          พระพุทธเจ้าโจมตีลัทธิความเชื่อที่งมงาย ตำหนิพิธีกรรมและเล่ห์ของนักบวช ประณามผู้ที่มีผลประโยชน์ได้เสียกับเรื่องเหล่านี้ นอกจากนี้ยังโจมตีแนวความคิดที่ส่งเสริมเทววิทยาและปาฏิหาริย์ต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงเน้นหนักเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ให้ยึดมั่นใน ตรรกะ (logic) หลักแห่งเหตุผล และ ประสพการณ์ มุ่งสอนให้ปฏิบัติจิต ปฏิบัติตนให้อยู่ใน ศีล (Silas) ต้องยึดมั่นและปฏิบัติเป็นหลัก หมั่นทำ สมาธิ (Samadhi) เพื่อให้จิตสงบ และ วิปัสสนา (Prajna) เพ่งพิจารณาตนเองจากภายใน เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งในตัวตน

          นักบวชผู้ปฏิบัติตน หมดสิ้นกิเลสทั้งปวง ได้ชื่อว่า อรหันต์ เช่นเดียวกับศาสนาเชน

          พระพุทธเจ้าไม่เคยอวดอ้างตนเป็นผู้วิเศษ ไม่แสดงธรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระผู้เป็นเจ้า มุ่งเน้นย้ำให้เหล่าสาวกสานุศิษย์ยึดถือ เชื่อ ปฏิบัติตามการชี้นำและคำสอนของพระองค์ ห้ามยึดถือตัวตนของพระองค์ว่าเป็นพระเจ้า ไม่สรรเสริญ ไม่อ้อนวอน ไม่บนบานร้องขอ ตนเท่านั้น เป็นที่พึ่งแห่งตน

          เมื่อก่อนโน้น ศาสนาพุทธก็เหมือนกับลัทธิความเชื่ออื่นๆ นิยมยอมรับเฉพาะที่เฉพาะถิ่นของแคว้นต่างๆ ในภาคเหนือ กลุ่มชนส่วนใหญ่นับถือ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแนวพระเวท ส่วนศาสนาเชนและศาสนาพุทธเป็นเพียงกลุ่มเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาพุทธเป็นกลุ่มที่เล็กกว่าศาสนาเชน เพราะกำเนิดทีหลังและเพิ่งเข้ามาเผยแพร่ ต่อเมื่อ พระเจ้าอโศก (Asoka) แห่งแคว้นมคธ ซึ่งแต่เดิมพระองค์นับถือศาสนา เชน (Jain) ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ พระองค์ได้ส่งเสริมและกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของแผ่นดิน เผยแพร่ไปทั่วอาณาจักร ส่งเหล่าธรรมทูตของศาสนาพุทธไปเผยแพร่ในต่างแดน แต่นั้นมา ศาสนาพุทธจึงรุ่งเรืองได้รับความนิยมนับถือไปทั่วชมภูทวีปและประเทศใกล้เคียง เนื่องจากกษัตริย์และราชวงศ์ต่างๆ ให้ความอุปถัมภ์ ในขณะเดียวกันศาสนาพุทธเองก็ได้ปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับและเข้ากันได้กับ แนวคิด แนวปฏิบัติ และ วิถีชีวิตของชนต่างถิ่นต่างภูมิประเทศ ที่สำคัญคือ นิกาย มหายาน (Mahayana) ได้ผนวกความเชื่อในเทพเจ้า วิถีปฏิบัติของพราหมณ์และโซโลแอสเตอร์ (Zoroastrianism ลัทธิบูชาไฟ ของชาวเปอร์เชีย) เพื่อให้เข้ากันได้กับความเชื่อของชนในถิ่นที่เผยแพร่ไปถึง ส่วนนิกายดั้งเดิม คือ หินยาน หรือ เถรวาท (Theravada) เป็นนิกายที่ยึดและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ความสำคัญของทั้งสองนิกายนี้ คือ การมี สถาบันสงฆ์ (Sangha) มีการพัฒนาจัดการและบริหารอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ศาสนาพุทธแพร่กระจายขยายตัวไปทั่ว บนหลักการของศาสนาที่เน้นการให้ ความเสมอภาค ปราศจากข้อห้ามกีดกันใดๆ ให้ความเอื้ออารี ปรองดอง ไม่กร้าวร้าว พึ่งตนเอง พินิจวิเคราะห์แก้ปัญหาด้วยเหตุและผลบนพื้นฐานและหลักการของธรรมชาติ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธ จึงมีผู้คนจำนวนมากได้เปลี่ยนมานับถือ

          ความสำเร็จของพระพุทธเจ้า รูัจักใช้ประโยชน์ โดยสารความเชื่อดั้งเดิม เรื่องกรรม (Karma) ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เฉกเช่นเดียวกันก้บศาสนาเชน เพื่อเป็นตัวตั้งต้นมูลเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ให้มุ่งสู่นิพพาน (Nirvana) ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม และรับเอาหลักปรัชญา อะหิงสา (Ahimsa) ของศาสนาเชน เพื่อให้เหล่าสาวกของพระองค์มีจิตใจอ่อนโยน มีเมตตา พระองค์ทรงกำหนดหลักปฏิบัติให้อยู่กึ่งกลาง ระหว่างศาสนาเชนและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ ให้เดินสายกลาง ไม่เข้มข้น แต่สำรวม ยึดหลักจริยธรรม เน้นการปฏิบัติด้านศีลธรรมมากกว่ากฏเกณฑ์ข้อบังคับ

