พระพุทธเจ้าเล่านิทาน


ภาพเขียนพระศากยมุนีเทศนาเล่านิทานชาดก บนใบลานปกคำภีร์ สมัยปาละ อายุกว่า 1,200 ปี "

          ประมาณ 563 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ มากกว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นชนเผ่า ศากยะ (Sakya) วรรณะกษัตริย์ (Kshatriya) มีกรุงกบิลพัตร (Kapilavastu) เป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่ชายแดนด้านทิศตะวันออกใกล้ประเทศเนปาล ปัจจุบันคือหมู่บ้านเล็กๆ ในรัฐอุตราประเทศ (Uttar Pradesh) ประเทศอินเดีย พระราชบิดาสืบเชื้อสายตระกูลโคตะมะ (Gautama) เมื่อวัยเยาว์ทรงมีพระนามว่า สิทธารถะ (Siddharta) ส่วนพระนาม พระพุทธเจ้า (Buddha) นั้น เป็นพระนามถูกเรียกขานในภายหลัง

          เมื่อวัยหนุ่มทรงเป็นผู้สนใจไฝ่รู้ความเป็นไปของชีวิต การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตำนานกล่าวว่า พระองค์มีบุคลิกพิเศษและความสามารถอย่างน่าทึ่ง เมื่อพระชันษา 29 ได้สละทางโลกเสด็จออกจากพระราชวัง ละทิ้งครอบครัวเพื่อไปแสวงหา นิพพาน (Nirvana) ที่สุดแห่งความสงบ และได้บรรลุสัมโพธิฌาณจากการนั่งศึกษาด้วยการไตร่ตรองใต้ต้นโพธิ์

          ตลอดระยะเวลา 45 ปี พระองค์ได้ธุดงค์ทรงเทศนาสั่งสอนผู้คน ให้เข้าถึงวิธีปฏิบัติตนด้วยการบังคับจิตใจให้อยู่ในกฎและมีชีวิตที่ถูกต้อง พระองค์ทรงสอนผู้คนให้เข้าใจหลักการของ ธรรมะ (Dhama) บ่อยครั้งจะสอดแทรก นิทาน ซึ่งนิทานเหล่านี้ถูกเรียกโดยรวมในภายหลังว่า ชาดก (Jatakas) ทุกเรื่องทุกตอน พระองค์จะเน้นย้ำให้เห็นคุณค่าของความดีที่ถูกต้อง ตามหลักความเชื่อของพระองค์ ทรงแต่งนิทานโดยเอาตัวตนของพระองค์เป็นตัวเอก ดำเนินเรื่องเล่าอ้างย้อนหลังของชาติกำเนิดแต่ปางก่อน สาธยายแบบอย่างและคุณลักษณะที่ดีงามเน้นย้ำ เพื่อการส่งเสริมและเผยแพร่ให้เหล่าพุทธศาสนิกชนได้คล้อยตามอย่างมีเหตุมีผล เพื่อง่ายต่อการเข้าใจเรื่อง กรรม (Karma) โดย การสมมุติและผูกเป็นเรื่องเล่า ให้พระองค์มีชาติกำเนิดในอดีตชาติ มีรูปแบบของการได้เสวยพระชาติเป็นลำดับจากสัตว์ต่ำต้อยได้เพียรพยายามปฏิบัติตน กระทำคุณงามความดี ส่งผลให้ภพชาติกำเนิดในภพถัดไป มีลำดับชั้นของชีวิตที่ดีและสูงขึ้นกว่าชาติปางก่อน จากได้เคยเกิดเป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย เช่น นก หนู ปู ปลา จะมีลำดับชั้น สูงขึ้นไปเป็นสัตว์ใหญ่ในภพหน้า ท้ายสุด คือ ช้างเผือก แล้วที่สุด คือ มนุษย์ผู้ประเสริฐ นามศากยะมุนี

          หลังจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เหล่าศานุศิษย์ยังคงทำหน้าที่เล่าขานนิทานชาดกประกอบการเผยแพร่พุทธศาสนา ระหว่างนั้นได้สอดแทรกสุภาษิต ศีลธรรม เพิ่มเติมต้นเรื่องเดิมที่เคยเล่าขานมาเป็นเวลาช้านาน ต่อเมื่อมีการจดบันทึกและการใช้ตัวเขียนอักษร เหล่าพระสงฆ์ผู้อาวุโสได้ประพันธ์เพิ่มเติมในภายหลังอีกจำนวนมากมายหลายตอน

          เมื่อก่อนโน้นเล่าขานด้วยปากเปล่าจากปากต่อปาก ต่อมาได้มีการแกะสลักและเขียนรูปภาพตามผนังถ้ำ ผนังอารามของพุทธะสถานในที่ต่างๆ บันทึกเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างมีระเบียบและเป็นระบบ รวบรวมได้ทั้งสิ้น 547 ตอน

          การได้สดับตรับฟังนิทานเพื่อน้อมนำให้รู้จัก ศีลธรรม ความดี บาป บุญ คุณ และโทษ ด้วยความบันเทิงใจ ทำให้นิทานชาดกคงอยู่ในโลกของนิทานมายาวนานมากกว่าสองพันห้าร้อยปี โดยมิได้ขาดเสน่ห์ ยังคงมีพลังกล่อมเกลาจิตใจเด็กและผู้ใหญ่ให้มีสำนึกแห่งคุณงามความดี


ลำดับต่อไปนี้เป็น นิทานชาดก บางตอนจากถ้ำอจันตา Ajanta caves ประเทศอินเดีย


          นิทานชาดกในที่นี้แยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกเชื่อว่าเล่าโดยพระพุทธเจ้า เนื่องจากเนื้อหาบริสุทธิ์ เน้น ส่งเสริมคุณงามความดี ให้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ตัวเอกของเรื่องถูกเล่าในรูปของสัตว์ที่มีจิตอันประเสริฐ งดงาม มีธรรมะ สอดคล้องกับหลักปรัชญาของพุทธศาสนายุคต้นๆ ไม่มีนรก สวรรค์ ไม่มีพระเจ้า ไม่มีเทพเทวดา เนื้อหาตรงไปตรงมา เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน



คัดลอกจากภาพเขียนโบราณ ในถ้ำ Ajanta caves ประเทศอินเดีย จากหนังสือชาดก ตอน "กวางแห่งต้นไทร"


กวางแห่งต้นไทร The Banyan Deer

          กาลครั้งหนึ่ง มีกวางเพศผู้ขนสีทองนัยน์ตาใสเป็นประกายดั่งพลอย เขางามวาวดั่งเงินขัดเงา อาศัยอยู่ในป่าใกล้เมืองพาราณสี (Banaras) ชื่อ พระยากวางแห่งต้นไทร เป็นจ่าฝูง มีบริวาร 500 ตัว ใกล้ๆ กันนั้น ก็มีกวางอีกฝูงหนึ่งจำนวน 500 ตัว จ่าฝูงชื่อ พระยากวางแห่งพุ่มไพร มีขนสีทองสวยงาม เช่นกัน

          ในสมัยนั้น พระเจ้าพรหมทัติ (Brahmadatta) ผู้เป็นกษัตริย์ครองเมืองพาราณสี มักหมกมุ่นอยู่แต่การล่าสัตว์ พระองค์ทรงเสวยเนื้อสัตว์เป็นประจำ ทุกๆ เช้าจะรับสั่งให้ข้าราชสำนัก ชาวเมืองและชาวบ้าน ละวางจากธุระงานที่กำลังปฏิบัติ เพื่อให้ติดตามพระองค์ไปล่าสัตว์ในป่า

          ไม่นานนัก เหล่าข้าราชสำนักและประชาชนเริ่มมีความรู้สึกไม่พอใจ เนื่องจากถูกบังคับให้ตามเสด็จจนเป็นกิจวัตร "พระเจ้าแผ่นดินสั่งให้พวกเราหยุดธุระและงานทุกสิ่ง พระองค์ทรงคาดหวังอย่างเดียว คือ พวกเราไม่ต้องทำอะไรนอกจากตามพระองค์ไปล่าสัตว์"

          ต่างจับกลุ่มคิดต่อต้านและร่วมกันออกอุบายวางแผน "พวกเราจะหว่านเพาะธัญพืชและจัดหาน้ำไว้ในพระราชอุทยาน จากนั้นพวกเราจะช่วยกันต้อนฝูงกวางเข้าไปไว้ในพระราชอุทยาน แล้วปิดประตูทุกด้านเพื่อพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทำการล่าสัตว์ได้ดั่งใจปรารถนา"

          พวกเขาช่วยกันปลูกหญ้าหว่านเมล็ดธัญพืชและขุดบ่อน้ำสำหรับฝูงกวาง ประตูพระราชอุทยานถูกเปิดกว้าง เหล่าข้าราชสำนักเข้าไปในป่าพร้อมอาวุธทุกชนิด เข้าล้อมไล่ต้อนฝูงกวางแห่งต้นไทรและฝูงกวางแห่งพุ่มไพร เมื่อชาวบ้านเห็นฝูงกวางวิ่งกระเจิงอย่างแตกตื่นเพื่อหลบหนี เขาเหล่านั้นจะตีเกราะเคาะไม้จนกว่าเหล่าฝูงกวางทั้งสองถูกขับต้อนออกจากป่า ช่วยกันกวัดแกว่งอาวุธโห่ร้องต้อนฝูงกวางให้เข้าไปอยู่ในพระราชอุทยานจนหมด จากนั้นปิดทุกประตูอย่างแน่นหนา

          เมื่อทำได้สำเร็จสมประสงค์ พวกเขาจึงพากันเข้าเฝ้าและกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน "พระองค์ได้เคยทำให้การงานและอาชีพของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเสียหาย จากการถูกบังคับให้ติดตามพระองค์ไปล่าสัตว์ในป่าทุกวัน นั้น บัดนี้พวกเราได้ต้อนฝูงกวางจากป่ามาใว้ในพระราชอุทยาน มีจำนวนมากพอสำหรับพระองค์ได้ล่า และเสวยตามปรารถนาได้ทุกโอกาส ช่วยให้ไม่ต้องเสด็จไปไกลอีกต่อไป"

          พระเจ้าแผ่นดินทรงยินดีและได้เสด็จไปยังพระราชอุทยานเพื่อทอดพระเนตรเหล่าฝูงกวาง ซึ่งกำลังแทะเล็มหญ้า พลันเหลือบไปเห็นกวางขนสืทองสองตัวมีความงามเป็นเลิศ จึงได้มีพระราชดำรัสรับสั่งเป็นการเฉพาะ คือ ห้ามมิให้ฆ่ากวางสองตัวนี้ นอกนั้นให้นายพรานฆ่าได้วันละตัว แล้วนำเนื้อไปให้พ่อครัวปรุงเป็นอาหารที่พระราชวัง ทุกครั้งที่เหล่ากวางเห็นธนูที่กำลังโก่งคันเล็งตรงเข้ามา จะตกใจกลัวกระโจนวิ่งหนี หากถูกยิงไม่ถึงตายจะบาดเจ็บ หากถูกยิงหลายครั้งร่างกายจะอ่อนแอต้องทนทุกข์กับบาดแผล หากหมดแรงจะถูกฆ่าตายโดยง่าย พระยากวางแห่งต้นไทรจึงได้ปรึกษากับพระยากวางแห่งพุ่มไพร "เพื่อนเอ๋ย ฝูงของเราถูกฆ่าตายจำนวนมาก ไม่มีใครหนีความตายได้ แต่ก็ไม่ควรต้องทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็น ควรได้จัดลำดับคิวก่อนหลังให้เหล่ากวางเดินทางเข้าพระราชวัง โดยคัดเลือกมาจากแต่ละฝูงสลับกันวันละตัวเพื่อเข้ารับการประหารจากนายพราน เพื่อว่าพวกที่เหลือถ้าไม่ถึงคิวประหารจะได้ไม่ต้องตื่นตระหนก บาดเจ็บจากบาดแผลลูกธนู"

          พระยากวางแห่งพุ่มไพรเห็นชอบตามข้อเสนอของพระยากวางแห่งต้นไทร จากนั้น กวางที่ถึงคิวประหารจะเดินเข้าไปที่ประตูพระราชวัง ล้มตัวและพาดหัวลงบนแท่นประหาร พระเจ้าแผ่นดินจึงได้เสวยพระกระยาหารเนื้อกวางที่ถึงฆาตทุกวัน

          อยู่มาวันหนึ่งถึงคิวของแม่กวางจากฝูงพระยากวางพุ่มไพร ซึ่งเพิ่งคลอดลูกอ่อนได้ไม่กี่สัปดาห์ กวางแม่ลูกอ่อนตัวนี้ มีความกลัวและห่วงใยลูกน้อย จึงได้เข้าไปหาพระยากวางพุ่มไพร "หัวหน้า วันนี้เป็นคิวของข้าที่จะต้องไปยังแท่นประหาร แต่ลูกของข้ายังอ่อนวัย หากินด้วยตัวเองไม่ได้ หากข้าตายแล้วใครจะดูแลลูกของข้า ขอให้ข้าได้รับการยกเว้นไปก่อนจนกว่าลูกของข้าเติบใหญ่ดูแลตัวเองได้ จากนั้นข้าจะเข้าไปยังแท่นประหาร"

          พระยากวางแห่งพุ่มไพรเฉยเมยต่อการร้องขอของแม่กวาง กลับตอบด้วยความเกรี้ยวกราด "ข้าไม่สามารถออกคำสั่งให้กวางตัวอื่นไปแทนเจ้าได้ มันเป็นความโชคร้ายของเจ้าที่ถึงฆาตต้องตายในวันนี้ ห้ามรีรอ จงรีบไปเดี๋ยวนี้"

          แม่กวางเดินกลับด้วยน้ำตานอง หันไปมองลูกอ่อนที่อิงแอบแนบกายอยู่ใกล้ๆ จึงตัดสินใจเดินไปขอความเมตตาจากพระยากวางแห่งต้นไทร พระยากวางแห่งต้นไทรรับฟังด้วยความสงสารและเห็นใจ ได้กล่าว "จงกลับไปเข้าฝูงของเจ้าและดูแลลูกน้อยให้จงดี ข้าจะไปแทนที่คิวประหารของเจ้า"

