มุสลิม ผู้น่ารักน่าชัง


พระเจ้าบาร์เบอร์ Barber


          ราชโอรสพระองค์แรกของ พระเจ้าทาเมอเลน (Tamerlane) แห่งซามาคัน (Samakan) ทรงพระนามบาร์เบอร์ (Barbur) ผู้ซึ่งพระมารดาสืบเชื้อสายมาจากเจ็งกิสข่าน (Gengiz Khan) ผู้ยิ่งใหญ่ชาวมองโกล ได้กรีฑาทัพเข้ามาในดินแดนอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2069 (ค.ศ. 1526) จากการชักนำของผู้ปกครองแคว้นที่เป็นปฏิปักษ์และต้องการทำสงครามต่อต้าน สุลต่านอิบราฮิม โรดี (Ibrahim Lodi) แห่งกรุงเดลฮี (Delhi) กองทัพบาร์เบอร์เป็นฝ่ายได้ชัยชนะ สุลต่านอิบราฮิม โรดี สิ้นพระชนม์ในที่รบ ที่ทุ่ง ปานิพัท (Panipat) ใกล้กรุงเดลฮี บาร์เบอร์จึงได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์และสถาปณาราชวงศ์โมกุลขึ้นปกครองประเทศอินเดียโดยมีกรุงเดลฮีเป็นเมืองหลวง


พระเจ้าหูมายูน Humayun

          กระทั่งปี พ.ศ. 2073 (ค.ศ. 1530) พระเจ้าหูมายูน (Humayun) ได้สืบทอดราชสมบัติ และทำให้ราชวงศ์โมกุลโดดเด่น จนกระทั่ง พระเจ้าอักบาร์ (Akbar) ผู้เป็นราชโอรสได้ขึ้นปกครองสืบทอดราชวงศ์ จากปี พ.ศ. 2099 - 2148 (ค.ศ. 1556 - 1605) ยุคนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยุครุ่งเรืองและมีอาณาจักรกว้างไกล ทิศตะวันตกคืออาฟกานิสถาน (Afghanistan) ทิศใต้สุดถึงฝั่งแม่น้ำโกดาวารี (Godavari) แม้นพระเจ้าอักบาร์เป็น มุสลิมนิกายสุนี (Sunni) มาแต่กำเนิด แต่กลับเป็นคนใจกว้าง ยอมรับและเข้ากันได้กับหลักปรัชญาศาสนาอื่น พระเจ้าอักบาร์ได้ส่งต่อราชบัลลังก์ให้เจ้าชายซาลิม (Salim) พระราชโอรสทรงพระนามต่อมาในภายหลัง จาหังกีร์ (Jahangir) ซึ่งครองราชระหว่างปี พ.ศ. 2148 - 2170 (ค.ศ. 1605 - 1627) พระเจ้าจาหังกีร์ได้สืบทอดแนวคิดและหลักปฏิบัติจากพระราชบิดา ทำให้อาณาจักรมีความเข้มแข็ง มั่งคั่ง และโดยเฉพาะงานด้านจิตรกรรมรุ่งเรืองถึงจุดสูงสุด เมื่อพระเจ้าจาหังกีร์สิ้นพระชนม์ ปีพ.ศ. 2170 (ค.ศ. 1627) พระเจ้าชาจาฮัน (Shah Jahan) พระราชโอรสได้ครองราชสืบแทน พระองค์ได้ขยายอาณาจักรกว้างไกลออกไป และทรงความมั่งคั่งที่สุดแห่งยุค พระองค์สนใจงานสถาปัตยกรรม ทรงให้สร้างป้อมคูหอรบขนาดใหญ่หลายแห่ง สร้าง ทาจมาฮาล (Taj Mahal) ฯลฯ พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2201 (ค.ศ. 1658) สืบราชวงศ์ต่อมาโดย พระเจ้าออรังเซบ (Aurang Zeb) ระหว่างปี พ.ศ. 2201 - 2250 (ค.ศ. 1658 - 1707) พระองค์เป็นผู้เคร่งศาสนา จึงได้ปฏิรูปการนับถือศาสนาอิสลามไม่ยอมผ่อนปรนให้ผู้นับถือศาสนาอื่น ดั่งเช่นกษัตริย์องค์ก่อนๆ ต้นรัชกาลจึงได้ขยายอาณาเขตด้วยการทำสงครามกับแคว้นต่างๆ ยุคนี้จึงเกิดความกระด้างกระเดื่องระส่ำระสาย ปลายรัชกาลจึงเกิดการแตกแยกภายใน หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าออรังเซบ ปี พ.ศ. 2250 (ค.ศ. 1707) เหล่าแว่นแคว้นต่างๆ ในขอบขัณฑะสีมา ต่างแยกตนออกเป็นอิสระ ราชวงศ์โมกุลอยู่ได้ถึงปี พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) ก็สิ้นราชวงศ์ เพราะก่อนหน้านั้นจากปี พ.ศ. 2346 (ค.ศ. 1803) เป็นต้นมา มีปัญหากระทบกระทั่งกับ บริษัท East India Company แห่งประเทศอังกฤษ กษัตริย์องค์สุดท้ายคือ พระเจ้าบาฮาดู ชา ซาฟาร์ (Bahadur Shah Zafar) ถูกทางการอังกฤษนำไปจองจำและสิ้นพระชนม์ที่กรุงย่างกุ้ง (Ran Goon) ประเทศเมียนมาร์


