เก็บออมเหรียญกษาปณ์เพื่อการลงทุน สำหรับเด็ก


กระปุกธนาคารออมสิน ที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาพิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒


          เด็กๆ คงได้เรียนรู้และเข้าใจคำว่า เก็บออมเงิน ซึ่งกระทำได้สองวิธี คือ

          วิธีที่หนึ่ง เก็บออมเงินไว้ในกระปุกออมสินปั้นจากดิน รูปสัตว์ ผลไม้ หรือ กล่องออมสินที่ทำจากวัสดุอื่น เมื่อเต็มหรือได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ ก็จัดการกระเทาะ นำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์

          วิธีที่สอง เก็บออมเงินไว้ในกระปุกออมสินที่ได้รับแจกจากธนาคารออมสิน เมื่อเต็มก็นำไปให้เจ้าหน้าที่ธนาคารกระเทาะแกะนำเงินออกไปเข้าบัญชีเงินฝากประจำ จากนั้นก็รับกระปุกออมสินใบใหม่มาเพื่อเริ่มออมเงินต่อ

          การเก็บออมเป็นหลักการที่ดี เพื่อเพาะบ่มให้เด็กมีนิสัยรักการออมและปลูกฝังความดีงาม การเก็บออมคือการ สะสมจำนวนเงิน เก็บออมมากจำนวนเงินที่สะสมก็จะเพิ่มมากขึ้น ถ้าไม่เพิ่มการเก็บออม จำนวนเงินของการออมก็ไม่เพิ่มขึ้น ส่วนการฝากเงินคือการ ซื้อเวลา นำเงินจำนวนหนึ่งจากการเก็บออมไปฝากกับธนาคาร หากฝากไว้นานก็จะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ยิ่งนานก็ยิ่งได้ดอกเบี้ยมากขึ้น ยอดเงินที่มีอยู่ คือ จำนวนเงินฝาก + ดอกเบี้ยที่ได้รับ

          จากวิธีที่สอง ในส่วนที่นำเงินจากกระปุกออมสินไปฝากธนาคารนี้ เคยคิดบ้างใหมว่า ยังมีวิธีอื่นที่ดีกว่า เด็กๆ ลองมาทำความเข้าใจกับสิ่งทีนำเสนอต่อไปนี้

          เงินที่หยอดใส่กระปุกออมสินอาจจะมีทั้งธนบัตรและเงินเหรียญกษาปณ์ ขนาดต่างๆ ลองพิจารณารูปเหรียญกษาปณ์ไทยในภาพ ซึ่งสำนักกษาปณ์ กระทรวงการคลังได้ผลิตออกมาเพื่อใช้หมุนเวียนเป็นจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่านไปนานวัน ราคาซื้อขายของนักสะสมเหรียญกษาปณ์จะให้ราคามากกว่าราคาหน้าเหรียญกษาปณ์นั้นๆ




          เหรียญฯ หมายเลข 9 พ.ศ. 2500 เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน รุ่นแรก ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 200 - 300 บาท เก็บสะสมไว้ 60 ปี กำไร 199 - 299 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 10 พ.ศ. 2504 เหรียญษาปณ์ที่ระลึก เสด็จนิวัติพระนคร ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 200 - 400 บาท เก็บสะสมไว้ 56 ปี กำไร 199 - 399 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 11 พ.ศ. 2505 เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 50 - 100 บาท เก็บสะสมไว้ 55 ปี กำไร 49 - 99 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 12 พ.ศ. 2506 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก พระชนมายุครบ 3 รอบ ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 300 - 500 บาท เก็บสะสมไว้ 54 ปี กำไร 299 - 499 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 13 และ 14 พ.ศ. 2509 และ 2513 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 และ 6 ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 150 - 300 บาท เก็บสะสมไว้ 47 - 51 ปี กำไร 149 - 299 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 15 พ.ศ. 2515 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก F.A.O. ไถนา ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 150 - 350 บาท เก็บสะสมไว้ 45 ปี กำไร 149 - 349 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 16 พ.ศ. 2515 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก มหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฏราชกุมาร ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 300 - 600 บาท เก็บสะสมไว้ 45 ปี กำไร 299 - 599 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 17 พ.ศ. 2516 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก W.H.O. ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 500 - 1000 บาท เก็บสะสมไว้ 44 ปี กำไร 499 - 999 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 18 พ.ศ. 2517 เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ครุฑพ่าห์ ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 100 - 300 บาท เก็บสะสมไว้ 43 ปี กำไร 99 - 299 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 19 พ.ศ. 2518 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก สมเด็จฯ ย่า 75 พรรษา ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 80 - 200 บาท เก็บสะสมไว้ 42 ปี กำไร 79 - 199 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 20 พ.ศ. 2518 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เชียพเกมส์ ครังที่ 8 ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 100 - 250 บาท เก็บสะสมไว้ 42 ปี กำไร 99 - 249 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 21 พ.ศ. 2520 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก F.A.O. หว่านข้าว ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 500 - 1000 บาท เก็บสะสมไว้ 40 ปี กำไร 499 - 999 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 22 พ.ศ. 2520 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก พระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 150 - 300 บาท เก็บสะสมไว้ 40 ปี กำไร 149 - 299 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 23 พ.ศ. 2520 เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน สุพรรณหงษ์ ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 50 - 100 บาท เก็บสะสมไว้ 40 ปี กำไร 49 - 99 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 24 พ.ศ. 2520 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก พระเทพฯ บัณฑิตพระองค์แรก ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 100 - 200 บาท เก็บสะสมไว้ 40 ปี กำไร 99 - 199 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 25 พ.ศ. 2521 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก สมเด็จพระบรมฯ จบการศีกษา ร.ร. เสธ ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 200 - 300 บาท เก็บสะสมไว้ 39 ปี กำไร 199 - 299 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 26 พ.ศ. 2525 เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน วัดพระแก้ว ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 30 - 100 บาท เก็บสะสมไว้ 35 ปี กำไร 29 - 99 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 27 พ.ศ. 2525 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก F.A.O. รวงข้าว ปลา ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 100 - 250 บาท เก็บสะสมไว้ 35 ปี กำไร 99 - 249 เท่า