          ส่วนความสำเร็จของเหล่าธรรมทูตของพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งมาจากบุคคลิกเฉพาะตัว วางตนเฉกเช่นมนุษย์ปุถุชน เทศนาดลใจ เปิดกว้างให้ผู้สนใจ เข้าใจง่าย เข้าถึง มีอิสระในการประกอบกิจทางศาสนา ไม่สิ้นเปลืองไม่ฟุ่มเฟือยในการทำพิธีกรรม ผู้อยู่ในวรรณะต่ำได้รับการยกระดับสถานะทางสังคม ชีวิตโดยรวมทางสังคมจึงมีความสงบสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น

          ความเสื่อมถอยของศาสนาพุทธในอินเดียเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปจากเหตุหลายประการ

ประการแรก เหล่าพราหมณ์ ซึ่งเป็นปรปักษ์อยู่ก่อนแล้ว ยังคงรักษาความเชื่อในลัทธิพราหมณ์ของหมู่ตน มิได้เหือดหายไปในยุคที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองถึงขั้นเป็นศาสนาหลักของอาณาจักร พราหมณ์ยังคงมีอิทธิพลเหนืออำนาจการปกครองอย่างเงียบๆ กาลเวลาที่ผ่านไปเริ่มเข้มแข็งและเด่นชัด กล่าวคือ เมื่อสิ้นราชวงศ์โมรียะ พระเจ้าปุสยามิตร (Pushyamitra) ได้สถาปนาราชวงศ์ ศุงกะ (Sunga) กษัตริย์ในราชวงศ์นี้ นับถือและส่งเสริมฟื้นฟูศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อารามและศาสนะสถานของชาวพุทธหลายแห่งถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่สำคัญที่สุด คือ ในสมัยราชวงศ์ คุปตะ (Gupta) ได้เกิดการปฏิรูปศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นการใหญ่ นำโดย กุมารลิลละ ภัตต์ (Kumarilla-bhatta) ได้เพิ่มสมมุติเทพอีกสองพระองค์ พระพรหม และ พระวิศณุ (พระนารายณ์) มีหน้าที่พิทักษ์ทุกข์สุขมวลมนุษย์ ผนวกเข้ากับพระศิวะ มหาเทพที่มีมาแต่เดิม เรียกว่าตรีมูรติ (Trimurti)

ประการที่สอง กาลเวลาที่ผ่านมา ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (Brahmanical Hinduism) ได้ค่อยๆ ปรับ และ รับแนวคิดของศาสนาพุทธเข้าไปผสมผสาน ที่สำคัญ ได้กำหนดให้พระพุทธเจ้าเป็นพระนารายณ์อวตารองค์ที่เก้า เสด็จลงมาปราบยุคเข็ญในโลกมนุษย์

ประการที่สาม การปฏิบัติทางจิตและควบคุมตนเองตามแนวทางของศาสนาพุทธ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน นั้น ยากที่จะก่อให้เกิดความมั่นใจแก่สามัญชนระดับล่าง เพราะคนหมู่มากยังยึดติดการบูชา สวดอ้อนวอน บนบานร้องขอต่อสิ่งศักดิสิทธิ์

ประการที่สี่ เกิดการคอรับชั่นในหมู่และสถาบันสงฆ์ เนื่องจาก การส่งเสริม รณรงค์ให้พุทธศาสนิกชน เน้นการทำบุญด้วยการถวายจตุปัจจัย เงินทอง เพื่อสั่งสมบุญบารมีใว้ในภพหน้า แต่เดิม นั้น พระวินัยกำหนดให้สงฆ์รับแต่อาหารเพื่อการยังชีพ ยังความมั่งคั่งแก่สถาบันสงฆ์ พุทธสถานใหญ่โตโอฬาร นักบวชสะสมเงินทอง ผู้มีความรู้ถูกเมินไม่เป็นที่น่านับถือ บ้างก็เห็นแก่ความมั่งคั่งได้แยกตนออกไปตั้งนิกายใหม่ เสนอแนวคิดการปฏิบัติศาสนะกิจที่เอื้อและเอาใจผู้ศรัทธา

ประการที่ห้า เหล่าผู้รุกรานจำนวนมากจากต่างแดนเข้ามาในอินเดียช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 และ 11 ต่างนิยมชมชอบศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมากกว่า เพราะศาสนาพุทธไม่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ไม่ส่งเสริมภาวะผู้นำ ไม่คาดหวังอนาคต ให้หยุดตัวเองเพื่อดับทุกข์ มุ่งแต่นิพพาน