พระเจ้าอักบาร์ Akbar

          พระเจ้าอักบาร์ (Akbar) พระนามเต็ม Abul-Fath Jalal Ud-Din Muhammad Akbar พระองค์เป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งราชวงค์โมกุล สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา หูมายูน (Humayun) ประสูติวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1542 ได้สถาปนาเป็นกษัตริย์ขึ้นครองราชเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2099 (ค.ศ. 1556) ครองราชระหว่างปี พ.ศ. 2099 - 2148 (ค.ศ. 1556 - 1605) เสด็จสวรรคต วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2148 (ค.ศ. 1605) พระชันษา 63
          พระเจ้าอักบาร์ได้ชื่อว่าเป็นประมุขแห่งอิสลามนอกรีต ก่อนหน้านี้ประมุขอิสลามผู้รุกรานเหล่าสุลต่านหลายพระองค์ มุ่งมั่นตั้งใจทำลายล้างศาสนะสถาน ศิลปะวัตถุ เทวรูป เทวสถานของ ศาสนาพุทธ เชน และ ฮินดู เพื่อบังคับให้ชนในท้องถิ่นที่ถูกยึดครองเข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม เฉกเช่นพวกโปรตุเกสและสเปนในยุคล่าอาณานิคม ทำลายล้างบังคับให้ชนพื้นเมืองในแต่ละถิ่นที่ตนเข้าไปยึดครองให้เข้ารีตคริสต์ศาสนา ซึ่งรับรู้ได้จากทรากโบราณสถานที่หลงเหลือ ทุกครั้งที่เข้ารุกรานและได้รับชัยชนะจะตามด้วยการปล้นสะดม ทำลายล้างและเข่นฆ่าประชาชนในท้องถิ่นนั้น แต่พระเจ้าอักบาร์และราชบุตรซึ่งต่อมาได้เป็นผู้สืบราชสมบัติทรงพระนาม พระเจ้าจาหังกีร์ กลับมีพฤติกรรมตรงกันข้ามประหนึ่งไม่ใช่มุสลิม
          พระเจ้าอักบาร์มีความสนพระทัยในงานวรรณกรรมและปรัชญา ทรงให้ราชสำนักรวบรวมเหล่านักปราชย์ทุกศาสนาร่วมสร้างห้องสมุดเก็บรักษาหนังสือมากกว่า 24,000 เล่ม ซึ่งเป็นตำราและวรรณกรรม ภาษาเปอร์เซีย และ สันสกฤต ของ ฮินดู เจน คริสเตียน ลาติน โซโลแอสเตรียน และ ซิกส์ พระองค์ยังทรงบัญชาให้แปลบทประพันธ์อันยิ่งใหญ่ของชาวฮินดู คือ รามายานะ (Ramayana) และ มหาภารตะ (Mahabharata) เป็นภาษาเปอร์เชีย และสนับสนุนให้ชาวมุสลิม ฮินดู เชน คริสเตียน โซโรแอสเตรียน และ ซิกส์ มีกิจกรรมทางศาสนา ประชุม ถกหลักปรัชญา และหลักศาสนาร่วมกันได้ พระองค์ได้ยกเลิกการจัดเก็บภาษี Jizia (Sectarian Tax) จากบุคคลผู้นับถือศาสนาอื่นที่มิใช่มุสลิม ซึ่งก่อนหน้านี้ประชากรที่นับถือศาสนา หรือ ลัทธิอื่นๆ ที่มิใช่ศาสนาอิสลามต้องจ่ายภาษี Jizia
          ปี พ.ศ 2127 (ค.ศ. 1584) พระองค์ได้ปฏิรูปแนวคิดของศาสนาอิสลามขึ้นมาใหม่เรียกว่า Din-e-Elahi (Divine Faith) ด้วยการรวมแนวคิดของอิลลาม ผสมกลมกลืนกับหลักศาสนาของฮินดู คริสต์ เจน เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติและอยู่ร่วมกันในหมู่ชน เปลี่ยนศักราชจากจันทรคติเป็นสุริยคติ Illahi era คือ หนี่งปีมี 12 เดือน ตามแบบของศาสนาคริสต์ ซึ่งการปฏิรูปศาสนาครั้งนี้ ก่อให้เกิดความไม่พอใจและแรงต้านจากผู้เคร่งศาสนาอิสลาม พระองค์ถูกกล่าวหาว่าเป็นฮินดู เป็นคริสเตียน ฯลฯ ทว่ากลับทำให้พระองค์ได้รับการยอมรับจากเหล่าปัญญาชนจากต่างศาสนาในราชสำนักจำนวนมาก ไม่ต้องกังวล หรือ หวาดระแวงว่าเป็นพวกนอกรีต กุศโลบายอันชาญฉลาดนี้ ทำให้ประชากรในเขตอาณาของพระองค์ ยอมรับการปกครองของราชวงศ์โมกุลเป็นประมุข ช่วยให้พระเจ้าอักบาร์ และ ผู้สืบราชวงศ์ กษัตริย์องค์ต่อมา มีความเข้มแข็งและรุ่งเรืองยาวนานร่วมสองศตวรรษ ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้รับการขนานพระนาม พระเจ้าอักบาร์มหาราช (Akbar the Great)