          จากนั้น พระยากวางแห่งต้นไทรได้เดินตรงไปที่ประตูพระราชวัง ล้มตัวพาดหัวลงบนแท่นประหาร นายพรานเห็นดังนั้น ได้อุทานออกมา "เจ้าคือพระยากวาง ซึ่งได้รับการยกเว้นใว้ชีวิตจากพระเจ้าแผ่นดิน นี่หมายความว่ากระไร"

          ด้วยความงงงวย นายพรานรีบวิ่งเข้าพระราชวังเพื่อกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน ความทราบพระเจ้าแผ่นดินพร้อมเหล่าขุนนางและข้าราชบริพาร ต่างรีบเร่งตรงมายังแท่นประหารหน้าประตูพระราชวัง เห็นกวางขนสีทองรูปงามล้มตัวพาดหัวลงบนแท่นประหาร พระองค์ทรงตรัสด้วยน้ำเสียงสุภาพอ่อนโยน "เพื่อนรัก พระยาแห่งกวาง เราไม่เคยอนุญาตให้เจ้าได้รับการประหาร ทำไมเจ้าจึงทำเช่นนี้ "

          พระยากวางแห่งต้นไทร "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แม่กวางพร้อมลูกอ่อนมาพบข้าพระพุทธเจ้า ได้ร้องขอยกเว้นคิวประหาร เนื่องจากมีลูกอ่อนต้องเลี้ยงดู ขอผัดไปเป็นวันอื่นจนกว่าลูกน้อยเติบโต หากินเองได้ หากแม่กวางต้องตาย ลูกกวางน้อยก็จะลำบากผู้ใดจะรับผิดชอบ ข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถสั่งให้ผู้ใดไปตายแทนแม่กวางได้ จำต้องอาสามาแทนที่แม่กวาง ด้วยเหตุฉะนี้ พระองค์จึงได้เห็นข้าพระพุทธเจ้าพาดหัวบนแท่นประหาร ไม่มีอะไรมากเกินไปกว่านี้"

          พระเจ้าแผ่นดินมองไปยังร่างของพระยากวางแห่งต้นไทรด้วยความฉงนสนเท่ห์ "พระยากวาง ทุกวันนี้ไม่เคยมีเรื่องเช่นว่านี้ แม้นในหมู่คนก็ตาม การยอมสังเวยตัวเองเพื่อผู้อื่นเช่นนี้ ยิ่งใหญ่นัก ไม่มีผู้ใดเทียบเท่าความรักความใจบุญความสงสารของเจ้าได้ จงลุกขึ้นเถิด ข้ายอมไว้ชีวิตให้แม่กวาง"

          พระยากวางแห่งต้นไทร "พระองค์ไว้ชีวิตพวกเรา แล้วกวางตัวอื่นๆ"

          พระเจ้าแผ่นดิน "พระยากวาง ข้าไว้ชีวิตกวางตัวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน"

          พระยากวางแห่งต้นไทร "พระองค์ไว้ชีวิตกวาง แล้วสัตว์สี่เท้าอื่นๆ"

          พระเจ้าแผ่นดิน "ก็ได้ ข้าไว้ชีวิตสัตว์สึ่เท้าด้วยเช่นกัน"

          พระยากวางแห่งต้นไทร "สรรพสัตว์ล้วนปลอดภัย แล้วฝูงนกทั้งหลายในอาณาจักรของพระองค์ ?"

          พระเจ้าแผ่นดิน "เช่นกัน ได้รับการไว้ชีวิต"

          พระยากวางแห่งต้นไทร "เหล่านกได้รับการไว้ชีวิต แล้วเหล่าปลาในแม่น้ำลำคลองหนองบึง ?"

          พระเจ้าแผ่นดิน "แน่นอน ได้รับการไว้ชีวิตเช่นกัน"

          พระยากวางแห่งต้นไทรลุกขึ้นยืนแล้วกล่าวขอบพระทัยในความเมตตาปราณี จากนั้นได้เดินกลับไปยังพระราชอุทยาน

          พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้เปิดประตูพระราชอุทยานทุกบาน พระยากวางแห่งต้นไทรและพระยากวางแห่งพุ่มไพรต่างนำฝูงของตนเดินกลับเข้าป่าไปยังที่ๆ เคยอยู่อาศัยมาก่อนด้วยความสงบสุข จวบสิ้นอายุขัย



คัดลอกจากภาพเขียนโบราณ ในถ้ำ Ajanta caves ประเทศอินเดีย จากหนังสือชาดก ตอน "ห่านทอง"


ห่านทอง The Golden Goose

          นานมาแล้ว พระเจ้าพหูภูทักก์ (Bahuputakka) เสด็จพ่อผู้มากกุลบุตร เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองพาราณสี (Banaras) มีมเหสีทรงพระนาม เขมา (Khema) อยู่มาวันหนึ่ง พระมเหสีได้ทรงพระสุบินว่า มีห่านทองตัวหนึ่งมีความรู้เฉลียวฉลาดดั่งบัณฑิต พระมเหสีจึงได้ทูลพระเจ้าแผ่นดินถึงแรงปรารถนาใคร่ได้พบและฟังวาทะของนกอัศจรรย์ตัวนั้น

          พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงไต่ถามถึงเรื่องนี้และทรงรับทราบว่า ห่านทองมีจริงแต่หายากโอกาสที่จะได้พบเห็นแทบเป็นไปไม่ได้ พระองค์จึงได้ส่งคนไปถามเหล่าชาวป่าและนายพรานว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ห่านทองมายังเมืองพาราณสี เขาเหล่านั้นได้ทูลเสนอแนะให้พระเจ้าแผ่นดินขุดทะเลสาปใกล้ๆ เมือง เพื่อล่อให้ห่านทองเข้ามา

          ในช่วงเวลานั้น มีห่านป่าฝูงใหญ่ ประมาณเก้าพันตัว พักอาศัยอยู่บนภูเขา คิชชกูต (Cittakuta) จ่าฝูงชื่อ ธะตะรัตธ์ (Dhatarattha) รูปร่างงามด้วยขนเปล่งประกายเป็นสีทอง

          ทะเลสาปขนาดใหญ่ได้ถูกขุดขึ้นใกล้เมืองพาราณสี พระเจ้าแผ่นดินได้ตั้งชื่อตามพระนามของพระมเหสีว่า ทะเลสาปเขมา ต้นไม้ใหญ่ถูกนำมาปลูกรอบๆ ทะเลสาป ไม้จำพวกบัวชนิดต่างๆ ถูกปลูกกลางน้ำ ทุกๆ วัน เมล็ดธัญพืชจะถูกโปรยไปทั่ว พระเจ้าแผ่นดินให้ป่าวประกาศ "พระเจ้าแผ่นดินแห่งเมืองพาราณสี ขอเชิญชวนเหล่านกทั้งหลาย จงมาพำนักพักอาศัยได้อย่างสงบสุขและปลอดภัยในทะเลสาปแสนงามแห่งนี้ จะได้รับการคุ้มครอง ปกป้องภัยอันตรายโดยคนของพระเจ้าแผ่นดิน"

          ข่าวของทะเลสาปนี้รู้ไปถึงฝูงห่านป่าที่เขาคิชชกูต เหล่าฝูงห่านจึงได้เดินทางไปพบจ่าฝูงห่านทอง "หัวหน้า พระเจ้าแผ่นดินแห่งเมืองพาราณสีได้สร้างทะเลสาปสวยงามขนาดใหญ่ใกล้เมือง รับรองที่จะปกป้องนกทุกตัวที่พักอาศัยในที่แห่งนั้น และยังได้รับการเลี้ยงดูจากเจ้าหน้าที่อย่างดี พวกเราควรเข้าไปสำรวจตรวจสอบว่าเป็นเช่นที่ว่าหรือไม่ เพราะพวกเราเบื่อหน่ายที่จะพำนักพักอาศัยบนยอดภูเขาสูงแห่งนี้"

          จ่าฝูงห่านทองเห็นด้วยกับข้อเสนอ จึงได้ร่วมกับฝูงบินไปทางทิศใต้มุ่งสู่เมืองพาราณสี ณ ที่นั้น พระเจ้าแผ่นดินได้รับสั่งให้เหล่านายพรานคอยเฝ้าสังเกตใกล้ๆ ทะเลสาป หากพบเห็นห่านทองบินมายังทะเลสาป ให้ดักจับด้วยแร้วดักนก และนำส่งให้พระองค์ทันที หัวหน้านายพรานจึงได้สั่งให้ลูกน้องเฝ้าและตีวงล้อมรอบทะเลสาป คอยสังเกตตลอดทั้งวันทั้งคืน

          เช้าวันหนึ่ง หัวหน้านายพรานได้เห็นห่านฝูงใหญ่ และมีตัวหนึ่งขนสะท้อนแสงอาทิตย์ดั่งทองบินมุ่งตรงมายังทะเลสาป หัวหน้านายพรานจึงรีบวางแร้วดักนกระหว่างกอพืชน้ำกับกอดอกบัว เพราะรู้ดีว่าห่านทองคือจ่าฝูงจะต้องเป็นผู้สัมผัสน้ำก่อนเป็นตัวแรก ดั่งก้อนเมฆดำทะมึน ฝูงห่านเก้าพันตัวล่องลอยลงมายังทะเลสาป จ่าฝูงห่านทองบินลงมายังพื้นน้ำ ทันทีที่กระทบผิวน้ำเท้าถูกแร้วดักนกรัดไว้แน่น เหล่าฝูงห่านเห็นจ่าฝูงห่านทองติดกับดัก ต่างตีวงล้อมจ่าฝูงห่านทองและส่งเสียงร้องระงมด้วยความตกใจ แต่ไม่มีตัวใดกล้าหาญพอที่จะเข้าไปช่วยจ่าฝูงห่านทอง จากนั้นต่างกระโจนขึ้นและพากันบินกลับไปยังภูเขาคิชชกูตเพื่อความปลอดภัย เหลืออยู่แต่ สุมุข (Sumukha) รองจ่าฝูงเพียงตัวเดียวที่อยู่เคียงข้างจ่าฝูงห่านทอง

          จ่าฝูงห่านทองหันมาและเอ่ย "ห่านตัวอื่นๆ ล้วนบินหนีไปกันหมดเขาละทิ้งข้า เจ้ารออยู่ทำไม จงรีบบินหนีไปโดยเร็วในเมื่อมีโอกาส ขืนอยู่เจ้าจะถูกจับ"

          สุมุขแหวกว่ายเคียงข้างจ่าฝูง ตอบว่า "ข้าจะไม่ละทิ้งเจ้านาย แม้นความตายจะใกล้เข้ามาข้าก็จะยังอยู่ที่นี่จะอยู่หรือตายเคียงข้างท่าน"

          ระหว่างที่พูดคุยกันอยู่นั้น หัวหน้านายพรานได้เดินใกล้เข้ามา สุมุขตัดสินใจจะทำให้หัวหน้านายพรานใจอ่อน จึงได้บินตรงไปหาหัวหน้านายพรานเพื่อขอร้องให้ปล่อยจ่าฝูงห่านทอง ห้วหน้านายพรานซึ่งกำลังตะลึงกับความสวยงามของห่านทองได้ถาม "สหายทั้งหลายของเจ้าได้บินหนีไปหมด ทำไมเจ้าจึงมองไม่เห็นแร้วดักนกจากระยะไกล"

          จ่าฝูงห่านทอง เมื่อชีวิตใกล้จุดอวสานความตายมาถึง ไม่มีประโยชน์ที่จะต้านชะตากรรม ด้วยเหตุนี้เราจึงมองไม่เห็นแร้วดักนก"

          หัวหน้านายพรานรู้สึกประทับใจอย่างยิ่งในความรอบรู้ของจ่าฝูงห่านทอง เขาหันไปถามสุมุข "เจ้าละ ทำไมยังขืนอยู่ที่นี่ ในเมื่อห่านตัวอื่นๆ ได้บินลับหายไปหมดแล้ว เจ้ายังอิสระไม่ถูกจับ ทำไมยังต้องเคียงข้างห่านทองผู้ประเสริฐนี้ เขาเป็นใครกันเจ้าจึงไม่ยอมละทิ้งทั้งที่มีโอกาสหนี"

          สุมุข "เขาคือจ่าฝูงของเรา เป็นผู้นำ เป็นทั้งนายและเพื่อน เราจะไม่ละทิ้งแม้นว่าจะต้องตายก็ตาม"

          ได้ยินเช่นนี้ หัวหน้านายพรานจึงได้ฉุกคิด "จริงทีเดียว สองตัวนี้ช่างเป็นนกที่กล้าหาญและประเสริฐแท้ ถ้าเราทำให้เขาเป็นอันตรายหรือบาดเจ็บ เราคงจะมีความผิดอย่างมหันต์เป็นแน่แท้ ไม่ต้องสนใจรางวัลจากพระเจ้าแผ่นดิน ปล่อยเขาให้เป็นอิสระดีกว่า"

          หัวหน้านายพรานกล่าวแก่สุมุข "ในเมื่อเจ้าพร้อมที่จะตายเพื่อมิตรภาพ ข้าจะปล่อยเจ้าทั้งสองให้เป็นอิสระ จงบินไปยังที่ปรารถนา"

          หัวหน้านายพรานปลดเชือกจากแร้วดักนกออกจากเท้าของจ่าฝูงห่านทองด้วยมือแผ่วเบา และล้างเลือดด้วยน้ำที่ใสสะอาดจากทะเลสาป จัดกระดูกขาที่บิดเบี้ยวให้เข้าที่ ดั่งปาฏิหาริย์ขาของจ่าฝูงห่านทองเข้าที่คงรูปดั่งเดิม ไม่มีรอยแผลให้เห็น

          สุมุขยินดึเป็นอย่างยิ่งที่จ่าฝูงได้เป็นอิสระ จึงได้ให้พรหัวหน้านายพราน "ในฐานะที่ท่านได้กรุณาปล่อยให้จ่าฝูงของเราให้ได้รับอิสระภาพ ขอให้หัวหน้านายพรานและครอบครัวจงมีชีวิตที่รุ่งโรจน์ตลอดไป"

          จ่าฝูงห่านทองถามหัวหน้านายพราน "ท่านตั้งใจจับเราเพื่อตัวท่าน หรือผู้ใดสั่งมา ?"