          เหรียญฯ หมายเลข 28 พ.ศ. 2544 เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน วัดพระแก้ว ราคาหน้าเหรียญ 1 บาท ราคาซื้อขายของนักสะสม ราคาระหว่าง 5 - 10 บาท เก็บสะสมไว้ 16 ปี กำไร 4 - 9 เท่า

          ราคาซื้อขายจะสูงหรือต่ำย่อมขึ้นอยู่กับ จำนวนผลิต ความหายาก และ สภาพของตัวเหรียญกษาปณ์ เหรียญกษาปณ์ที่จะได้ราคาสูง คือ เหรียญฯ ที่ไม่ผ่านการใช้งาน

          เปรียบเทียบการฝากเงินประจำกับธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยเงินฝาก สมมุติว่าได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก ร้อยละ 4 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี หากฝากเงิน 1 บาท เป็นเวลา 25 ปี จะได้ดอกเบี้ยเงินฝาก 1 เท่า คือ 1 บาท เมื่อบวกเงินต้น 1 บาทที่ได้ฝากไว้ เท่ากับมีเงินในบัญชีเงินฝาก 2 บาท ดังนั้น หากระยะเวลาที่ฝากเงินหวังดอกเบี้ยเงินฝาก กับการเก็บรักษาเหรียญกษาปณ์สะสมด้วยตนเอง ด้วยเวลาที่เท่าๆ กัน จะเห็นว่าผลตอบแทนที่ได้รับของทั้งสองวิธีมีความแตกต่างกันอย่างมาก ถ้าให้เลือก เด็กๆ จะเลือกวิธีใด ? ระหว่าง เงินเหรียญ 1 บาท นำไปฝากที่ธนาคาร กับ เงินเหรียญ 1 บาท สภาพสวยนำไปเก็บใว้ในกระป๋องหรือกล่อง อยู่ในที่ปลอดภัยไม่สูญหาย เมื่อเวลาผ่านไป 25 ปี หากฝากกับธนาคารจะได้ 2 บาท แต่ถ้าเก็บสะสมใว้ในรูปของเหรียญกษาปณ์เก่าเก็บจะได้ราคามากกว่าหลายเท่า อยู่ที่ว่าเป็นเหรียญกษาปณ์รุ่นใด มีความหายากมากน้อยเพียงใด

          การเก็บรักษา สะสมเหรียญกษาปณ์เพื่อการศึกษา ทางวิชาการเรียกว่า กษาปณ์วิทยา Numismatics เป็นสากล ทั่วโลกทุกประเทศล้วนมีสถาบัน สมาคม เกี่ยวข้องกับการสะสม ศึกษา ค้นคว้า แลกเปลี่ยนซื้อขายเหรียญกษาปณ์เพื่อการลงทุน พวกเราโดยเฉพาะเด็กไทยควรตื่นตัวในเรื่องนี้ให้มาก เพราะเป็นวิธีสะสมเพื่อการลงทุนที่ง่ายไม่ซับซ้อน มีต้นทุนต่ำที่สุด

         เด็กๆ ควรเริ่มด้วยการใช้ความสังเกต ทุกครั้งที่หยิบเหรียญฯ เพื่อการชำระหรือซื้อของ ควรได้พิจารณาดูก่อนที่จะหยิบยื่น หากเหรียญฯ มีความแปลกใหม่สวยน่าเก็บ ต้องรีบเก็บ ต้องหัดเป็นคนช่างสังเกต หากเห็นผู้อื่นมีเหรียญฯ สวย แปลก ออกใหม่เป็นที่ต้องการ ควรได้ขอแลก และคอยสดับตรับฟังว่า สำนักกระษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังได้ออกเหรียญกษาปณ์รุ่นใหม่ หรือเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆ ควรได้แลกเก็บใว้ วิธีเก็บ ก็เก็บรักษาใว้ในกระปุกออมสินนั่นแหละ เมื่อเต็มก็เลือกแยกเก็บเหรียญฯ ที่ตั้งใจสะสมออกไปเก็บใว้ในที่ต่างหากสำหรับสะสมเพื่อการลงทุน ส่วนเหรียญกษาปณ์อื่นๆ นั้น ก็นำไปฝากกับธนาคารเป็นเงินออมเพื่อใช้จ่ายในวันข้างหน้า ดีกว่าการยกให้เจ้าหน้าที่ธนาคารทั้งกระปุกออมสินเพื่อฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากทั้งหมด