พระเจ้าจาหังกีร์ Jahangir



เหรียญกษาปณ์ทองคำที่มีชื่อเสียงของพระเจ้าจาหังกีร์ Jahangir

          พระเจ้าจาหังกีร์ (Jahangir) พระนามเต็ม Nur-ud-Din Muhammad Salim ชาวเปอร์เชียขานพระนามว่า จาหังกีร์ Jahangir พระองค์เป็นกษัตริย์องค์ที่สี่แห่งราชวงศ์โมกุล สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา พระเจ้าอักบาร์ (Akbar) ประสูติวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2112 (ค.ศ. 1569) ได้สถาปนาเป็นกษัตริย์ขึ้นครองราชเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2148 (ค.ศ. 1605) ครองราชระหว่างปี พ.ศ. 2148 - 2170 (ค.ศ. 1605 - 1627) เสด็จสวรรคต วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2170 (ค.ศ. 1627) พระชันษา 58
          พระองค์เป็นผู้มีจิตใจกว้างและได้สืบทอดแนวคิด นโยบาย การปกครอง การทหาร และ ปฏิบัติตนเช่นเดียวกับพระราชบิดา คือ ให้ความเสมอภาคและส่งเสริมผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากศาสนาอื่น ให้มีตำแหน่งหน้าที่ทัดเทียมกับผู้นับถือศาสนาอิสลามในราชสำนักและทางสังคม ประชากรในราชอาณาจักรต่างอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข พระองค์เป็นผู้ที่มีความคิดทันสมัยกว้างไกล ทรงสนพระทัยด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาการสมัยใหม่ ทรงโปรดให้นักสอนศาสนาชาวคริสต์สร้างโบสถ์คริสเตียนในเมืองอักกรา (Agra) ทรงโปรดให้ราชสำนักผลิตเหรียญกษาปณ์ เหมือนเช่นประเทศตะวันตก คือ ให้มีภาพของพระองค์บนหน้าเหรียญกษาปณ์ ทรงชื่นชอบรูปเขียนแนวตะวันตก จึงส่งเสริมให้ศิลปินสร้างสรรงานศิลป์ งานจิตกรรมในยุคนี้จึงรุ่งเรืองถึงขีดสุด