          หัวหน้านายพรานตอบ "เป็นคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินให้มาวางแร้วดักนก เพื่อดักจับห่านทอง" จากนั้น หัวหน้านายพรานได้บอกความจริงถึงพระประสงค์ของพระมเหสี

          จ่าฝูงห่านทองคิดในใจ "บางทีจะเป็นการดีถ้าพวกเราเดินทางเข้าไปในเมือง หัวหน้านายพรานและพวกย่อมจะได้รับรางวัล พระเจ้าพหูภูทักก์ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เฉลียวฉลาด และทรงคุณงามความดี ถ้าเราไปปรากฎต่อพระพักตร์ พระองค์คงจะพึงพอใจและยินดีให้พวกเราได้อยู่อาศัยในทะเลสาปที่สวยงามแห่งนี้อย่างอิสระ"

          คิดได้เช่นนั้น จ่าฝูงห่านทองจึงกล่าว "จงนำเราไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินของท่าน เราจะขอร้องพระองค์เพื่อปล่อยให้เราทั้งสองเป็นอิสระ"

          หัวหน้านายพราน "พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงเป็นผู้เมตตาเสมอไป พระองค์อาจจะกักขังเจ้าทั้งสองเยี่ยงนักโทษ"

          จ่าฝูงห่านทอง "ท่านนายพราน เราได้สะกดทำให้ท่านรู้สึกใจอ่อนต่อเรา แม้นพระเจ้าแผ่นดินเราก็ทำได้เช่นกัน เรื่องนั้นให้เป็นธุระของเรา ท่านจงได้ทำหน้าที่ของท่าน นำเราและสุมุขไปเป็นของกำนัลแก่พระเจ้าแผ่นดินเถิด"

          ดังนั้น หัวหน้านายพรานจึงนำห่านทั้งสองใส่ไว้ในกระชุ แล้วเดินทางตรงไปยังพระราชวัง

          เมื่อพระเจ้าแผ่นดินและพระมเหสีได้เห็นห่านทั้งสองที่แสนสง่างามด้วยความปิติยินดี ตัวหนึ่งมีสีขนเปล่งประกายดั่งทอง อีกตัวมีสีขนขาวบริสุทธิ์ดั่งหิมะบนยอดเขา พระเจ้าแผ่นดินให้ห่านทั้งสองเกาะอยู่ที่คอนทองคำ ป้อนเมล็ดถั่วคั่ว น้ำผึ้งและน้ำหวาน ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์

          ตลอดวันตลอดคืน พระเจ้าแผ่นดินและจ่าฝูงห่านทองได้สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับหน้าที่และคุณงามความดีของกษัตริย์ จ่าฝูงห่านทองได้กราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน "ผู้ใดก็ตามที่ละวางไม่ใส่ใจกระทำความดีงามด้วยความมานะพยายามย่อมจะตกต่ำ จะสูญเสียความรอบรู้ ผู้ไม่เห็นสัจธรรมจะไม่ได้รับความรู้ จงถนอมเลี้ยงดูเหล่ากุลบุตรของพระองค์ให้เติบใหญ่อย่างเฉลียวฉลาดบนเส้นทางแห่งคุณงามความดี"

          ด้วยประการฉะนี้ จ่าฝูงห่านทองได้ให้คำแนะนำและสนับสนุนพระเจ้าแผ่นดิน จวบจนรุ่งแจ้ง ดวงอาทิตย์ทอแสงอ่อนจากขอบฟ้าเบื้องทิศตะวันออก จ่าฝูงห่านทองและสุมุขผู้ซื่อสัตย์ได้กราบทูลลาพระเจ้าแผ่นดินและพระมเหสี จากนั้นพร้อมกันบินออกไปทางหน้าต่างด้านทิศเหนือของพระราชวัง มุ่งตรงไปยังภูเขาคิชชกูตที่อยู่ห่างออกไป



คัดลอกจากภาพเขียนโบราณ ในถ้ำ Ajanta caves ประเทศอินเดีย จากหนังสือชาดก ตอน "วานรผู้มีใจเป็นเลิศ"


วานรผู้มีใจเป็นเลิศ The Great-Hearted monkey

          ณ พื้นที่สูงแห่งเทือกเขาหิมาลัยเป็นที่อยู่ของวานรฝูงใหญ่ แหล่งที่อยู่อาศัยเป็นป่าไม้ จะมีที่โล่งแจ้งก็เฉพาะริมฝั่งแม่น้ำคงคา (Ganges) มีน้ำใสไหลหลากเชี่ยวเนื่องจากถูกบีบด้วยเกาะแก่ง ที่ริมฝังแม่น้ำมีต้นไม้ใหญ่ทรงพุ่มหนาร่มครี้มอยู่ต้นหนี่ง ในฤดูร้อนจะผลิดอกออกผลโตรสเลิศมีสีผิวเป็นสีทอง ทันทีที่ผลไม้สุกได้ที่ เหล่าฝูงวานรจะรีบกินให้หมดต้นโดยเร็วเท่าที่จะทำได้ จ่าฝูงวานรเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดที่สุดในฝูง ได้เคยเตือนเหล่าวานร ห้ามไม่ให้ผลไม้ตกหรือหล่นลงในแม่น้ำ หากเกิดขึ้นจะนำพาผู้คนห่างไกลที่อาศัยอยู่ใต้แม่น้ำตามมาเสาะหาผลไม้รสเลิศนี้ จะนำมาซึ่งความไม่สงบสุขแก่อาณาเขตของเหล่าวานร

          กิ่งหนึ่งของต้นไม้นี้ยื่นต่ำลงไปใกล้แม่น้ำ มีผลหนึ่งสุกงอมเต็มที่ถูกบดบังด้วยรังมด ได้ร่วงหล่นลงสู่สายธารของแม่น้ำที่เชี่ยวกราก ถูกพัดพาห่างไกลออกไปทางทิศใต้ ล่องลอยไปจนถึงเมืองพาราณสี (Banaras) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคา

          เช้าวันนั้น พระเจ้าพรหมทัติ (Brahmadatta) ผู้เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองพาราณสี กำลังสรงน้ำอยู่ในแม่น้ำคงคาระหว่างตาข่ายดักปลาของชาวประมงสองผืน เมื่อพระองค์ได้เสด็จขึ้นจากการสรงน้ำ ตาข่ายดักปลาทั้งสองถูกชักขี้นเพื่อพับเก็บ ในตาข่ายผืนหนึ่งปรากฏประกายแสงของผลไม้ผิวสีทอง ยังความประหลาดใจ ชาวประมงได้หยิบผลไม้ผลนั้นรีบวิ่งตรงไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์พินิจพิเคราะห์ด้วยความอยากรู้ เนื่องจากไม่เคยพบเห็นมาก่อน ทรงถาม "ผลไม้อะไรช่างเปล่งปลั่งเช่นนี้ !"

          ชาวประมงย่อมมีความรู้แต่เรื่องปู ปลา และวิถีจับสัตว์น้ำเพื่อโต๊ะเสวยเท่านั้น จึงกราบทูล "ไม่ทราบพะยะค่ะ"

          พระองค์จึงมีรับสั่งให้ชาวป่าเข้าพบ ชาวป่าได้กราบทูล "ผลมะม่วง พะยะค่ะ"

          พระเจ้าแผ่นดิน "มันขึ้นอยู่ ณ ที่แห่งใด ?"

          ชาวป่า "มิได้ขึ้นในราชอาณาจักรของเรา ผลไม้เช่นนี้ขึ้นอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัย ในหุบเขาห่างไกลจากที่นี่มาก พะยะค่ะ"

          ผลมะม่วงได้ถูกปอกและเฉือนเพื่อชิม จากนั้นได้แบ่งที่เหลือให้แก่พระมเหสีและเหล่าข้าราชบริพารแบ่งกันชิม ต่างลงความเห็นว่าเป็นผลไม้ที่มีรสเป็นเลิศ ไม่มีใครได้เคยลิ้มรสมาก่อน

          วันเวลาผ่านไป พระเจ้าพรหมทัติมีความต้องการที่จะได้ลิ้มรสผลไม้หวานฉ่ำ ด้วยความหงุดหงิดพระทัย ครุ่นคิดอยู่อย่างเดียว ผลมะม่วงที่ได้เคยลิ้มรส ในที่สุดพระองค์ตัดสินใจออกไปเสาะหาต้นมะม่วงที่อยู่ห่างไกล ได้ทรงสั่งให้ต่อแพและร่วมกับผู้ติดตาม ถ่อแพทวนน้ำขึ้นไปเพื่อเสาะหาผลมะม่วง

          หลังจากเดินทางรอนแรมมาหลายวัน ก็มาถึงหุบเขาแห่งหนึ่งที่ต้นมะม่วงใหญ่ขี้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ พระเจ้าแผ่นดินและผู้ติดตามได้ขึ้นฝั่งด้วยความปิติยินดี ต่างร่วมกันเลี้ยงฉลองที่ได้รับประทานผลมะม่วงที่มีรสหวานฉ่ำ เมื่อตกค่ำ พระเจ้าแผ่นดินได้บรรทมใต้ต้นมะม่วง เหล่าทหารจัดเวรยาม จุดคบไฟไว้โดยรอบเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายไม่ให้เข้ามาใกล้

          ดึกสงัดของค่ำคืนนั้น เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระบรรทมหลับสนิท เหล่าทหารยามต่างก็ม่อยหลับ ฝูงวานรและจ่าฝูงเดินทางมาถึง ต่างกระโดดขึ้นไปบนต้นมะม่วงและรีบกินผลมะม่วงสุก ส่งเสียงอึกทึกปลุกให้พระเจ้าแผ่นดินตื่น เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรเห็นฝูงวานรกระโจนไปมาระหว่างกิ่งต้นมะม่วง พระองค์ทรงกริ้วมาก ออกคำสั่ง "พลธนูจงล้อมต้นมะม่วงและยิงเหล่าวานร เพื่อว่าพรุ่งนี้เช้าจะได้รับประทานเนื้อวานรรสเลิศพร้อมกับผลมะม่วง จะเป็นอาหารมื้อที่มีรสเลิศที่สุด"

          เหล่าฝูงวานรได้ยินพระดำรัสสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน พากันใจหายใจคว่ำด้วยความกลัว ต่างตรงไปหาจ่าฝูงวานร "หัวหน้า ท่านได้เตือนพวกเรามาก่อนแล้ว แต่พวกเรามิได้ทราบว่ามีบางผลได้ร่วงหล่นลงไปในแม่น้ำ นำพาคนแปลกหน้ามายังพวกเรา เจ้านายของพวกมันได้สั่งให้ยิงพวกเราด้วยธนู ต้นไม้นี้ถูกล้อมพวกเราไม่มีทางหนีรอดได้เลย ควรจะทำอย่างไรดี ?"

          จ่าฝูงวานร "เด็กๆ ใจเย็นๆ อย่ากลัวไปเลย ข้าจะหาทางเพื่อช่วยพวกเจ้า"

          หลังจากปลอบใจเหล่าพลพรรค จ่าฝูงวานรได้ปีนป่ายขึ้นไปยังกิ่งมะม่วงที่อยู่สูงที่สุดเบื้องบน ณ จุดนั้นมีกิ่งไม้ยื่นออกไปใกล้อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ด้วยร่างกายกำยำแข็งแรง จ่าฝูงวานรได้กระโจนลงไปในแม่น้ำ แหวกว่ายข้ามไปยังอีกฝั่ง ตัดลำไผ่ตามความยาวที่ต้องการมาหนึ่งลำ ผูกปลายลำไผ่ข้างหนึ่งกับลำต้นไม้ของฝั่งน้ำทางนี้ จากนั้นปลายอีกข้างหนึ่งตั้งใจจะผูกติดกับเอวของตน และยืนโยงยึดกับกิ่งของต้นมะม่วงที่ฝั่งโน้น เพื่อให้พลพรรคได้ไต่ข้ามหลบหนีมายังฝั่งนี้ จากนั้นได้แหวกว่ายข้ามแม่น้ำกลับมายังต้นมะม่วงที่ซึ่งเหล่าพลพรรควานรกำลังรอคอยด้วยความกระวนกระวาย ทว่าจ่าฝูงวานรต้องพบกับความผิดพลาดเนื่องจากการคำนวณ เพราะลืมคิดไปว่าจะต้องมีความยาวของลำไผ่ส่วนหนึ่งเผื่อไว้ เพื่อพันผูกกับเอวของตน ลำไผ่ที่ได้มาจึงมีความยาวสั้นไปเล็กน้อย แต่ก็ยังพอที่จะจับยึดไว้ด้วยมือทั้งสองและยืดตัวเองออกด้วยเท้าทั้งสองจับยึดกับกิ่งของต้นมะม่วง ด้วยความมานะ จ่าฝูงวานรจึงจับยึดกับกิ่งมะม่วงไว้แน่น และสั้งพลพรรควานร "เร็ว ขึ้นหลังข้าแล้วปีนไปบนลำไม้ไผ่หนีไปยังฝั่งตรงกันข้ามของแม่น้ำ"

          ทีละตัว เหล่าวานรทำความเคารพและค่อยๆ เดินบนหลังไปตามลำไม้ไผ่ข้ามหลบภัยไปยังอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ในฝูงวานรนึ้มีวานรร้ายจิตอกุศลอยู่หนึ่งตัว มีความคาดหวังทะเยอทะยานอยากครองตำแหน่งจ่าฝูง แอบอิจฉาริษยาจ่าฝูงวานรเสมอมา กำลังอยู่รั้งเป็นตัวสุดท้าย คิดในใจ "นี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทำลายศัตรู"

          เจ้าวานรร้ายตัวนี้กระโจนขึ้นไปบนหลังของจ่าฝูงวานรอย่างแรงจนหลังหักได้รับความเจ็บปวดเป็นอย่างยิ่ง วานรผู้ไร้น้ำใจได้ไต่ลำไม้ไผ่ข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำด้วยความปลอดภัย ปล่อยให้จ่าฝูงวานรต้องทนทุกข์เดียวดายด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส พระเจ้าพรหมทัติได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์โดยตลอด มีความรู้สึกสงสารในวีระกรรมของจ่าฝูงวานร รุ่งสางพระองค์ได้รับสั่งให้ผู้ติดตามนำจ่าฝูงวานรที่ติดอยู่กับกิ่งของต้นมะม่วงลงมาด้วยความระมัดระวัง จากนั้นได้อาบน้ำให้จ่าฝูงวานรผู้บาดเจ็บด้วยน้ำอบน้ำปรุง และพันร่างด้วยผ้าคลุมนุ่มสีเหลือง พระองค์นั่งอยู่ข้างจ่าฝูงวานร และทรงตรัสถาม "เจ้าทำสะพานด้วยร่างกายของเจ้าเพื่อให้เหล่าวานรได้ไต่ข้าม การทำเช่นนี้เท่ากับได้อุทิศชีวิตของเจ้าเพื่ออะไรกันแน่ ?"