          ทุกวันนี้ผู้คนทั่วโลก นิยมเก็บสะสมเหรียญกษาปณ์มากกว่าการเก็บสะสมธนบัตร และ ดวงตราไปรษณียากร ด้วยเหตุนี้ เหรียญกษาปณ์เก่าหายากจึงมีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี และ โดยที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียน เหล่าประชากรของประเทศสมาชิกในสมาคมนี้ ย่อมมีความต้องการเก็บสะสมเหรียญกษาปณ์ของประเทศในภาคีอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในแต่ละปีจำนวนมากติดอันดับโลก เนื่องจากมีโรงกษาปณ์ผลิตเหรียญฯ ของตนเอง และเหตุที่ประชากรในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ ซึ่งมีข้อจำกัดทางศาสนาและความเชื่อในการสะสมศิลปวัตถุของที่ระลึกจากศาสนาอื่น ด้วยเหตุนี้ ของที่ระลึกระหว่างประเทศเพื่อการสะสมที่เป็นกลางและดีที่สุด จึงไม่พ้นเหรียญกษาปณ์

          ปัจจุบันนี้ มีหลายประเทศที่เจริญแล้วเริ่มใช้ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช้เงินสด (Cashless Economy) ธุระกรรมการเงินต่างๆ จะผ่านระบบออนไลน์ การซื้อขายข้าวของจะจ่ายชำระเงินผ่านระบบรูดบัตรเดบิต (Debit cards) คิวอาร์โค๊ต อี-วอลเล็ต หรือ ระบบ e-Payment System ต่างๆ คือเอาหน้าจอโทรศัพท์มือถือไปจ่อ แตะ หรือ พิมพ์หมายเลข ที่หน้าเครื่อง EDC (Electronic digital captures) โดยไม่ต้องใช้เงินสด จ่ายชำระ หรือ รับเงินทอน ด้วยเหตุนี้ เงินบาทที่ใช้กันอยู่จะไม่มีตัวตน จะเป็นเพียง บาทดิจิตัล (Digital Baht) ภายใต้กำกับควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

          โดยปรกติทุกๆ คนต้องมี National-ID เด็กแรกเกิดต้องมี National-ID คือ เลขที่บัตรประชาชน ดังนั้น การชำระเงิน การซื้อขายกระทำได้โดยผ่านเลขบัตรประชาชน หรือ Any-ID คือ เลขบัตรอะไรก็ได้ที่ทางการรับรอง แม้กระทั่งชื่ออีเมลของตน (e-Mail) โดยมีข้อแม้ว่าต้องนำเลขทะเบียนเหล่านั้นไปทำทะเบียนผูกบัญชีกับธนาคารที่เราได้เปิดบัญชีเงินฝาก

          ประเทศไทยกำลังเร่งปฏิรูปเพื่อเข้าสู่ระบบดิจิตัลอีโคโนมี่ (Digital Economy) ไม่นานเกินรอที่ประเทศไทยจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช้เงินสด เมื่อนั้น ความจำเป็นต้องใช้ธนบัตร และ เงินเหรียญกษาปณ์จะลดลงอย่างมาก ดังนั้นโรงพิมพ์ธนบัตรและโรงกษาปณ์จะลดภาระการพิมพ์ธนบัตร และการผลิตเหรียญกษาปณ์ การหมุนเวียนของธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ในระบบเศรษฐกิจจะลดจำนวนลง กล่าวคือ ในอนาคตระบบเศรษฐกิจแทบจะไม่มีการพกเงินสดติดตัว หรือ อาจจะไม่มีการเก็บเงินสดไว้ที่บ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และ เหรียญฯ สะสมที่มีมาก่อนหน้านี้ จะกลายเป็นของสะสมที่มีค่าหายาก และจะมีราคาเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้


          ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องกลับมาทบทวนแนวคิด การออมเงิน การออมนั้นดีแน่ ควรแยกแยะและกำหนดใหม่ให้เป็นสองส่วน คือ ออมเงินไว้ใช้ในวันหน้า กับ ออมเหรียญกษาปณ์เพื่อการลงทุน พร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน หากทำได้ จะช่วยฝึกให้เด็กๆ เป็นคนมีความละเอียด รอบคอบ ช่างสังเกต เข้าใจหลักการลงทุน การซื้อเวลา และ สนใจประวัติศาสตร์

          สำหรับเด็กๆ มือใหม่ ควรเริ่มต้นด้วยการเก็บเหรียญกษาปณ์ปัจจุบันจากเหรียญกษาปณ์ ของปี พ.ศ. 2551 พระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวฯ พระพักตร์ใหญ่ เพราะเป็นเหรียญรูปแบบใหม่ ซึ่งกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังได้ผลิตรุ่น พ.ศ. 2551 ค่อนข้างน้อย เนื่องจากก่อนหน้านั้น กองกษาปณ์ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์รูปแบบเดิม รุ่น พ.ศ. 2551 คือ พระบรมรูปพระพักตร์เล็กจำนวนมาก