ประการสุดท้าย ศาสนาพุทธถูกทำลายล้างผลาญโดยกองทัพมุสลิมผู้รุกราน จากความอ่อนแอ ปราศจากการต่อต้านปกป้องใดๆ พุทธสถาน อาราม สถาบันการศึกษาเป็นที่สั่งสมความมั่งคั่งร่ำรวย ถูกปล้นเผาทำลาย เหล่านักบวชต่างพากันหลบหนีภัยเอาตัวรอด ไปพึ่งพิงอารามในแคว้นเล็กๆ บนภูเขาหิมาลัยที่ห่างไกล อาทิ เนปาล ภูฐาน สิกขิม อัสสัม มีผลต่อความวิบัติ ทำให้ศาสนาพุทธสูญสลายไปจากชมภูทวีปในเวลาอันรวดเร็ว จากขาดความสามัคคี ไม่เป็นอันหนึ่งเดียวกัน เนื่องจากแตกแยกหลากหลายนิกาย สาเหตุที่สำคัญ คือ ศาสนาพุทธมิได้สอนให้ชาวพุทธรู้จักต่อสู้ปกป้องตนเองจากอิทธิพลภายนอก ภัยคุกคามจากต่างลัทธิ กอร์ปกับปราศจากผู้คิดกอบกู้ ฟื้นฟูพุทธศาสนา ต่างจาก ศาสนาฮินดู และ ศาสนาเชน มีความสามัคคี ยืนหยัด สู้รบ ปกป้อง ฟื้นฟู จึงยังคงอยู่คู่ประเทศอินเดียตราบทุกวันนี้

          ด้วยเหตุเหล่านี้ ศาสนาพุทธจึงได้สูญไปจากแดนเกิดประเทศอินเดีย









ความแตกต่างระหว่าง ศาสนาเชนกับศาสนาพุทธ

          ศาสนาเชน และ ศาสนาพุทธ ล้วนมีรากเหง้ามาจาก ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (Brahmanical Hinduism) ทั้งสองศาสนามีความคล้ายคลึงกัน มีหลักปฏิบัติของชีวิตเพื่อให้บรรลุถึงความรู้ที่ไม่มีตัวตน ด้วยวิถีการปฏิบัติตน ให้เป็นกลางต่อสภาวะของโลกีย์ที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ใช่แต่เท่านั้น ทั้งสองศาสนาต่างมีการควบคุมจัดการและรวมกลุ่มของตน โดยมีระบอบคณะสงฆ์ผู้ปฏิบัติพรหมจรรย์และนักบวช ทั้งสองศาสนาต่างปฏิเสธหลักการ อำนาจของ พระเวท (Vedas) และ การอ้างสิทธิผูกขาดของพราหมณ์อย่างสิ้นเชิง ทั้งสองศาสนาปฏิเสธการบูชายัญ ยืนกราน สั่งสอนให้รับรู้และยอมรับการมีชีวิตของสรรพสัตว์ นี่คือ สิ่งที่สองศาสนามีการปฏิรูปที่เหมือนกัน แต่ในความเหมือนกันนี้กลับมีความแตกต่างในทางปฏิบัติ ผู้นับถือของสองศาสนานี้ต่างศึกษาคำสอน ประพฤติ และ ปฏิบัติตนให้เป็น คนใจบุญ ในวิถีทางที่แตกต่างกัน เช่น ศาสนาเชนให้ความสำคัญต่อฆราวาส แต่ศาสนาพุทธให้ความสำคัญต่อการปกครองของคณะสงฆ์และบทบัญญัติของศาสนา ความแตกต่างที่สำคัญที่สุด คือ ศาสนาเชนเป็นระบบปฏิบัติทางจริยธรรมอย่างเข้มงวด เน้นหนักแนวดำเนินชีวิตและความนึกคิดที่เคร่งครัดแบบนักพรต รับรอง ยอมรับวิธีการทรมานตน เพื่อทำให้ร่างกายหมดความรู้สึกรับรู้แห่ง กิเลส ตันหา โลกีย์ หรือ การค่อยๆ อดอาหารและตายจากไปในที่สุด เพื่อเข้าสู่ภาวะแห่ง นิพพาน (Nirvana) ซึ่งศาสนาพุทธรังเกียจวิธีการดังกล่าว จึงมุ่งเน้นแต่การควบคุมตนเอง ประพฤติปฏิบัติตามกฏแห่งศีลเพื่อบรรลุถึงนิพพาน สุดท้าย ศาสนาเชนรับเอาแนวคิดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น การแต่งงาน การรับรู้วรรณะ ตามข้อเท็จจริงแล้วศาสนาเชนมิได้ออกห่างไปจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งต่างจากศาสนาพุทธที่พัฒนาตนเองให้มีอิสระและออกห่างจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมากกว่า


**********


          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ท่านสามารถนำ ข้อเขียน เนื้อหา ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแจ้งแต่ประการใด ส่วนภาพประกอบในสาระน่ารู้เหล่านี้ได้คัดลอกมาจาก Internet Public Domains บางภาพอาจมีลายน้ำต้องคงไว้เป็นตัวอ้างอิงถึงที่มา ต้องให้ Credit แก่เจ้าของภาพ และ www.dandinth.com เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่

กลับไปหน้าหลัก