          จ่าฝูงวานรใกล้ตาย ตอบด้วยเสียงแผ่วเบา "เขาเหล่านั้นคือเด็กๆ ของเราซึ่งเป็นหัวหน้าและผู้นำ เขาเหล่านั้นเคารพรักและเชื่อฟังเสมอมา จึงไม่สามารถละทิ้งเอาตัวรอดแต่ลำพังได้ เพราะพวกเขายอมรับการปกครองและเป็นลูกน้องที่ดี พวกเราปกครองและยอมรับด้วยระบบให้เสรีภาพ หากต้องการให้การปกครองของพระองค์ได้ดี พึงสำนึกไว้ว่า ความสุขและความอยู่ดีกินดีของไพร่ฟ้าประชาราชจะต้องมาก่อนเสมอ"

          จ่าฝูงวานรค่อยๆ หลับตา หยุดหายใจและตาย พระเจ้าพรหมทัติได้รับสั่งให้จัดพิธีศพแก่จ่าฝูงวานรดั่งพิธีศพของพระมหากษัตริย์ สร้างศาลสำหรับสักการะ ณ จุดที่เผาศพจ่าฝูงวานร ให้จุดคบเพลิง ถวายเครื่องหอม กำยาน และดอกไม้

          เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเดินทางกลับมาถึงเมืองพาราณสี พระองค์มีพระราชโองการให้สร้างศาลเพื่อเป็นเกียรติแก่จ่าฝูงวานร และกำชับให้ผู้อยู่ใต้การปกครองของพระองค์บูชาจ่าฝูงวานรในฐานะสัตว์ผู้มีความกล้าหาญ ตลอดชีวิตพระองค์จดจำคำพูดสุดท้ายของจ่าฝูงวานร และทรงปกครองพสกนิกรด้วยคุณงามความดี



คัดลอกจากภาพเขียนโบราณ ในถ้ำ Ajanta caves ประเทศอินเดีย จากหนังสือชาดก ตอน "กวางทอง"


กวางทอง The Golden Deer

          กาลครั้งหนึ่ง มีพ่อค้ามั่งคั่งพำนักอาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี (Banaras) มีบุตรชายคนเดียวชื่อ มหาธนาคาร (Mahadhanaka) ในวัยเด็กถูกทำให้เสียคนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากบิดามารดาอันเป็นที่รัก เติบใหญ่โดยปราศจากวิชาความรู้ มัวเมาอยู่กับการขับร้องเต้นรำทำเพลง สนุกอยู่กับการดื่มกิน รื่นเริงในหมู่มิตรสหาย เมื่ออายุครบวัย บิดามารดาได้จัดหาคู่ครองให้ อยู่กินกันมาไม่นานนักผู้เป็นภรรยาและบิดามารดาได้เสียชีวิต

หลังจากผู้ปกครองได้เสียชีวิต หนุ่มเจ้าสำราญผู้นี้ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่เฉกเช่นคนเกียจคร้านคบหาแต่เพื่อนกิน แต่ละวันหมกมุ่นอยู่กับการดื่มและเล่นการพนัน ด้วยเหตุฉะนี้ สมบัติที่ได้รับจากบิดาจึงหมดสิ้น ต้องไปหยิบยืมเงินผู้อื่นและไม่ยอมจ่ายคืนหนี้สิน ถูกเจ้าหนี้ทวงถามเสมอมา

          เขาเริ่มมีความกลัวและเป็นกังวลแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในที่สุดตัดสินใจวางแผนเล่นละครตบตาเพื่อหนีหนี้ เขาได้เรียกเหล่าเจ้าหนี้ "ตามฉันมา ก่อนที่บิดาของข้าจะตาย ท่านได้กล่าวแก่ข้าว่าได้ฝังสมบัติจำนวนมากใว้ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา (Ganges) พวกเราไปช่วยกันขุดหา หากพบข้าจะแบ่งให้ทุกคนได้รับจำนวนเท่าๆ กัน"

          เหล่าเจ้าหนี้ยินดีเป็นอย่างยิ่ง คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะได้เงินในส่วนที่ถูกยืมกลับคืนมา ต่างตามบุตรชายพ่อค้าไปยังฝั่งแม่น้ำ ที่นั่นเขาแสร้งทำเป็นขุดค้นหาที่นั่นหาที่นี่ ขณะที่เหล่าเจ้าหนี้แคลงใจว่ามีสมบัติถูกฝังอยู่จริงหรืออย่างไร ทันใดนั้น เขาได้กระโดดขึ้นไปบนก้อนหินและเหวี่ยงตัวเองลงไปในแม่น้ำจากที่ได้ตั้งใจวางแผนมาตั้งแต่แรก เขาเปล่งเสียงร้องสุดเสียงในกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว

          น่ากลัวมาก เหล่าเจ้าหนี้ต่างยืนดูที่ริมฝั่งแม่น้ำอย่างสิ้นหวัง กระแสน้ำแรงมากไม่มีผู้ใดกล้าพอที่จะกระโจนลงไปในแม่น้ำเพื่อช่วยบุตรชายพ่อค้า เห็นแต่ศีรษะของเขาลอยห่างออกไปไกล และจมหายไปในที่สุด เหล่าเจ้าหนี้ต่างเดินกลับบ้านของตนด้วยความเศร้า

          ใกล้กับคุ้งน้ำมีหมู่ไม้เต็มไปด้วยดอกไม้มีกลิ่นหอม ต้นพะยอมและต้นมะม่วง ที่แห่งนี้เป็นที่อยู่ของกวางทองรูปงามฝีเท้าจัดอาศัยอยู่ห่างจากฝูงสัตว์เลี้ยง กวางตัวนี้มีผิวหนังมันวาวดั่งทอง ขาของมันดูดั่งทาด้วยน้ำมันครั่ง มีเขางามดั่งขดเป็นวงด้วยเส้นลวดเงิน นัยตาแวววาวดั่งพลอยสูงค่า

          กวางทองตัวนี้กำลังแทะเล็มหญ้าอ่อน พลันได้ยินเสียงร้องโหยหวนก้องไพร จึงรีบวิ่งไปยังปลายสุดคุ้งของแม่น้ำ มองเห็นบุตรชายพ่อค้าผู้โชคร้ายกำลังดิ้นรนอยู่กลางแม่น้ำ กวางทองจึงตะโกนบอก "รอก่อน ไม่ต้องกลัว ข้ากำลังมาช่วยเจ้า"

          กวางทองกระโจนลงไปในแม่น้ำว่ายต้านกระแสน้ำตรงไปหา ให้ขึ้นขี่บนหลังและนำเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย บุตรชายพ่อค้าหมดแรงสลบไสลเป็นเวลาสามวันสามคืน กวางทองดูแลเยียวยา เมื่อเขาฟื้นรู้สึกตัวขึ้นมา กวางทองได้พูดว่า "ข้าจะนำเจ้าออกจากป่าและส่งเจ้าที่ถนนไปสู่เมืองพาราณสี ขอร้องอยู่อย่างหนึ่งอย่าได้บอกใครว่ามีกวางทองอาศัยอยู่ในป่านี้ มิเช่นนั้นเขาจะเข้ามาค้นหาและจับข้าไป"

          บุตรชายพ่อค้ารับปากและให้คำมั่นสัญญาทันที กวางทองได้นำเขาไปปล่อยที่ถนนมุ่งสู่เมืองพาราณสี

เช้าวันนั้น พระนางเขมา (Khema) พระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินเมืองพาราณสี ได้ทรงพระสุบินเห็นกวางทองพูดภาษามนุษย์ พระนางทรงรำพึง "ต้องมีกวางทองแน่ ไม่เช่นนั้นคงไม่ฝันเห็น"

          พระมเหสีตรงไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน "เช้านี้กระหม่อมได้ฝันเห็นกวางทองพูดภาษามนุษย์ จึงใคร่ได้เห็นสัตว์ตัวนั้น ขอพระองค์ได้โปรดค้นหากวางทอง และนำมาให้กระหม่อมด้วย หากมิได้เห็นกวางทองคงจะสิ้นชีวาเป็นแน่แท้"

          พระเจ้าแผ่นดินรักพระมเหสีเสมอชีวิต ได้ปลอบโยน "ถ้ามีสัตว์เช่นที่ว่าในโลกมนุษย์นี้ เจ้าต้องได้แน่"

          พระองค์ได้ตรัสถามบัณฑิต "มีกวางทองเช่นที่ว่านี้หรือ ?"

          บัณฑิตทูลตอบ "มีแน่นอน พะยะค่ะ"

          พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้นำช้างมาหนึ่งเชือกตกแต่งให้สวยงาม นำหีบทองบรรจุเงินหนึ่งพันเหรียญวางไว้บนหลังช้างพร้อมแผ่นป้ายประกาศสลักด้วยทองคำ และยังรับสั่งให้พนักงานป่าวประกาศ "จงนำช้างและเงินหนื่งพันเหรียญไปประกาศให้ทั่วเมือง ใครก็ตามที่สามารถบอกได้ว่าที่ใดมีกวางทอง จะได้รับช้างเชือกนี้พรัอมเงินหนึ่งพันเหรียญเป็นรางวัล"

          พนักงานได้ขี่ม้าสีขาวป่าวประกาศไปทั่วเมืองด้วยเสียงดัง บุตรชายพ่อค้าเพิ่งเข้ามาในเมืองได้ยินประกาศดังกล่าว จึงตรงไปหาผู้ประกาศ "ข้ารู้ที่อยู่ของกวางทองตามที่พระเจ้าแผ่นดินต้องการ จงนำข้าไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน"

          พนักงานผู้ป่าวประกาศได้นำบุตรชายพ่อค้าเข้าไปในพระราชวัง และทูลขอเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน "ชายผู้นี้บอกว่า เขารู้ว่าจะพบกวางทองได้ที่ไหนพะยะคะ"

          พระเจ้าแผ่นดิน "จริงหรือ ?"

บุตรชายพ่อค้า "จริงพะยะค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าสามารถนำพระองค์ไปยังที่อยู่ของกวางทองแสนงาม"

          พระเจ้าแผ่นดิน "ดีมาก เจ้าจงนำทางพวกเราไปยังที่แห่งนั้น"

          พระเจ้าแผ่นดินและชายขี้ฟ้องอยู่แถวหน้าของกองทหาร ต่างเดินทางมุ่งตรงไปยังป่าที่กวางทองพักอาศัย เมื่อไปถึง บุตรชายพ่อค้าได้ทูลว่า "ที่หมู่ไม้มีต้นพยอมและต้นมะม่วงเป็นที่อยู่ของกวางทองที่พระองค์ไฝ่หาพะยะคะ"

          พระเจ้าแผ่นดินรับสั่ง "ล้อมพุ่มไม้ไว้ เตรียมธนูและลูกศรให้พร้อม ห้ามมีข้อแก้ตัวหากใครก็ตามปล่อยกวางหนีไปได้"

          กวางทองกำลังพักผ่อนอยู่ใต้ต้นพยอมอยู่นั้น พลันได้ยินเสียงของผู้คนจึงได้รีบลุกขึ้นยืน มองเห็นพระเจ้าแผ่นดินและบุตรชายพ่อค้ายืนห่างออกไปพร้อมกับเหล่าข้าราชบริพาร จึงคิดในใจ "เราจะปลอดภัยถ้าพระเจ้าแผ่นดินยังอยู่ ต้องรีบไปเข้าเฝ้า"

          เร็วดังสายลม กวางทองวิ่งตรงไปยังพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงยกพระแสงธนูขึ้นเล็งทันทีและดำริในใจ หากกวางบาดเจ็บย่อมจับได้โดยง่าย เหมือนจะรู้ใจกวางทองรีบชิงทูลด้วยเสียงดัง "พระองค์ จงอยู่นิ่งๆ อย่าได้ยิง"

          พระเจ้าแผ่นดินถูกสกดให้งงงวยด้วยเสียงใสกังวาลของกวางทอง พระองค์วางพระแสงธนูและลูกศร เหล่าทหารและราชบริพารต่างพิศวง เพราะไม่มีใครเคยได้ยินเสียงกวางพูดภาษามนุษย์

          กวางทองเดินตรงไปยังพระเจ้าแผ่นดิน และทูลถามพระองค์ด้วยเสียงอ่อนหวาน "ใครผู้ใดแจ้งข่าวแก่พระองค์ ให้มาค้นหาข้าพเจ้าได้ที่นี่"

          พระเจ้าแผ่นดินชี้ไปยังบุตรชายพ่อค้า "ชายผู้นี้แหละที่นำพาพวกเรามาค้นหาเจ้า"

          หันไปยังผู้ทรยศ กวางทองพูดด้วยเสียงเครือ "จะเป็นการดีถ้าดึงท่อนซุงออกจากแม่น้ำ แทนที่ช่วยชีวิตคนเช่นเจ้า"

          พระเจ้าแผ่นดิน "เขาได้ทำอะไรผิดต่อเจ้าหรือ ?"