          เมื่อ พ.ศ. 2548 กองกษาปณ์ฯ ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ 2 บาท จากเหล็กคาร์บอนต่ำชุบผิวด้วยนิเกิล พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2550 จากนั้นจึงได้เปลี่ยนมาเป็นบรอนซ์สีเหลือง (ทองแดง + อลูมิเนียม) เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในความคล้ายกันของขนาดเหรียญฯ 2 บาท กับ เหรียญฯ 1 บาท อย่างไรก็ดี เหรียญกษาปณ์รูปแบบใหม่ จาก พ.ศ. 2551 มีเหรียญฯ 1 บาท 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ ผลิตจากเหล็กคาร์บอนต่ำ ด้วยเหตุผลเพื่อลดต้นทุนการผลิต ปัญหาของเหล็ก คือ สนิม เหรียญฯ ประเภทนี้จะมีปัญหาผุกร่อนจากสนิมที่เกิดจากเนื้อในเหล็ก สนิมเหล็กจะก่อให้เกิดการบวมทำให้ผิวเคลือบที่ชุบด้วยนิเกิลหลุดลอก ในอนาคต เหรียญฯ ที่ผลิตจากเหล็กเหล่านี้ หากการจัดเก็บรักษาไม่ดีจะเสียหายจากการผุกร่อนของสนิมเหล็ก ดังนั้น ต้องเก็บด้วยความระมัดระวัง วิธีจัดเก็บรักษาที่ดีที่สุด คือ เก็บในขวดแก้วที่ปราศจากอากาศ วิธีไล่อากาศแบบง่ายๆ คือ บรรจุเหรียญฯ ให้เต็มขวด ปิดและอัดให้แน่นไม่ให้อากาศและความชื้นเข้า

          หากเด็กๆ มีความเข้าใจดีและได้สะสมเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนไปได้ระดับหนึ่ง จากนั้น จึงค่อยเสาะหาขยับย้อนหลังเข้าไปหาเหรียญฯ สะสมที่เก่ากว่า คือ เหรียญฯ ในกลุ่มหมายเลข 1 ถึง หมายเลข 8 (ดังภาพข้างบน) จากผู้ใหญ่หรือเหล่าเครือญาติ ซึ่งอาจจะมีหลงเหลือเก็บอยู่ตามหิ้ง ลิ้นชัก กล่อง หรือ กระป๋องบรรจุอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย ฯลฯ

          เหรียญเพื่อการสะสมแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 เหรียญกษาปณ์ (Coins) คือเหรียญที่มีราคาบนหน้าเหรียญ ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย แบ่งออกเป็นสองชนิดคือ
เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน (Circulated coins) คือ เหรียญที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีราคา 1 ส.ต. 5 ส.ต. 10 ส.ต. 25 ส.ต. 50 ส.ต. และ 1 บาท 2 บาท 5 บาท 10 บาท (เฉพาะเหรียญฯ ราคา 1, 5, และ 10 สตางค์ ไม่มีการนำออกมาใช้หมุนเวียน แต่มีใว้สำหรับธนาคารใช้ในกรณีจ่ายดอกเบี้ยมีเศษสตางค์ดังกล่าว)
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก (Commemorative coins) คือเหรียญที่ผลิตขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ มีราคาบนหน้าเหรียญ

ประเภทที่ 2 เหรียญที่ระลึก (Medals) คือเหรียญที่ผลิตขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ ไม่มีราคาบนหน้าเหรียญใช้ชำระหนี้ไม่ได้

          ราคาตลาดของเหรียญ แบ่งออกได้ดังนี้
ราคาหน้าเหรียญ คือราคาที่ปรากฏบนหน้าเหรียญ เป็นมูลค่าที่กฏหมายให้ใช้ชำระหนี้ได้
ราคาจ่ายแลก คือราคาที่ทางการนำออกให้ประชาชนแลก โดยปกติจะจ่ายแลกในราคาหน้าเหรียญ ยกเว้นเหรียญขัดเงา หรือเหรียญที่ผลิตด้วยกรรมวิธีพิเศษอื่นๆ
ราคาตลาด คือราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด มักจะมีราคาสูงกว่าราคาจ่ายแลก

          เด็กๆ สามารถศึกษาจากสื่อต่างๆ จากเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต หรือ ห้องสมุด ฯลฯ การเก็บสะสมเหรียญกษาปณ์ ต้องพยายามเก็บเหรียญที่มีความสมบูรณ์ คมชัด ไม่มีรอยขีดข่วนสึกหรอ ถ้าไม่ผ่านการใช้งาน (หมุนเวียน) จะเป็นเหรียญที่มีสภาพดีเยี่ยม วิชากษาปณ์วิทยาแบ่งชั้นและจำแนกคุณภาพเหรียญกษาปณ์ (Coin Grading) ดังนี้



สภาพของเหรียญฯ ตรงจากเครื่องปั๊มเหรียญ สวย สมบูรณ์แบบไร้ตำหนิ คือ Perfect Mint state ใช้คำย่อ Mint state หรือ Fdc (Fleur de coin)
สภาพของเหรียญฯ มีรอยตำหนิบ้างจากการจัดเก็บ แต่ไม่ผ่านการใช้หมุนเวียน คือ Uncirculated ใช้คำย่อ Unc
สภาพของเหรียญฯ ผ่านการใช้งาน มีรอยขนแมวบ้าง แต่สภาพดีเยี่ยม คือ Extremely fine คำย่อ EF
สภาพของเหรียญฯ มีรอยขีด แต่ลายละเอียดชัดเจน คือ Very fine คำย่อ VF
สภาพของเหรียญฯ สึกหรอบ้าง แต่ยังเห็นรายละเอียดชัดเจน คือ Fine คำย่อ F
สภาพของเหรียญฯ สึกหรอมาก แต่ยังเห็นรายละเอียด คือ Good คำย่อ G
สภาพของเหรียญฯ สึกหรอมาก หน้าตาเลือน ลายไม่ชัดเจน คือ Poor คำย่อ P