พระเจ้าชาจาฮัน Shah Jahan


ทัชมาฮาล สิ่งมหัศจรรย์ของโลก สร้างโดยบัญชาของพระเจ้าชาจาฮัน Shah Jahan

          พระเจ้าชาจาฮัน (Shah Jahan) พระนามเต็ม Shahabuddin Muhammad Sha Jahan พระองค์เป็นกษัตริย์องค์ที่ห้าแห่งราชวงค์โมกุล สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา จาหังกีร์ (Jahangir) ประสูติวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2135 (ค.ศ. 1592) ได้สถาปนาเป็นกษัตริย์ขึ้นครองราชเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2171 (ค.ศ. 1628) ครองราชระหว่างปี พ.ศ. 2171 - 2201 (ค.ศ. 1628 - 1658) เสด็จสวรรคต วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2209 (ค.ศ. 1666) พระชันษา 74
          กว่าจะขึ้นครองราชได้ต้องทำศึกภายในระหว่างพี่น้องเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์ พระองค์เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นขยายอาณาจักรให้กว้างไกล ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญงานด้านสถาปัตยกรรม ได้สร้างป้อมขนาดใหญ่หลายแห่ง งานด้านสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและมีชื่อเสียง คือ ทัชมาฮาล (Taj Mahal) ความที่เป็นผู้เคร่งครัดในศาสนาอิสลาม จึงได้มีพระราชโองการให้ยกเลิกการใช้ศักราช Din-i-Ilahi และมิให้ใช้เหรียญกาษปณ์ที่ได้เคยออกโดยพระเจ้าอักบาร์และพระเจ้าจาหังกีร์ที่หน้าเหรียญมีรูปภาพรูปคนหรือรูปภาพสัตว์ ซึ่งขัดต่อหลักศาสนาอิลลาม หากผู้ใดครอบครองต้องส่งคืนท้องพระคลังเพื่อหลอม มิเช่นนั้นจะต้องโทษถึงประหาร พระองค์ไม่สนับสนุนและได้ยกเลิกการอุปถัมภ์ศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลาม ให้รื้อถอนเทวะสถานและโบสถ์ของศาสนาอื่นที่สร้างขึ้นใหม่ ยังความขุ่นเคืองต่อแว่นแคว้นในอาณาจักรที่นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาอื่น เริ่มมีการแข็งข้อจากหัวเมืองต่างๆ บั้นปลายของชีวิต พระองค์ระทมทุกข์จากการสูญเสียพระนางมุมทาช (Mum Taj) ซึ่งเป็นมเหสีสุดที่รักผู้ให้กำเนิดพระราชโอรสและธิดารวม 14 พระองค์ เหตุแห่งความไม่สงบในบ้านเมืองและความไม่สามัคคีของราชบุตรทั้งหลาย จึงทรงพระประชวรและถูกบังคับกักบริเวณใว้ในป้อมอักกรา (Agra Fort) โดยพระราชโอรส ออรังเซบ (Aurang Zeb) ผู้ซึ่งได้ยึดอำนาจขึ้นว่าราชการแทน จากการกล่าวอ้างว่าพระเจ้าชาจาฮันไร้สมรรถภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน


พระเจ้าออรังเชบ Aurang Zeb

          พระเจ้าออรังเซบ (Aurang Zeb) พระนามเต็ม Abul Muzaffar Muhi-ud-Din Muhammad Aurang Zeb พระองค์เป็นกษัตริย์องค์ที่หกแห่งราชวงค์โมกุล สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา ชาจาฮัน (Shah Jahan) ประสูติวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2161 (ค.ศ. 1618) ได้สถาปนาเป็นกษัตริย์ขึ้นครองราชเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2201 (ค.ศ. 1658) ครองราชระหว่างปี พ.ศ. 2201 - 2250 (ค.ศ. 1658 - 1707) เสด็จสวรรคต วันที่ 20 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2250 (ค.ศ. 1707) พระชันษา 88
          พระองค์ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องใช้กำลังรบพุ่งกับพี่น้องเพื่อแย่งราชบัลลังก์ในขณะที่ว่าราชการแทนพระเจ้าชาจาฮันพระราชบิดา ซึ่งถูกจองจำอยู่ที่ป้อมอักกรา การรบเกิดขึ้นที่เมืองอักกรา (Agra) ออรังเซบ เป็นฝ่ายชนะ
          พระเจ้าออรังเซบทรงเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนาอิสลามมาก จึงได้ฟื้นกฎและประเพณีให้กลับไปสู่แนวคิดและหลักปฏิบัติเดิมของศาสนาอิลลาม ทรงยกเลิกการละเว้นและให้กลับมาใช้กฎ Jizia (Sectarian Tax) ผู้ที่ไม่นับถือศานาอิสลามหรือผู้นอกรีตทั้งหลายต้องเสียภาษี ในขณะเดียวกันผู้ต่างศาสนาจะมีชั้นในสังคมที่ต่ำกว่าชาวมุสลิม ไม่มีตำแหน่งอำนาจหน้าที่ในราชสำนัก จึงสร้างความระส่ำระสายก่อให้เกิดการแข็งข้อแข็งเมือง เกิดการรบระหว่างกัน และ กลายเป็นจุดเริ่มต้นเสื่อมถอยของราชวงค์โมกุล หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าออรังเซบ อาณาจักรแตกแยกออกเป็นรัฐอิสระ ราชอาณาเขตของราชวงศ์โมกุลหดเล็กลง ต่อมาอีกหลายรัชกาลก็ล่มสลายในปี พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) โดย พระเจ้าบาฮาดู ชา ซาฟาร์ (Bahadur Shah Zafar) เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โมกุล


พระเจ้าบาฮาดู ชา ซาฟาร์ Bahadur Shah Zafar


**********


          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ท่านสามารถนำ ข้อเขียน เนื้อหา ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแจ้งแต่ประการใด ส่วนภาพประกอบในสาระน่ารู้เหล่านี้ได้คัดลอกมาจาก Internet Public Domains บางภาพอาจมีลายน้ำต้องคงไว้เป็นตัวอ้างอิงถึงที่มา ต้องให้ Credit แก่เจ้าของภาพ และ www.dandinth.com เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่

กลับไปหน้าหลัก