          กวางทอง "ข้าพเจ้าได้ช่วยชายผู้นี้จากกำลังจะจมน้ำ และได้ขอร้องมิให้เปิดเผยที่อยู่ของข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าอยู่ในห้วงอันตรายเพราะความอกตัญญู ไม่สำนึกบุญคุณ"

          ได้ยินเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินรู้สึกโกรธมาก หันไปทางบุตรชายพ่อค้า "เจ้าตอบแทนการกระทำความมีเมตตาด้วยความอกตัญญูอย่างเลวทรามเช่นนี้ เจ้าต้องตาย"

          พระองค์ยกพระแสงคันธนูและลูกศรเล็งไปยังชายผู้ทรยศ บุตรชายพ่อค้าตัวสั่นไปทั้งตัวรีบคุกเข่าและร้องขอความเมตตา กวางทองได้ก้าวเข้าไปใกล้และกล่าว "ปล่อยเขาไปเถิด อย่าได้เปรอะเปื้อนเลือดคนเลวในมะโนธรรมของพระองค์ ให้เงินแก่เขาตามที่ได้สัญญาและขับเขาออกไป"

          พระเจ้าแผ่นดินลังเล ในที่สุดหลังจากทบทวนคำขอของกวางทอง จึงหันไปทางบุตรชายพ่อค้า "เจ้าเป็นหนี้ชีวิตของกวางทองผู้ประเสริฐนี้ถึงสองครั้งสองครา จงไปให้พ้นจากที่นี่ และอย่าได้หวนกลับเข้ามาในอาณาจักรของข้า ไม่เช่นนั้นเจ้าจะถูกประหาร"

          บุตรชายพ่อค้ารีบเดินออกไปและหายเข้าไปในป่าลึก จากนั้นไม่มีใครได้เห็นเขาอีกเลย

          กวางทองไม่เพียงแต่มีเมตตาแต่ยังมีความเฉลียวฉลาด "เสียงร้องของสุนัขและนกเข้าใจได้ง่าย แต่คำพูดของมนุษย์มักเต็มไปด้วยมารยาหลอกลวง จงคิดเสมอว่าในกลุ่มเพื่อนจะต้องมีคนทรยศต่อพระองค์"

          พระเจ้าแผ่นดินประหลาดใจในความเฉลียวฉลาดและรอบรู้ของกวางทอง ตัดสินใจจะให้ "บอกมาซิ กวางทองท่านต้องการสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ จงได้ขอมาแม้ต้องแลกด้วยอาณาจักรของข้าก็ตาม"

          กวางทองไตร่ตรองอย่างระมัดระวัง "สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ต้องการ คือสัตว์ทุกชีวิตในอาณาจักรของพระองค์ขอได้อยู่โดยปราศจากภยันตรายใดๆ"

          พระเจ้าแผ่นดิน "สิ่งที่ท่านร้องขอได้รับการอนุมัติ ข้าจะออกคำสั่งลงโทษอย่างรุนแรง ห้ามมิให้ผู้ใดทำอันตรายต่อสรรพสัตว์ในอาณาจักรของข้า"

          พระเจ้าแผ่นดินและกวางทองเดินทางเข้าเมืองพาราณสี พระมเหสีเขมามีความยินดีที่ได้เห็นกวางทองมีความงามดังที่ได้เห็นในพระสุบิน ฟังเสียงกวางทองพูดคุยสนทนากับพระนางด้วยภาษามนุษย์ ช่างกังวาลดั่งระฆังเงิน

          กวางทองอยู่ในเมืองพาราณสีกับพระเจ้าแผ่นดินและพระมเหสีหลายวัน ในเมืองประดับตกแต่งและมีการเลี้ยงฉลองเป็นเกียรติแก่สรรพสัตว์

          จากนั้น กวางทองได้กลับคืนสู่ป่าที่อาศัยอยู่เดิม มีชีวิตยาวนานอย่างสงบสุข



คัดลอกจากภาพเขียนโบราณ ในถ้ำ Ajanta caves ประเทศอินเดีย จากหนังสือชาดก ตอน "พระยาช้างเผือก"


พระยาช้างเผือก The White Elephant

          ณ เชิงเขาหิมาลัยอันเป็นที่อยู่อาศัยของช้างเผือกเชือกหนึ่งซึ่งมีร่างกายสง่างาม เป็นพระยาของโขลงช้าง สิ่งที่ทุกข์ใจของพระยาช้างเผือกเชือกนี้คือ มารดาผู้แก่ชราตาบอด

          ทุกๆ วัน จะต้องท่องเข้าไปในป่าลึกเพื่อรวบรวมหาอาหาร คัดเลือกไม้ผลที่มารดาชื่นชอบฝากมากับเหล่าช้างในโขลง แต่ช้างเลวเหล่านี้มิได้ส่งให้มารดาตาบอด กลับนำไปกินเสียเอง ตกเย็นเมื่อพระยาช้างเผือกกลับมาหามารดา มักจะถามมารดาว่าได้กินดีอยู่ดีเหมือนเช่นเคยหรือไม่ มารดามักตอบว่าตลอดวันยังไม่ได้กิน

          ในที่สุด คืนหนึ่งเมื่อโขลงช้างกำลังหลับสนิท พระยาช้างเผือกตัดสินใจละทิ้งฝูงที่เห็นแก่ตัวเหล่านี้ ได้แอบพามารดาเดินทางไปยังภูเขา คันดอราน (Candorana) ที่นั่นมีถ้ำอยู่ใกล้ทะเลสาปที่มีน้ำใส เต็มไปด้วยดอกบัวสีชมพู พักอาศัยอยู่เดียวดายสองแม่ลูก

          อยู่มาวันหนึ่ง มีชาวป่าชายผู้หนึ่งจากเมืองพาราณสี (Banaras) ได้เดินผ่านมาทางนี้เพื่อไปเยี่ยมญาติ เกิดหลงทางและพบว่าตัวเองอยู่ใกล้ทะเลสาป ด้วยความกลัวที่ไม่รู้จักสถานที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน รู้สึกโศกเศร้าเสียใจร้องไห้ด้วยเสียงดังในความโชคร้ายของตน พระยาช้างเผือกซึ่งกำลังหาอาหารอยู่ในทะเลสาปได้ยินเสียงจึงเดินออกมาดู ด้วยร่างกายกำยำสูงใหญ่ของพระยาช้างเผือก ทำให้ชาวป่าผู้นั้นเมื่อเห็นเข้า ตกใจวิ่งหนีด้วยความกลัวสุดขีด พระยาช้างเผือกจึงวิ่งเหยาะๆ ตามหลังมาและถาม "ทำไมต้องวิ่งหนี ? อย่าได้กลัว เราไม่ทำร้ายเจ้าหรอก มานี่ บอกมาซิว่าร้องไห้ทำไม"

          ชาวป่า "ข้าหลงป่าในนี้มาเจ็ดวันแล้ว ยังหาทางออกไปจากป่าไม่ได้เลย"

          พระยาช้างเผือก "หยุดร้องได้แล้ว เราอาศัยอยู่แถวนี้ รู้จักทางออกจากป่านี้"

          พระยาช้างเผือกหย่อนงวงลงไปม้วนยกชาวป่าขึ้นบนหลัง แล้วเดินนำเขาออกไปจากป่า

          ชาวป่าเดินทางต่อไปยังเมืองพาราณสี ระหว่างทางได้รับทราบว่าช้างต้นของพระเจ้าพรหมทัติ (Brahmadatta) ได้ล้มตายไปหลายวัน มีการป่าวประกาศไปทั่วเมือง หากใครรู้ หรือเห็นช้างที่มีคชลักษณ์เหมาะสม ที่จะเป็นช้างทรงของพระเจ้าแผ่นดิน ให้รีบเข้าทูลแจ้ง

          ชาวป่าผู้หวังรางวัล จึงได้รีบเข้ากราบทูลพระเจ้าแผ่นดินทันที "ข้าพเจ้าเพิ่งกลับมาจากป่าตีนเขาหิมาลัยใกล้ภูเขา คันดอราน ได้พบช้างเผือกรูปร่างสง่างามมากเชือกหนึ่ง เหมาะสมที่จะเป็นราชพาหนะของพระองค์ในทุกโอกาส ข้าพเจ้าได้จดจำทำเครื่องหมายตามเส้นทาง หากพระองค์จัดชุดควานช้างไปกับข้าพเจ้า ย่อมแน่ใจว่าจะจับช้างเผือกเชือกนั้นได้อย่างแน่นอน"

          พระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นดีด้วย จึงโปรดให้ส่งชุดควานช้างและกองทหารจำนวนหนึ่งเดินทางไปกับชาวป่าผู้นั้น

          หลังจากการเดินทางหลายวันผ่านทุ่งนาทุ่งหญ้า จนถึงหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ ก็มาถึงภูเขา คันดอราน ทุกคนต่างค่อยๆ คืบคลานเข้าหาทะเลสาป เห็นพระยาช้างเผือกกำลังรวบรวมหน่อและสายบัวสำหรับเป็นอาหารแก่มารดาตาบอด พระยาช้างเผือกรับรู้การมาของคนเหล่านี้ มองไปยังชาวป่าที่ยืนหลบอยู่หลังต้นไม้ คิดในใจ "คนเคราะห์ร้ายไม่สำนึกบุญคุณผู้นี้เองที่นำคนของพระเจ้าแผ่นดินเข้ามาที่นี่ เรามีพละกำลังมหาศาล สามารถละลายโขลงช้างจำนวนนับพัน โดยไม่ต้องสงสัยเราสามารถโจมตีกลุ่มคนกระจ้อยร่อยให้แตกพ่ายไปได้โดยง่ายภายในพริบตา หากทำเช่นนั้น คนจำนวนมากอาจจะบาดเจ็บล้มตาย ไม่ควรทำร้ายเขา ควรยินยอมให้เขานำเราไปยังพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อที่จะได้ขอร้องให้ปล่อยเรา"

          เมื่อเหล่าควานช้างลงไปในทะเลสาป พระยาช้างเผือกยืนรอ ยินยอมให้จับแต่โดยดี จึงถูกผูกและจูงด้วยเชือกถักด้วยเงินเส้นโต

          ตกเย็น นางช้างตาบอดรอลูกชายแต่ไร้เงา ซึ่งก่อนหน้านั้นนางได้ยินเสียงคนของพระเจ้าแผ่นดิน และเชื่อแน่ว่าคงถูกจับไปแล้ว นางเริ่มสะอื้นด้วยความขมขื่นมาก "จะทำอย่างไรดี ลูกของเราไม่ได้อยู่ที่นี่ ? ใครจะดูแลเรา แก่แล้ว ตาก็บอด ลูกของเราเป็นสัตว์สง่างาม แน่นอนพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์คงได้จับไปเพื่อเป็นช้างศึก จากนั้นคงจะถูกฆ่าตายในสนามรบ ไม่มีโอกาสได้พบกันอีก" ช้างแก่ที่น่าสงสารล้มตัวลงนอนในถ้ำด้วยความอาลัยคิดถึงลูก

          ในขณะเดียวกัน พระยาช้างเผือกได้ถูกนำไปยังเมืองพาราณสี ทั่วทั้งเมืองประดับประดาเพื่อเป็นเกียรติต่อการที่พระเจ้าแผ่นดินได้ช้างทรงเชือกใหม่ ควานช้างนำพระยาช้างเผือกตรงไปยังโรงช้างหลวง บรรจงตกแต่งประดับประดาพระยาช้างเผือกด้วยมาลัย และช่อดอกไม้ ล้อมพระยาช้างเผือกด้วยมู่ลี่ตาถี่เขียนลายสีสดสวย จัดหาอาหารทุกประเภทให้กิน ทว่าพระยาช้างเผือกปฏิเสธไม่ยอมกิน ควานช้างสิ้นมานะ ได้ไปทูลพระเจ้าแผ่นดิน "ช้างเผือกไม่ยอมกิน ปฏิเสธทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าจัดหาให้ อาจจะผอมตายเนื่องด้วยขาดอาหาร จะให้ข้าพเจ้าทำอย่างไร"

          พระเจ้าแผ่นดินทรงเสด็จดำเนินตรงไปยังโรงช้างหลวง และทำการป้อนอาหารด้วยพระหัตถ์ "มา พระยาช้างเผือก ทำไมเจ้าจึงเศร้าโศกนัก ไม่ภูมิใจที่ได้ถูกเลือกให้เป็นช้างต้นของพระเจ้าแผ่นดินของเจ้าหรือไร"

          พระยาช้างเผือกเบือนหน้าและทูลว่า "ข้าพเจ้าจะไม่ยอมกินอะไรทั้งสิ้น เว้นแต่จะได้กลับคืนไปหามารดาของข้าพเจ้า"

          พระเจ้าแผ่นดิน "มารดาของเจ้าอยู่ที่ไหน"

          พระยาช้างเผือก "นางอยูที่ภูเขา คันดอราน แก่ชราและตาบอด คงจะลำบากมากเพราะอยู่โดดเดี่ยวตัวเดียว ไม่มีผู้ใดดูแลป้อนอาหาร ต้องตายแน่"

          พระเจ้าแผ่นดินรู้สึกสงสารอย่างสุดซึ้ง ในความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ตัดสินใจปล่อยพระยาช้างเผือกให้เป็นอิสระ "พระยาช้างเผือก จงกลับไปหามารดาของเจ้า ดูแลนางต่อไปเหมือนดั่งที่ได้เคยปฏิบัติเสมอมา"

          ดังนั้น พระยาช้างเผือกได้เดินทางกล้บสู่ภูเขา คันดอราน ตรงไปยังถ้ำและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มารดายังมีชีวิตอยู่ ใช้งวงดูดน้ำจากทะเลสาปแล้วพ่นไปยังผู้เป็นมารดาอย่างแผ่วเบา ช้างตาบอดคิดว่าฝนตก จึงอุทานออกมา "ฝนหลงฤดูได้อย่างไร ปีศาจตนใดอยู่ใกล้ ถ้าลูกของข้ายังอยู่ที่นี่ เขาจะต้องปกป้องคุ้มครองข้า"

          พระยาช้างเผือกเดินเข้าไปใกล้และคุกเข่าลงชิดข้างมารดาอย่างแผ่วเบา นางจำได้ว่านี่คือลูกของนาง ร้องเสียงดังแปร๋นด้วยความสุข