          สัญลักษณ์คำย่อเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์
Av = Gold โลหะทองคำ
Ar = Silver โลหะเงิน
Ae = Copper, Bronze โลหะทองแดง หรือที่เรียกว่า บรอนซ์
Al = Aluminium โลหะอลูมิเนียม
Al.br. = Aluminium - bronze โลหะอลูมิเนียมผสมบรอนซ์
Bill = Billon โลหะเงินผสมทองแดง
Cnk = Crupro - nickel โลหะนิเกิลผสมทองแดง
Nk = Nikel โลหะนิเกิล
P_ = Lead โลหะตะกั่ว
Obv = Obverse ด้านหน้าของเหรียญฯ หัว
Rev = Reverse ด้านหลังของเหรียญฯ ก้อย
Proof = เหรียญขัดเงา

          พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ หากเข้าใจและเห็นความสำคัญ ก็ควรส่งเสริมให้เด็กได้เข้าใจ เพราะไม่มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อเวลาอื่นใดจะมีค่าใช้จ่ายต่ำเท่ากับการเก็บสะสมเหรียญกษาปณ์ เพียงแค่มีเศษเงินเหรียญฯ 25 สตางค์ 50 สตางค์ หรือ 1 บาท ฯลฯ ก็สามารถกระทำได้แล้ว เหรียญกษาปณ์ทำจากโลหะ ไม่ผุ ไม่บุบสลาย มีอย่างเดียว คือ ต้องรักษาให้ดี อย่าให้สูญหาย เด็กๆ คนใดที่มีความเข้าใจ และ ทักษะในการออมเพื่อการลงทุน ย่อมจะเป็นคนละเอียดรอบคอบ มีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหา ศึกษา ค้นคว้า เสาะหา เพื่อสะสมสร้างสมบัติส่วนตน เมื่อเติบใหญ่ย่อมจะเป็นผู้ที่มีทักษะในการลงทุน ฯลฯ

          ข้อควรระวัง และ พึงใส่ใจเรื่องเหรียญฯ ปลอม
          เด็กๆ อาจจะพบเหรียญฯ เก่าเก็บของปู่ย่าตายาย หรือ ของพ่อแม่ในกระปุก กระป๋อง ให้พึงสังเกต ดังนี้ โดยเฉพาะเหรียญกษาปณ์รัชการที่ 8 ถ้าเป็นเหรียญฯ ทองแดงมีรูกลมตรงกลาง (สตางค์แดง) 1 สตางค์ 1/2 สตางค์ เหรียญฯ นิเกิลมีรูกลมตรงกลาง 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ เหรียญฯ เงินผสมทองแดง ลายกระหนกมีรูกลมตรงกลาง 20 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ ยังไม่ปรากฎพบเหรียญฯ ปลอม ที่พบเป็นเพียงเหรียญประดับ รูปเหรียญกษาปณ์สตางค์แดงมีรูกลม ขนาดใกล้เคียงเหรียญฯ แท้ มีห่วงสำหรับคล้องสร้อยคอ บ้างผูกเป็นแผงในรูปของกำไลข้อมือ หรือ ร้อยเรียงเป็นเข็มขัด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ผลิตจากประเทศจีน ลวดลายคมชัด ขนาดและความหนาไม่แน่นอน



          หากเป็นเหรียญกษาปณ์ดีบุก (สีดำ) ลายกระหนกมีรูกลมตรงกลาง เหรียญกษาปณ์ดีบุก พระบรมรูป ร. 8 ทรงพระเยาว์ และ เหรียญฯ ดีบุก พระบรมรูป ร. 8 ทรงเจริญพระชนม์พรรษา ต้องพึงระวัง เพราะสมัยนั้นเป็นยุคข้าวยากหมากแพง ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โลหะมีค่ามีราคาแพงและหายาก รัฐบาลไทยในสมัยนั้นจึงได้นำแร่ดีบุกซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศไทย ผลิตเหรียญกษาปณ์เพื่อใช้หมุนเวียน โดยผสมดีบุก 90 เปอร์เซ็นต์ ทองแดง 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มความแข็ง โดยที่แร่ดีบุกมีอยู่ทั่วไป ผู้คนจึงนำมาทำเหรียญกษาปณ์ปลอมใช้กันเกลื่อน วิธีสังเกต คือ เหรียญฯ ดีบุกที่ผลิตโดยรัฐบาล จะคงรูปแม้นจะสึกหรอบ้างจากการใช้งาน แต่เหรียญกษาปณ์ปลอมจะไม่คงรูป คือ สึกกร่อน ปริแตก เนื้อดีบุกมีความอ่อนเพราะไม่ได้ผสมทองแดง

          เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนปลอมอื่นๆ ที่ทำได้แนบเนียน ปั๊มออกมาใกล้เคียงเหรียญกษาปณ์ของแท้มาก ต่างกันก็ตรงที่สีของตัวเหรียญฯ หากเป็นเนื้อโลหะสีขาวจะออกสีค่อนข้างเหลือง ถ้าเป็นส่วนกลางของตัวเหรียญกษาปณ์สองสี 10 บาท จะมีสีเหลืองขุ่นมัว บางครั้งสีเหลืองหลุดลอกกลายเป็นสีขาว เพราะปั๊มจากโลหะสีขาวแผ่นเดียวกันทั้งเหรียญฯ คือ กลางเหรียญกษาปณ์สองสี 10 บาท ปลอมนี้ไม่ได้ใส่โลหะส่วนที่เป็นทองเหลือง แต่ทาสีเหลืองทับไว้ หรือหากเป็นโลหะสีเหลืองมักติดหลวมๆ สามารถหมุนรอบไปมาได้ ส่วนเหรียญฯ 5 บาท ปลอม นั้น ใส้ตามขอบเหรียญกษาปณ์ แทนที่จะเป็นทองแดง กลับเป็นการชุบขอบเหรียญ ออกสีทองแดง หรือไม่ก็ทาสีแดงที่ขอบเหรียญ บางรุ่นปั๊มจากโลหะอื่นชุบสังกะสี เหรียญกษาปณ์ปลอมประเภทนี้ที่ผ่านการใช้งาน จะเห็นสีของเนื้อใน และ ตามขอบของตัวเหรียญจะออกสีทองแดง หรือ ทองเหลือง

          โดยทั่วไปเหรียญฯ ปลอม พระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวและรูปด้านหลังของเหรียญกษาปณ์ จะมีลวดลายไม่ชัดเจนเท่าเหรียญกษาปณ์แท้ คือ ค่อนข้างเลือน พื้นผิวมีรอยและไม่เรียบ เท่าที่ตรวจพบได้แก่

เหรียญกษาปณ์สองสี 10 บาท พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2539 และ เหรียญกษาปณ์กาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539
เหรียญกษาปณ์ 5 บาท พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2539 และ พ.ศ. 2550
เหรียญกษาปณ์ 1 บาท พ.ศ. 2530

          เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน 5 บาท เหรียญโตรุ่นเก่า มีปลอมหลายรุ่น ส่วนมากหล่อจากโรงงานผลิตของที่ระลึกประเภทพิวเตอร์ เนื้อโลหะออกสีดำเทา เพราะทำจากดีบุกผสมตะกั่วชุบโลหะสีขาว เคาะหรือตกกระทบพื้นจะมีเสียงทึบ สังเกตและจับผิดได้ง่าย

          เหรียญกษาปณ์ 5 บาท ที่มีการทำปลอมมากที่สุดจนรัฐบาลต้องประกาศยกเลิกการใช้ คือ เหรียญกษาปณ์ 5 บาท เก้าเหลี่ยม พ.ศ. 2515


เหรียญ 5 บาท พ.ศ. 2515 เก้าเหลี่ยม แท้

เหรียญ 5 บาท พ.ศ. 2515 เก้าเหลี่ยม ปลอม

เหรียญ 5 บาท พ.ศ. 2515 เก้าเหลี่ยม ปลอม


          อย่างไรก็ดี วิธีที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเหรียญกษาปณ์ปลอมตามประสาเด็ก พึงปฏิบัติดังนี้ คือ ให้เลือกเก็บเหรียญฯ ที่มีความใหม่ คมชัด แวววาม เคาะหรือตกกระทบพื้นต้องมีเสียงกังวาน

          ขอยกตัวอย่าง หลักการศึกษา ในเชิงวิชาการกษาปณ์วิทยา แบบนักสะสมมืออาชีพ เพื่อเด็กๆ นักสะสมมือใหม่ได้เรียนรู้

          กรณีศึกษาเหรียญกษาปณ์สองสี 10 บาท ที่ระลึกฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี กาญจนาภิเษก 9 มิถุนายน 2539


ภาพเหรียญฯ ด้านซ้าย ผลิตจากประเทศอิตาลี ส่วนภาพเหรียญฯ ด้านขวาผลิตโดยสำนักกษาปณ์ ประเทศไทย


จุดสังเกตความแตกต่าง ภาพเหรียญฯ ด้านซ้าย ผลิตจากประเทศอิตาลี ส่วนภาพเหรียญฯ ด้านขวาผลิตโดยสำนักกษาปณ์ ประเทศไทย


ด้านหน้า: พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระพักตร์ตรง ทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ฉลองพระองค์ครุญชิดวงขอบเหรียญ มีพระปรมาภิไธย "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" "รัชกาลที่ ๙" ชิดวงขอบเหรียญ มีลายกระหนกคั่นกลางระหว่างข้อความทั้งสอง

ด้านหลัง: กลางเหรียญมีสัญลักษณ์งานพระราชพิธืกาญจนาภิเศก ฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ชิดวงขอบเหรียญมีข้อความว่า ฉลองศิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี กาญจนาภิเษก ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ ประเทศไทย ๑๐ บาท ชิดวงขอบเหรียญ

น้ำหนัก 8.5 กรัม เหรียญกลม 26 มม. หนา 2 มม.

โลหะสองสี วงนอกสีเงิน โลหะผสมทองแดง 75 % นิเกิล 25 %

แกนในโลหะผสมทองแดง 92 % อลูมิเนียม 6 % นิเกิล 2 %

ด้านหน้าและด้านหลังตรงกัน ขอบเรียบ มีรอยจักรห่างกันกลุ่มละ 5 ขีด ระยะห่างระหว่างกลุ่ม 2.5 มม.

จำนวนผลิต:
ผลิตที่สำนักกษาปณ์ ปทุมธานี ประเทศไทย จำนวน 61,490,000 เหรียญ แกนในโลหะสีเหลือง พระบรมรูปด้านล่างมีระยะห่างขอบเหรียญโลหะสีขาววงนอก และตราสัญลักษณ์ด้านล่าง มีระยะห่างขอบเหรียญโลหะสีขาววงนอกค่อนข้างมาก

ผลิตที่ ฮิสติตูโต โพลิกราฟฟิโก้ อี เซดก้า เดลโล่ สตาโด กรุงโรม ประเทศอิตาลี จำนวน 120,000,000 เหรียญ แกนในโลหะสีเหลือง พระบรมรูปด้านล่างจะติดขอบเหรียญโลหะสีขาววงนอก และตราสัญลักษณ์ด้านล่างมีระยะชิดขอบเหรียญโลหะสีขาววงนอกค่อนข้างมาก

ผู้ออกแบบด้านหน้า: นางไพฑูรณ์ศรี ณ เชียงใหม่ และ นางสาวสุภาพ อุ่นอารีย์
ผู้ปั้นแบบด้านหน้า: นางพุทธชาติ อรุณเวช

ผู้ออกแบบด้านหลัง: นางสาวสุภาพ อุ่นอารีย์ และ นางสุนันทา ธิกุลวงษ์
ผู้ปั้นแบบด้านหลัง: นายวุติชัย แสงเงิน

ประกาศใช้ วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2539

          นอกเหนือจากเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกกาญจนาภิเษกสองสี 10 บาท นี้ สำนักกษาปณ์ยังได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 ชุดเดียวกันราคาอื่น ดังนี้

เหรียญฯ 25 สตางค์ ผลิตจำนวน: 41,800,000 เหรียญ

เหรียญฯ 50 สตางค์ ผลิตจำนวน: 105,434,000 เหรียญ

เหรียญฯ 1 บาท ผลิตจำนวน: 272,512,000 เหรียญ

เหรียญฯ 2 บาท ผลิตจำนวน: 5,500,000 เหรียญ

เหรียญฯ 5 บาท ผลิตจำนวน: 2,500,000 เหรียญ

          ในขณะเดียวกัน สำนักษาปณ์ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน พ.ศ. 2539 ตามปรกติ ดังนี้

เหรียญฯ 1 บาท ผลิตจำนวน: 98,487,000 เหรียญ

เหรียญฯ 5 บาท ผลิตจำนวน: 28,485,000 เหรียญ

เหรียญฯ สองสี 10 บาท ผลิตจำนวน: 17,086,000 เหรียญ


          ผลจากการศึกษาจำนวนการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกกาญจนาภิเษกนี้ โดยเฉพาะเหรียญฯ ชนิด สองสี 10 บาท ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ และ จากประเทศอิตาลีรวมแล้ว 181,490,000 เหรียญ และ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกกาญจนาภิเษก ชนิด 1 บาท จำนวน 272,512,000 เหรียญ จากตัวเลขดังกล่าวนี้ ถือว่ามากมายมหาศาล เป็นครั้งแรกที่เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกถูกผลิตออกมาจำนวนมากกว่าเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนปรกติ จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันยังมีเหรียญกษาปณ์สองสี 10 บาท และ 1 บาท ที่ระลึกกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 ปรากฏหมุนเวียนให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในปี พ.ศ. 2539 นี้ ก็มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนรูปแบบเดิม ชนิด 25 สตางค์ 50 สตางค์ 1 บาท 5 บาท และ เหรียญกษาปณ์สองสี 10 บาท ออกมาใช้หมุนเวียนตามปรกติอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนปรกติ 1 บาท และ เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนปรกติสองสี 10 บาท ผลิตจำนวนน้อยกว่า ในขณะเดียวกันเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกกาญจนาภิเษก 5 บาท ผลิตจำนวนน้อยเช่นกัน เพียง 2,500,000 จึงคาดคะเนได้ว่า ในอนาคต เหรียญฯ ทั้งสามชนิดราคาดังกล่าวจะเป็นเหรียญหายาก

          จากข้อมูลข้างต้น เด็กๆ ควรทำความเข้าใจ ดังนี้ ในแง่ของการสะสมเหรียญกษาปณ์ ก็เก็บเข้าชุดเพื่อการสะสมไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ในแง่ของการสะสมเพื่อการลงทุนต้องคิดให้ดี เหรียญกษาปณ์กาญจนาภิเษก สองสี 10 บาท พ.ศ. 2539 ที่ผลิตจากประเทศอิตาลีถือว่ามีจำนวนมากกว่าที่ผลิตในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดีถือว่าเป็นพิมพ์เดียวกัน แตกต่างก็แต่ขนาดของแกนโลหะสีเหลืองกลางเหรียญฯ และโลหะสีขาววงนอกเท่านั้น เมื่อนับรวมจำนวนที่ผลิตแล้วไม่น่าลงทุน สู้เก็บเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนปรกติ สองสี 10 บาท พ.ศ. 2539 ดีกว่า เพราะผลิตออกมาจำนวนน้อยมาก ส่วนเหรียญกษาปณ์กาญจนาภิเษก 1 บาท พ.ศ. 2539 ก็เช่นเดียวกัน ไม่น่าลงทุน เพราะผลิตออกมามากมาย ควรเลือกลงทุนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนปรกติ 1 บาท พ.ศ. 2539 แต่ในทางตรงกันข้ามเหรียญกษาปณ์กาญจนาภิเษก 5 บาท ผลิตออกมาจำนวนน้อยมาก สมควรอย่างยิ่งต้องเก็บสะสมเพื่อการลงทุน