          พระยาช้างเผือก "ลุกขึ้นเถิด แม่ไม่ต้องนอนระทมทุกข์อีกต่อไปลูกได้กลับมาแล้ว ได้รับการปล่อยให้เป็นอิสระจากพระกรุณาของพระเจ้าพรหมทัติแห่งเมืองพาราณสี"

          นางช้างชราตาบอดได้กล่าวสรรเสริญพระเจ้าแผ่นดิน "ขอให้พระเจ้าพรหมทัติทรงพระเจริญ ครองราชด้วยความสงบสุขและรุ่งโรจน์ คุณความดีที่พระองค์ได้กระทำย่อมคุ้มครองพระองค์ที่ได้ส่งลูกคืนแก่ข้า"

          พระยาช้างเผือกและมารดาอาศัยอยู่ริมฝั่งทะเลสาปที่เต็มไปด้วยดอกบัว ได้ดูแลมารดาด้วยความรักใคร่จวบจนวาระสุดท้ายของผู้เป็นมารดา เมื่อพระยาช้างเผือกแก่ตาย พระเจ้าแผ่นดินได้สร้างอนุสรณ์โดยให้สลักหินเป็นรูปช้าง ประดิษฐานข้างทะเลสาป ทุกๆ ปีพระเจ้าแผ่นดินและผู้คน จะจัดงานสมโภช ณ ที่แห่งนั้น เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของสัตว์ผู้ประเสริฐ


          นิทานชาดกส่วนที่สองนี้ เชื่อว่าประพันธ์ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ดับขันธ์ปรินิพพานนานมากแล้ว เนื้อหาค่อนข้างซับซ้อนเกี่ยวข้องกับ กิเลส ตันหา ของมนุษย์ มี เทพ เทวดา นรก สวรรค์ มาเกี่ยวข้อง ส่งเสริมและมุ่งเน้นให้ ทำบุญ ทำทาน สั่งสมบุญบารมี มากๆ ตัวเอกของเรื่องจะถูกเล่าถึงในรูปของ สัตว์ใหญ่หรือมนุษย์ผู้ยอมพลีชีพ อุทิศร่างกาย ชาดกบางตอนเลยเถิด ล้ำเส้นศีลธรรม เช่น พระเวชสันดรชาดก (The Sacrifice of Vessantara) เกินเลยถึงขนาด ยกลูกยกเมีย ให้ผู้อื่น เพื่อหวังจะได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าในภพหน้า ใครก็ตามที่มีสามัญสำนึก มีหลัก ตรรก (Logic) รู้และเข้าใจความถูกต้องของเหตุและผล ไม่งมงาย ย่อมมีความเห็นแย้ง รับไม่ได้สมควรคัดออกจากพระไตรปิฎก ไม่มีเหตุผลต่อข้ออ้างว่าเป็นเรื่องของ กรรม (Karma) นิทานทำนองนี้ จะส่งเสริมให้คนเห็นแก่ตัวไม่มีความรับผิดชอบ ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น เอาแต่ได้ ติดสินบน ฯลฯ



คัดลอกจากภาพเขียนโบราณ ในถ้ำ Ajanta caves ประเทศอินเดีย จากหนังสือชาดก ตอน "ชาวนาผู้ไร้สำนึกบุญคุณ"


ชาวนาผู้ไร้สำนึกบุญคุณ The Ungrateful Peasant

          เช้าวันหนึ่งในหมู่บ้านใกล้เมืองกาสี (Kasi) ชาวนาผู้หนึ่งกำลังพรวนดินในไร่ หลังจากที่ได้ขุดร่องน้ำ และได้ปล่อยให้วัวไปแทะเล็มหญ้าในไร่ใกล้เคียง จากนั้นกลับมาจัดการพลิกผืนดินด้วยพลั่ว เวลาผ่านไป วัวก็เดินแทะเล็มหญ้าห่างไกลออกไปเรื่อยๆ เพื่อเสาะหาหญ้าสดเพื่อเคี้ยวตุ้ย ตกเย็นงานพรวนดินก็แล้วเสร็จไปหนึ่งวัน เก็บพลั่วและเดินตามหาวัวเนื่องจากได้หายไปจากไร่ข้างเคียงที่ได้ปล่อยไว้แต่แรก

          เขาเป็นคนจนหากสูญเสียวัว ย่อมหมายถึงความทุกข์และความโชคร้ายอย่างมหันต์ จึงเป็นกังวลอย่างยิ่ง กระทั่งค่ำได้เดินเข้าไปในป่าใกล้หมู่บ้านกู่เรียกหาวัวหลงทาง ในที่สุดชาวนาผู้โชคร้ายก็หลงเข้าไปในป่าลึก เดินวนอยู่ในป่าเจ็ดวันเจ็ดคืนก็ยังไม่สามารถออกจากป่า ตอนนี้อ่อนเพลียมากใกล้จะเป็นลมหมดสติเนื่องจากขาดอาหารและหิวน้ำ กำลังเกือบจะล้มด้วยความอิดโรย พลันเหลือบไปเห็นต้นมะม่วงเต็มไปด้วยผลใหญ่กำลังสุก ยืนต้นที่ปลายสุดเนินลาดชันของหน้าผาสูงมีธารน้ำไหลอยู่เบื้องล่าง ชาวนาผู้นี้ค่อยๆ ปีนขึ้นต้นมะม่วงและเอื้อมมีอไปเด็ดผลมะม่วงที่อยู่ใกล้มือ รีบกินให้มากเท่าที่จะมากได้ ความหิวทำให้เกิดความตะกละ จึงได้โหนไปตามกิ่งที่ยื่นออกไปเหนือหน้าผา พลันได้ยินเสียงกิ่งไม้หักจากทานน้ำหนักของชาวนาไม่ไหวหักออกเป็นสองท่อน ชาวนาผู้โชคร้ายร่วงหล่นตกลงไปในธารน้ำแคบๆ เบื้องล่างของหน้าผา โชคยังดี เขาตกลงไปในแอ่งน้ำ หากตกกระทบกับพื้นดินเขาคงตายแน่ เขาอ่อนแรงมากด้วยความเหน็ดเหนื่อยต้องนอนนิ่งอยู่ที่นั้นนับสิบวัน ไม่สามารถจะเคลื่อนไหวได้ ประทังชีวิตด้วยการดื่มน้ำจากแอ่งน้ำนั้น กินใบไม้อ่อนที่ขึ้นอยู่ใกล้ๆ

          วันที่สิบ วานรใหญ่ตัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำใกล้ธารน้ำได้เดินเข้ามาเพื่อดื่มน้ำ เหลือบไปเห็นชาวนาเคราะห์ร้ายนอนอยู่ วานรรู้สึกประหลาดใจที่ได้พบเห็นคนในในสถานที่เปลี่ยวเช่นนี้ จึงได้ถามไป "ท่านเป็นใคร ทำไมมานอนอยู่ที่นี่"

          ชาวนา "โอ ท่านวานร ข้าอาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เมืองกาสี เดินหลงป่าเบื้องบนในขณะที่ตามหาวัวที่พลัดหลงจากทุ่งนา ข้าเดินตามหานานเจ็ดวันโดยปราศจากน้ำและอาหาร จนมาพบต้นมะม่วงบนยอดหน้าผานี้ ข้าได้ปีนขึ้นไปเก็บกิน แต่พลาดตกลงมายังพื้นน้ำและต้องนอนลำบากอย่างนี้สิบวัน ข้าอ่อนแรงมากไม่สามารถลุกขึ้นได้ด้วยตนเอง กรุณาได้โปรดช่วยนำข้าขึ้นสู่พื้นป่าด้วย"

          วานรเห็นใจต่อเคราะห์กรรมของชาวนา จึงได้ตัดสินใจช่วย วานรได้อุ้มก้อนหินหนักทดลองเดินขึ้นลงข้างหน้าผา เพื่อดูว่าจะสามารถแบกน้ำหนักของชาวนาได้หรือไม่ เมื่อรู้ว่าไต่หน้าผาได้ไม่ยากนัก จึงเดินกลับไปยังชาวนา "ใช้แขนของท่านโอบรอบคอข้าให้แน่น จากนั้นข้าจะปีนขึ้นช้าๆ สู่ยอดผาเบื้องบน"

          ชาวนาทำตามที่วานรสั่งและขึ้นคร่อมหลังของวานร ด้วยความยากลำบากเมื่อปีนขึ้นถึงยอดผา วานรเหนื่อยอ่อนแทบหมดแรง วางชาวนาลงกับพื้นและได้พูดว่า "ข้าเหนื่อยมากจากการปีนขึ้นหน้าผานี้ ขอนอนพักสักครู่ ท่านช่วยยืนยาม หากมีสัตว์ร้ายเข้ามาใกล้ให้รีบปลุกข้าทันที"

          วานรล้มตัวลงนอนบนพื้นหญ้าและหลับสนิท ในขณะที่ชาวนานั่งอยู่ข้างๆ คอยเฝ้าดู เขามีเจตนาร้ายทั้งที่เพิ่งได้รับการช่วยชีวิตจากวานร ชาวนาผู้นี้ไร้สำนึกแห่งบุญคุณ เป็นคนเลวทราม ขณะที่เฝ้าวานรอยู่นั้น ครุ่นคิดวางแผนชั่วช้า "เนื้อของวานรนี้น่ารับประทานยิ่งนัก หากได้ฆ่าและกินเนื้อ ข้าจะได้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง ไม่ต้องอยู่ในป่าแสนเปลี่ยวและจะได้หาทางออกจากป่านี้เพื่อกลับบ้าน"

          เขามองโดยรอบและพบก้อนหินก้อนหนึ่งมีขนาดใหญ่เหมาะมือ หยิบมันขึ้นแล้วทุบลงไปยังหัวของวานรทั้งๆ ที่เขายังอ่อนแอ การทุบนี้จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้วานรตาย ทำได้เพียงเกิดบาดแผลบนหัวของวานร

          วานรกระโจนพรวดขึ้นต้นไม้ทันที่ทั้งที่บนหัวเกรอะเปื้อนไปด้วยเลือด เมื่อแน่ใจว่าปลอดภัยจากชาวนา จึงตะโกน "เจ้าผู้เคราะห์ร้าย ช่างเลวทรามมาก นี่หรือคือการตอบแทนการช่วยชีวิตเจ้า คนอกตัญญู การกระทำเช่นนี้จะทำให้จิตวิญญาณของเจ้าต้องทุกข์ทรมาน ไปให้พ้น ที่นั่นมีเส้นทางเดินออกจากป่า ถ้าเจ้าไม่ถูกสัตว์ป่ากัดกินเสียก่อนก็คงกลับถึงบ้าน จงไปโดยเร็ว ข้าไม่ไว้ใจเจ้าอีกแล้วและไม่ต้องการเห็นเจ้า จงรีบไปตามทางของเจ้า ก่อนที่ข้าจะลงจากต้นไม้"

          ชาวนารีบเดินไปตามทางที่วานรบอก แต่ก็ไม่สะดวกง่ายดายนัก เทพเจ้าผู้อยู่เบื้องบนในสวรรค์ได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด ต้องการลงโทษชาวนาผู้นี้ที่ได้กระทำความเลวทราม

          เมื่อชาวนากลับถึงบ้าน เขาพบว่าร่างกายของเขาเต็มไปด้วยปุ่มแข็งที่น่าขยะแขยง หลังจากนั้นสามวัน แขนขาเนื้อตัวเต็มไปด้วยแผลพุพองเน่าเปื่อย ชาวนาเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ข้างเคียงต่างขับเขาให้ออกจากหมู่บ้าน ถูกรังเกียจเหยีดหยามจากผู้คนทุกแห่งที่เขาเดินผ่านไป เดินทางรอนแรมจากเมืองสู่เมืองเป็นเวลาเจ็ดปี คลุ้มคลั่งทรมานจากความทุกข์ลำบาก วันหนึ่งได้เดินมาถึง สวนมิกศิลา (Migacira) ในเมืองพาราณสี พักกายลงใกล้กำแพงของสวน ชาวเมืองต่างสงสารให้อาหารและน้ำ

          อย่างไรก็ดี ชาวนาผู้นี้รู้สึกเจ็บป่วยมากและตายไปในที่สุด จากนั้น เทพเจ้าเบื้องบนได้ส่งเขาไปยังใต้พิภพ ณ ที่แห่งนั้น เขาถูกกระทำเพื่อชดใช้ในสิ่งที่เลวร้ายที่เขาได้เคยกระทำชั่วกับผู้อื่นมาก่อน



คัดลอกจากภาพเขียนโบราณ ในถ้ำ Ajanta caves ประเทศอินเดีย จากหนังสือชาดก ตอน "กวางผู้ประเสริฐ"


กวางผู้ประเสริฐ The Noble Stag

          กาลครั้งหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัติ (Brahmadatta) เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองพาราณสี (Banaras) มีกวางป่ารูปร่างกำยำมีพละกำลังมาก อาศัยอยู่ในป่าใกล้เมือง พระเจ้าแผ่นดินนิยมชมชอบการล่าสัตว์ และเชื่อว่าไม่มีผู้ใดล่าสัตว์ได้เก่งกว่าพระองค์

          อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์พร้อมข้าราชบริพารได้ออกไปล่าสัตว์ "ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยให้กวางหลุดลอดไปได้แม้แต่ตัวเดียว มิเช่นนั้น เขาผู้นั้นจะถูกลงโทษหนัก"

          โดยธรรมชาติเหล่าข้าราชบริพารย่อมไม่ต้องการปลุกอารมณ์ให้พระเจ้าแผ่นดินโกรธ ต่างมีความเห็นร่วมกัน "หากพบกวาง พวกเราจะต้องช่วยกันต้อนกวางให้มุ่งตรงไปยังที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินยืนอยู่"