ผลจากการศึกษา ควรสะสมเพื่อการลงทุนสำหรับเด็ก
พ.ศ. 2539 เหรียญฯ ปรกติ สองสี 10 บาท และ 1 บาท เหรียญฯ ที่ระลึกกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 เฉพาะ 5 บาท



เหรียญอื่นที่น่าสะสมเพื่อการลงทุนสำหรับเด็ก
เหรียญกษาปณ์ 2 บาท สีขาว พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2550


          นอกเหนือจากการสะสมเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน บนพื้นฐานของความเก่าเก็บหายากจะได้ราคาซื้อขายสูง นั้น ยังมีการสร้างราคาจากความผิดพลาด แตกต่าง ของพิมพ์เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในรุ่นเดียวกัน ดังตัวอย่าง เช่น เหรียญฯ 5 บาท สมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525 ตำแหน่งระหว่างใต้พระหนุและพระศอ (ใต้คางและคอ) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร. 9 บางพิมพ์มีเส้นโค้ง 3 เส้น บางพิมพ์ไม่มี ราคาซื้อขายจะแตกต่างกันมาก มีเส้นโค้งจะแพงกว่า เพราะพบจำนวนน้อย

          ความผิดพลาดแตกต่างเล็กๆน้อยๆ ของตัวเหรียญฯ จากพิมพ์ปรติเหล่านี้ หากพบจำนวนน้อยจะกลายเป็นของหายากในรุ่นผลิตภัณฑ์เดียวกัน ทั้งนี้ เด็กๆ สามารถเรียนรู้ศึกษาได้จาก อินเตอร์เน็ต ใน You Tube มีผู้รู้นำเสนอ ความแตกต่างผิดพลาดของพิมพ์เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนของแต่ละรุ่นและแบบต่างๆ มากมาย


ภาพเหรียญฯ 5 บาท สมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525


จุดสังเกต เหรียญฯ 5 บาท สมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525 ภาพด้านซ้ายใต้คางและคอปรกติ ส่วนภาพด้านขวาใต้คางมีขีดเส้นโค้ง 3 เส้น


          เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรุ่นแรก ในรัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2561 เป็นเหรียญฯ ชุดที่ออกแบบแกะสลักได้สวยงาม ลายเส้นคมชัด กระทรวงการคลังได้ผลิตออกมาเพื่อใช้หมุนเวียนในระบบ ในขณะเดียวกันก็ได้คำนึงถึงค่านิยมของคนไทยที่มีความกระตือรือร้นในการเก็บสะสม เหรียญรุ่นแรกในรัชกาล จึงได้ดำเนินการผลิตเหรียญฯ เหล่านี้ให้มีจำนวนมากกว่าปรกติที่เคยกระทำของปีงบประมาณนี้ให้มีจำนวนเป็นสองเท่า จึงคาดการณ์ได้ว่า จะมีเหรียญฯ พ.ศ. 2561 หมุนเวียนอยู่ในระบบจำนวนมากไม่ต่างจากเหรียญฯกาญจนาภิเษก ซึ่งมีเก็บสะสมจำนวนมากในทุกบ้านทุกครัวเรือนของนักสะสมเหรียญกษาปณ์

          เด็กๆ ควรมีเหรียญฯ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นเหรียญฯ รุ่นแรกในรัชกาลที่ 10 เพื่อการสะสม แต่หากจะเก็บสะสมเพื่อการลงทุนเพื่อหวังมูลค่าราคาในอนาคต นั้น พึงเก็บแต่น้อยไม่ควรลงทุนเก็บมาก เพราะเหรียญฯ หมุนเวียนประเภทใดที่มีมากในระบบ ปีถัดไปจะผลิตออกมาน้อย เด็กๆ ค่อยติดตามเก็บเหรียญฯ ที่ผลิตน้อย ต้องยึดหลัก ของมีน้อยมักได้ราคาดี ของมีมากมักไม่ได้ราคา


เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรุ่นแรกในรัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2561


          หากเด็กๆ ต้องการเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญที่ระลึกแบบต่างๆ ที่หายาก คุณภาพดี จากโรงกษาปณ์โดยตรง ก็สามารถติดต่อซื้อหาได้จาก สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ www.treasury.go.th


รหัสสินค้า 0570200008 แผ่นพับเหรียญกษาปณ์ ชนิดราคา 1 บาท พ.ศ. 2500 ขายราคา 250 บาท



**********


          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ท่านสามารถนำ ข้อเขียน เนื้อหา ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแจ้งแต่ประการใด ส่วนภาพประกอบในสาระน่ารู้เหล่านี้ได้คัดลอกมาจาก Internet Public Domains บางภาพอาจมีลายน้ำต้องคงไว้เป็นตัวอ้างอิงถึงที่มา ต้องให้ Credit แก่เจ้าของภาพ และ www.dandinth.com เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่

กลับไปหน้าหลัก