          พระเจ้าแผ่นดินทรงยืนอยู่ที่ปลายสุดของทางเดินในป่า เหล่าข้าราชบริพารต่างรายล้อมพุ่มไม้ที่หนาทึบ กระแทกพื้นดินด้วยท่อนไม้และตะบอง กวางตัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในพุ่มไม้ทึบ ตกใจจากเสียงอึกทึกของเหล่าข้าราชบริพาร จึงวิ่งวนรอบหาช่องทางหนี แต่เหล่าข้าราชบริพารยืนเรียงรายกันแน่น ไม่มีช่องว่าง ในมือถือธนูพร้อมจะยิง กวางมองเห็นพระเจ้าแผ่นดินทรงยืนอยู่แต่ลำพังผู้เดียวที่ปลายสุดของวงล้อม ซึ่งเป็นช่องทางเดียวเท่านั้นที่จะหนีออกจากวงล้อมได้ ตาจ้องมองและวิ่งตรงไปยังพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ยืนงงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เมื่อตั้งสติได้ จึงยิงพระแสงธนูทันทีแต่ลูกธนูพลาดเป้า

          กวางตัวนี้มีความเฉลียวฉลาดมากขึ้นกว่าเดิม รู้จักหลบหลีกลูกธนู หากลูกธนูถูกยิงตรงเข้ามา กวางจะหยุดกระทันหันให้ลูกธนูผ่านเลยไป หากลูกธนูถูกยิงมาจากข้างหลัง กวางจะวิ่งกระโจนออกไปด้วยความเร็วทันทีเพื่อให้มีระยะห่างจากลูกธนู หากลูกธนูถูกยิงพุ่งลงมาจากเบื้องบน กวางจะเบี่ยงตัวหลบลูกธนู หากลูกธนูถูกยิงมาจากด้านข้าง กวางจะหักเลี้ยวกระทันหัน หากลูกธนูถูกเล็งยิงมายังท้อง กวางจะรีบหมุนม้วนตัว ทุกครั้งที่ลูกธนูพลาดเป้า กวางจะกระโจนวิ่งสุดฤทธิ์อย่างว่องไวดุจก้อนเมฆถูกสลายด้วยแรงลม

          เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเห็นกวางม้วนตัวกลิ้งอยู่บนพื้น เข้าใจว่ากวางถูกยิงบาดเจ็บ จึงตะโกนขึ้นด้วยเสียงดังอย่างผู้มีชัย กวางลุกขึ้นและกระโจนโดดข้ามวงล้อมออกมาได้ เมื่อเห็นกวางหลุดลอดออกไปได้จากวงล้อม เหล่าข้าราชบริพารต่างถามกันให้วุ่น "ตำแหน่งใดที่กวางหนีหลุดรอดออกไปได้"

          "พระเจ้าแผ่นดิน"

          "แต่พระเจ้าแผ่นดินได้ตะโกนบอกว่าพระองค์ยิงถูกกวาง"

          "พระองค์ยิงถูกอะไรกันแน่"

          "พระองค์ยิงไม่ถูกอะไรเลย ยิงถูกแต่พื้นดิน"

          เหล่าข้าราชบริพารต่างพากันหัวเราะด้วยความขบขันในความไร้ความแม่นยำของพระเจ้าแผ่นดิน

พระเจ้าแผ่นดินรู้สึกกริ้วมาก "เขาเหล่านี้กำลังหัวเราะเยาะเรา ไม่รู้เลยหรือว่าเรามีความสามารถสูง"

          พระเจ้าแผ่นดินกำพระแสงดาบในมือแน่น วิ่งตรงไปยังกวางด้วยความเร็วสุดฝีเท้าและร้องบอก "ข้าจะจับกวาง"

          พระเจ้าแผ่นดินวิ่งไล่กวดตามกวางไป กวางวิ่งกระโจนเข้าไปในป่าลึกซึ่งพระเจ้าแผ่นดินยังคงวิ่งตามมาติดๆ ระหว่างทางที่กวางวิ่งไปนั้น มีหลุมลึกจากต้นไม้ใหญ่ถูกถอน มีน้ำขัง เต็มไปด้วยโคลนตม สวะและวัชพืช กวางได้กลิ่นน้ำและมองเห็นหลุมจึงวิ่งอ้อมไป แต่พระเจ้าแผ่นดินวิ่งตรงมาด้วยความเร็วไม่ทันระวัง จึงตกลงไปในหลุมนี้ กวางไม่ได้ยินเสียงฝีเท้าที่วิ่งตามมาของพระเจ้าแผ่นดิน จึงหันไปมองข้างหลังไม่เห็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงเชื่อได้ว่าพระองค์คงหล่นตกลงไปในหลุมน้ำ มองเห็นพระเจ้าแผ่นดินกำลังดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากน้ำเน่าเหม็น จึงหันหลังกลับ เดินมาหาด้วยความสงสาร "เราไม่ควรให้พระเจ้าแผ่นดินจมน้ำตายต่อหน้าต่อตา"

          ทั้งๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินมุ่งหวังและตั้งใจที่จะฆ่ากวางสถานเดียวก็ตาม กวางได้ตะโกน "พระองค์อย่าได้กลัว ข้าพเจ้าจะช่วย ทำใจให้กล้าเข้าไว้ อีกอึดใจเดียว"

          กวางได้ย่อเข่าลงและเกี่ยวขาหลังกับก้อนหิน ด้วยความพยายามอย่างแรงกล้าได้หย่อนตัวลงไปในหลุม พระเจ้าแผ่นดินกอดรอบคอกวางไว้แน่น กวางค่อยๆ ดันตัวเองให้พระเจ้าแผ่นดินกลับขึ้นมาบนพื้นดิน จากนั้นให้พระเจ้าแผ่นดินขึ้นประทับบนหลังออกมาจากป่าทึบ ไม่ห่างกันนั้น เหล่าข้าราชบริพารกำลังรออยู่ พระเจ้าแผ่นดินรู้สึกขอบคุณกวางอย่างลึกซึ้งไม่อยากจะจากกวางไป "พระยากวาง ไปชมเมืองพาราณสีกับข้า เมืองนี้แสนงามกว้างขวางใหญ่โต ข้าจะแต่งตั้งให้เจ้าครองเมืองปกครองผู้คนของข้า"

          กวาง "ข้าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงสัตว์สี่เท้า ไม่เคยคิดหรือไฝ่มีอาณาจักร ถ้าพระองค์ปรารถณาที่จะจดจำข้าพระพุทธเจ้า จงปกครองประชากรของท่านด้วยความดี สั่งสอนให้เขาประพฤติและปฏิบัติตนให้มีชีวิตที่ดีงาม"

          พูดจบกวางหันกลับหายเข้าไปในป่าทึบ พระเจ้าแผ่นดินมองตามจนลับตา น้ำพระเนตรคลอด้วยความตื้นตันใจ ค่อยๆ เดินกลับไปหากลุ่มข้าราชบริพารที่ร้อนรนด้วยความห่วงใย เมื่อกลับถึงเมืองพาราณสี ได้ให้ป่าวประกาศไปทั่วเมือง "จากวันนี้เป็นต้นไป ขอให้เหล่าพสกนิกรทั้งหลายประพฤติและปฏิบัติตนด้วยความดี เพื่อชีวิตที่ดีงาม"

          พระเจ้าแผ่นดินไม่ยอมปริปากพูดให้ผู้ใดได้ล่วงรู้ว่ากวางได้ช่วยชีวิตพระองค์อย่างไร เย็นวันหนึ่งหลังจากเสวยพระกระยาหาร พระองค์เข้าบรรทมบนเตียงผ้าไหมยกดอก ตึ่นขึ้นมาตอนเช้าตรู่ นั่งขัดสมาธิไขว้พระบาท ขับร้องสรรเสริญคุณงามความดีของกวางผู้ประเสริฐ จบคำร้องด้วยคำกล่าว "ผู้เฉลียวฉลาดแม้นจะปวดร้าวก็ยังคาดหวังความสุขอยู่เสมอ ผู้เฉลียวฉลาดย่อมมีความรู้สึกสุขและเศร้า แต่จะไม่ยอมให้ความรู้สึกนั้นครอบงำตัวเขา สิ่งที่ปรารถนามักไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ต้องการมักเกิดขึ้น ความสุขมิได้ขึ้นอยู่กับความคิดของตัวเราแต่ฝ่ายเดียว"

          ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินกำลังขับร้องสรรเสริญกวางอยู่นั้น แสงอาทิตย์แห่งรุ่งอรุณได้สาดส่องเข้ามา วันนี้นักบวชประจำราชสำนักได้มาเข้าเฝ้าแต่เช้า เพื่อทูลถามทุกข์สุขของพระเจ้าแผ่นดิน ในระหว่างที่ยืนอยู่นอกประตูเขาได้ยินคำร้องสรรเสริญและคิดในใจ "เมื่อวานนี้พระองค์ได้เสด็จไปล่าสัตว์ ได้เล็งยิงไปยังกวางแต่พลาดเป้า ไม่ต้องสงสัยว่าเหล่าข้าราชบริพารต่างขบขัน พระองค์จึงต้องการที่จะจับและฆ่าเหยื่อด้วยพระองค์เอง แน่ชัดว่าพระองค์ไล่ล่ากวาง ระหว่างทางได้ตกลงไปในหลุมลึก ตอนแรกพระองค์ได้วางแผนฆ่ากวาง แต่กวางกลับเป็นฝ่ายช่วยชีวิตพระองค์ เหตุนี้กระมังพระองค์ถึงได้ขับร้องสรรเสริญ"

          ด้วยประการฉะนี้ นักบวชได้ยินทุกคำร้องและรับรู้สิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับพระเจ้าแผ่นดินเมื่อวันก่อน เขาเคาะที่ประตู เสียงพระเจ้าแผ่นดินถาม "นั่นใคร"

          นักบวช "ข้าพระพุทธเจ้า นักบวช พะยะค่ะ"

          พระเจ้าแผ่นดิน เปิดประตู "เข้ามาได้"

          นักบวชเข้ามาในห้องโถงและกล่าว "มหาบพิธ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเหตุที่ได้เกิดขึ้นกับพระองค์ในป่าเมื่อวันก่อน พระองค์ไล่ล่ากวางตัวหนึ่งและได้ตกลงไปในหลุมลึก กวางตัวนั้นได้ช่วยชีวิตพระองค์ขึ้นจากหลุม"

          พระเจ้าแผ่นดินรู้สึกประหลาดใจ ครุ่นคิด "เป็นไปได้อย่างไร นักบวชผู้นี้มิได้ร่วมเดินทางไปล่าสัตว์กับเรา แต่รู้ได้ชัดแจ้งต่อสิ่งที่ได้เกิดขึ้น หรือเขาเป็นผู้วิเศษ"

          ดั่งนั้น พระเจ้าแผ่นดินตรัสถาม "ท่านนักบวช เมื่อวานนี้ท่านมิได้ร่วมเดินทางไปกับพวกเรา ทำไมท่านถึงได้ล่วงรู้เรื่องที่ได้เกิดขึ้นระหว่างเรากับกวาง ท่านมีฌานวิเศษเหนือมนุษย์หริอไร"

          นักบวช "ข้าพระพุทธเจ้ามิใช่ผู้วิเศษ มิได้รู้หรือเห็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นเมื่อวันวาน ระหว่างที่ข้าพระพุทธเจ้ายืนรออยู่ที่หน้าประตูได้ยินคำร้องของพระองค์ สรรเสริญกวางผู้ประเสริฐ จึงได้ทราบเรื่องโดยตลอด"

          พระเจ้าแผ่นดินทรงชื่นชมความรู้ของนักบวช และได้ประทานรางวัล ต่อจากนั้นมา พระเจ้าแผ่นดินได้ปฏิบัติตนเคร่งครัดต่อหลักศิลธรรม และแจกทานแก่คนจนอย่างสม่ำเสมอ เหล่าประชากรก็ปฏิบัติตามพระองค์ ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดี เมื่อตายไปจะได้ไปอยู่สวรรค์

          อยู่มาวันหนึ่ง พระอินทร์ (Indra) ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทพเทวดาทั้งหลาย ประทับนั่งอยู่ที่พระอาสน์ คิดสงสัยว่าเหล่าเทพเทวดาที่เกิดใหม่มาจากไหน เมื่อทราบถึงสาเหตุว่า พระเจ้าพรหมทัติถูกช่วยชีวิตโดยกวางจากหลุมลึก พระองค์และพสกนิกรได้ร่วมกันประพฤติปฏิบัติแต่คุณงามความดี คนเหล่านี้นี่เองที่ได้ขึ้นสู่สวรรค์ พระอินทร์ต้องการทดสอบความดีของพระเจ้าพรหมทัติ จึงได้เสด็จลงสู่โลกมนุษย์โดยไม่ปรากฎกาย

          เช้าวันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปยังสวนพร้อมกับนักบวชเพื่อซ้อมยิงเป้าธนู ทรงถือพระแสงคันธนูและลูกธนูเตรียมเล็ง พระอินทร์ได้แปลงกายเป็นกวางปรากฏต่อหน้าพระพักตร์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับเป้าซ้อมยิงธนู พระเจ้าแผ่นดินลดพระแสงคันธนูลงทันทีเมื่อเห็นกวาง พระอินทร์จึงสะกดจิตนักบวชให้พูดดั่งกำลังเทศนา "มหาบพิธ ธนูของท่านสามารถฆ่าได้ทุกสรรพสัตว์ที่มีพละกำลัง ทำไมจึงไม่ยิง ยิงและฆ่ากวางเสีย เนื้อกวางมีรสเป็นเลิศแหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นอาหารของพระราชาเช่นพระองค์"

          พระเจ้าแผ่นดินกล่าวตอบ "ท่านนักบวช เราก็ทราบเช่นนั้น เนื้อกวางรสเป็นเลิศเหมาะแก่นักรบเช่นเรา แต่กวางได้เคยสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ฆ่ากวาง"

          นักบวช "มหาบพิธ นั่นไม่ใช่กวางแต่เป็นยักษ์ พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งมวลมนุษย์ ฆ่ามันเสียเพื่อพระองค์จะได้เป็นใหญ่ในหมู่ทวยเทพ ถ้าพระองค์ยังมัวรีรอที่จะฆ่ากวางซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเพื่อนที่ดีของพระองค์ เหล่ามเหสี ครอบครัวและเด็กๆ ของพระองค์จะต้องตกลงไปในแม่น้ำที่แสนเยือกเย็นแห่งความตาย ต้องอยู่กับพระยายม (Yama) เจ้าแห่งขุมนรกใต้พิภพ"

          พระเจ้าแผ่นดิน "หากเป็นเช่นนั้น จงส่งเรา ครอบครัว มวลมิตรสหาย และเหล่าข้าราชสำนักไปยังแม่น้ำแห่งความตาย เราจะไม่กระทำในสิ่งที่ผิด กวางตัวนี้ต้องไม่ตายโดยน้ำมือเรา เพราะครั้งหนึ่งในป่ายามภาวะคับขันกวางได้ช่วยชีวิตเราจากความตาย เป็นไปได้อย่างไรที่ต้องฆ่ากวาง"

          ทันใดนั้น พระอินทร์ได้ปรากฏกายต่อพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดินและกล่าว "ขอให้พระองค์มีชีวิตยืนยาว พระเจ้าแผ่นดินผู้มีความจริงใจและซื่อสัตย์ ปกครองไพร่ฟ้าประชากรด้วยความยุติธรรม เมื่อได้เสด็จขึ้นสวรรค์ พระองค์จะได้ปกครองเหล่าเทพ ครองอำนาจที่ยิ่งใหญ่ จงทำหน้าที่ให้ดีในโลกมนุษย์ สวรรค์คือรางวัลขั้นสุดท้าย เราลงมายังโลกมนุษย์เพื่อทดสอบพระองค์ ผลเป็นที่ถูกต้องตามที่ได้เคยเชื่อถือ จงปกครองดูแล ใส่ใจไพร่ฟ้าประชากรในอาณาจักรนี้ต่อไป"

          จากนั้น พระอินทร์หายวับกลายเป็นก้อนเมฆและสลายต้วเป็นหมอกกลับไปยังวิมาน



คัดลอกจากภาพเขียนโบราณ ในถ้ำ Ajanta caves ประเทศอินเดีย จากหนังสือชาดก ตอน "พระยางู"


พระยางู The Serpent King

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระเจ้าอังกะ (Anga) เป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นอังกะ และพระเจ้ามคธ (Magadha) เป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นมคธ ทำสงครามระหว่างกันอยู่เนืองนิจ ต่างผลัดกันแพ้ชนะ ในการรบครั้งหนึ่ง พระเจ้ามคธพ่ายแพ้ต่อพระเจ้าอังกะ ต้องควบม้าศึกหนีออกจากสนามรบโดยมีกองทหารของแคว้นอังกะไล่ติดตามมา เนื่องจากสองแคว้นนี้ ถูกแบ่งแยกอาณาเขตออกจากกันด้วยแม่น้ำจำปา (Campa) ใต้พื้นน้ำนี้ คืออาณาจักรของงู ปกครองโดยพระยางู จำปี (Campeyya) พระเจ้ามคธหนีมาถึงฝั่งแม่น้ำที่เต็มไปด้วยน้ำท่วมเอ่อ ไม่สามารถข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้ จึงตัดสินใจ "ยอมจมน้ำตาย ดีกว่าต้องตายด้วยน้ำมือของศัตรู"

          พระองค์กระโจนลงไปในแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากพร้อมม้าศึก ใต้พื้นน้ำพระยางูนั่งบนบัลลังก์ภายในปะรำพิธี ดื่มฉลองในหมู่สำนักงู พระเจ้ามคธจมหายไปในกระแสน้ำ ตกลงไปกลางงานเลี้ยง พระยางูซึ่งมีความประทับใจในความสง่าผ่าเผยของพระเจ้ามคธ และมีความชอบพอระหว่างกัน ได้ลุกออกจากบัลลังก์และให้พระเจ้ามคธขึ้นนั่งแทน และได้ทูลถามว่าพระองค์ร่วงหล่นลงมาในแม่น้ำได้อย่างไร พระเจ้ามคธได้เล่าถึงเรื่องน่าเศร้าที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม

          พระยางู "ท่านผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ต้องกล้วอะไรทั้งสิ้น ข้าพระพุทธเจ้าจะช่วยให้ท่านได้ปกครองทั้งสองอาณาจักร"

          พระเจ้ามคธพักอยู่ในอาณาจักรของพระยางูเจ็ดวัน ระหว่างนั้นได้รับการเลี้ยงรับรองดูแลเป็นอย่างดี วันที่เจ็ดทั้งสองได้ออกจากแม่น้ำและขึ้นไปยังโลกมนุษย์ ด้วยอำนาจแห่งเวทมนตร์คาถาของพระยางู ช่วยให้พระเจ้ามคธชนะสงคราม พระเจ้าอังกะถูกฆ่าตายในสนามรบ พระเจ้ามคธได้ครอบครองทั้งสองอาณาจักร จากนั้นเป็นต้นมา ทั้งสองจึงเป็นมิตรสนิทอย่างเหนียวแน่น

          ทุกๆ ปี พระเจ้ามคธจะสร้างปะรำพิธีริมฝั่งแม่น้ำจำปา ถวายเครื่องบรรณาการแก่พระยางู พระยางูพร้อมกับข้าสำนักงูจะขึ้นจากเมืองบาดาลมารับเครื่องบรรณาการ เหล่าพสกนิกรของแคว้นมคธต่างก็ได้รับความรุ่งเรืองถ้วนหน้า

          เมื่อครบอายุขัย พระยางูได้ตายจากไป พระยางูองค์ใหม่ได้ขึ้นปกครองนครบาดาล ไม่สุรุ่ยสุร่าย ปฏิบัติแต่ความดีงาม ไม่ใส่ใจกับความเอิกเกริกและหรูหราของสำนักงู ในไม่ช้าก็เบื่อหน่ายต่อการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยไร้ระเบียบวินัยของเหล่างู และคิด "เราต้องออกไปให้พ้นจากวังแห่งนี้ ไปยังโลกมนุษย์เพื่อตั้งจิตอธิษฐาน ปฏิบัติธรรม"

          วันหนึ่งเป็นวันศีล พระองค์ได้ออกไปจากแม่น้ำ พาดกายอยู่ข้างจอมปลวกริมทางเดิน ไม่ไกลจากหมู่บ้านชายแดน ครุ่นคิดในใจ "ใครผู้ใดก็ตาม หากต้องการแล่เอาหนังของเรา จะไม่ต่อต้าน หรือหากต้องการให้เป็นงูเต้นระบำก็จะยินยอมแต่โดยดี"

          ผู้คนจำนวนมากที่เดินผ่านไปมาต่างสักการะบวงสรวงพระยางู ถวายกำยานน้ำอบและน้ำหอมต่อพระยางู ชาวบ้านรู้ดีว่านี่คือพระยางูผู้มีอำนาจและบารมี จึงช่วยกันสร้างปะรำสวยงามครอบจอมปลวก ที่ซึ่งพระยางูพาดกาย ทุกๆ วันที่สิบสี่และสิบห้าของข้างแรม พระยางูจะปฏิบัติธรรม อดอาหาร และวันแรกของพระจันทร์เต็มดวงจะกลับพระราชวัง ปฏิบัติเช่นนี้เสมอมา

          อยู่มาวันหนึ่ง มเหสีของพระยางู นางสุมะนา (Sumana) ได้กล่าวกับพระยางู "ทุกวันศีลพระองค์ขึ้นไปโลกมนุษย์ เพื่อปฏิบัติธรรม โลกข้างบนนั้นอันตรายมาก หากมีปีศาจตนใดทำอันตรายต่อท่าน จะรู้ได้อย่างไร ?"

          พระยางูนำมเหสีงูไปยังบ่อน้ำเสี่ยงทาย "หากผู้ใดทำร้ายเรา น้ำในบ่อนี้จะกลายเป็นโคลน หากถูกนกคาบไปน้ำทั้งหมดจะเหือดแห้ง หากหมองูจับไปน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีแดง"

          เมื่อได้อธิบายให้ทราบถึงความหมายสามสิ่งแก่มเหสีงู พระยางูได้ออกจากพระราชวังใต้แม่น้ำจำปากลับไปยังจอมปลวก ร่างกายของพระยางูขดม้วนเป็นวงดั่งเงินบริสุทธิ เมื่อพาดอยู่ตรงนั้นเกล็ดส่องแสงเป็นประกายยามสะท้อนแสงแดด

          ขณะนี้ พราหมณ์หนุ่มผู้หนึ่งจากเมืองพาราณสี (Banaras) กำลังกลับจากไปเรียนวิชากับอาจารญ์ผู้มีชื่อเสียงที่เมืองตักศิลา (Taxila) เขาได้เรียนวิชาไสยศาสตร์ บังคับสัตว์ทุกชนิด

          ระหว่างทางกลับบ้านผ่านหมู่บ้านชายแดน ได้มองเห็นพระยางูนอนพาดอยู่ข้างจอมปลวก คิดในใจ "เราจะจับงูตัวนี้และหัดให้เต้นระบำงู จากนั้นนำไปแสดงในเมืองและหมู่บ้าน คงจะได้รับเงินทองจำนวนมากเป็นแน่แท้"

          เขาได้เข้าไปใกล้พระยางู นำสมุนไพรบางอย่างและร่ายคาถาอาคม พระยางูรู้สึกตัว จึงเงยหัวขึ้นมองเห็นพราหมณ์หนุ่ม จึงคิดในใจ "เราสามารถฆ่าคนผู้นี้ได้ด้วยพิษของเรา แต่ถ้าเราทำเช่นนั้น จะเท่ากับทำลายคำอธิษฐานที่ได้ปฏิญานไว้" คิดได้ดังนั้นจึงก้มหัวลงและหลับตา

          พราหมณ์หนุ่มเข้ามายังพระยางู จับที่หางแล้วยัดใส่เข้าไปในตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ จากนั้นแบกตะกร้าเดินตรงไปยังหมู่บ้านชายแดน และแสดงงูเต้นระบำต่อหน้าฝูงชนที่พลุกพล่าน ต่างพอใจได้เห็นการแสดงของงู โยนเศษเงินให้แก่พราหมณ์เป็นจำนวนมาก รวมแล้วนับพันเหรียญ

          พราหมณ์หนุ่มได้เคยตั้งใจไว้ว่าจะปล่อยพระยางูหากได้รับเงินจำนวนมากพอ แต่การหาเงินช่างง่ายดายกระไรเช่นนี้ ความละโมบได้เข้าครอบงำ ความตั้งใจเดิมจึงได้เปลี่ยนไป "แค่เมืองชายแดนเล็กๆ ยังได้เงินมากปานนี้ เราจะมั่งคั่งแน่ถ้าจัดแสดงต่อพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดินและเหล่าข้าราชสำนัก"

          พราหมณ์หนุ่มได้ซื้อเกวียนหนึ่งเล่มสำหรับบรรทุกของ และรถม้าสำหรับนั่งส่วนตัว เขาได้เดินทางผ่านหมู่บ้านและเมือง จัดแสดงงูเต้นระบำตามรายทาง ในที่สุดได้ตัดสินใจจะแสดงต่อพระพักตร์พระเจ้าอักกะเสน (Uggasena) แห่งเมืองพาราณสี แล้วจึงจะปล่อยพระยางูให้เป็นอิสระ

          พราหมณ์หนุ่มเคยจับกบให้พระยางูกินเป็นอาหาร แต่พระยางูไม่ยอมกิน คราวนี้พราหมณ์หนุ่มได้พยายามบังคับให้พระยางูกินน้ำผึ้งและข้าวโพดคั่ว แต่พระยางูก็ไม่ยอมกิน คิดอยู่ในใจ "หากกินอาหาร ก็จะต้องอยู่ในตะกร้านี้ตลอดไปจนกว่าจะตาย"

          หลังจากนั้นหนึ่งเดือน พราหมณ์หนุ่มก็ได้เดินทางมาถึงเมืองพาราณสี เขาจัดแสดงงูเต้นระบำในหมู่บ้านนอกประตูเมือง และได้รับเงินจำนวนมาก

          การแสดงที่ยอดเยี่ยมนี้ ทราบถึงพระเจ้าแผ่นดิน จึงทรงมีรับสั่งให้พราหมณ์หนุ่มจัดแสดงหน้าพระที่นั่ง พลกลองถูกส่งไปทั่วเมืองเพื่อป่าวประกาศให้พสกนิกรเข้าร่วมชมการแสดงดังกล่าวในวันรุ่งขึ้นที่สนามหญ้าในพระราชวัง

          สนามหญ้าของวังถูกตกแต่ง พราหมณ์หนุ่มได้กล่าวแถลงว่าพร้อมแสดง นำพระยางูซึ่งบรรจุอยู่ในตะกร้าประดับพลอย ปูพรมบนพื้นสนามและวางตะกร้าลงบนพรม พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จออกมาจากพระราชวัง และประทับที่บัลลังก์ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมาก พราหมณ์หนุ่มนำพระยางูออกจากตะกร้า ให้งูเต้นระบำ การเคลื่อนไหวที่งดงามและอ่อนช้อยของพระยางู ทำให้ฝูงชนที่ชมอยู่นิ่งไม่ได้ ผ้าเช็ดหน้านับพันถูกโบกไปมาในอากาศ เศษเงินหลังลงมาดั่งห่าฝนรอบๆ พระยางู

          นี่ก็ครบหนึ่งเดือนพอดีหลังจากที่พระยางูถูกจับมา ตลอดเวลาดังกล่าวพระยางูไม่เคยกินอะไรเลย ในวังภายใต้แม่น้ำจำปา มเหสีงู สุมะนา รู้สึกประหลาดใจและเป็นกังวล "สวามีสุดที่รักไม่ยอมกลับมาหนึ่งเดือนเต็ม เกิดอะไรขึ้นกันแน่กับพระยางู"

          มเหสีงูตรงไปยังบ่อน้ำเสี่ยงทายและเพ่งดู เห็นน้ำเป็นสีแดงดั่งโลหิต จึงรู้ว่าพระยางูถูกหมองูจับไป มเหสีงูจึงออกจากพระราชวังและขึ้นไปยังบนโลกของมนุษย์ตรงไปยังจอมปลวก มองดูสถานที่ซึ่งได้ถูกจับตัวไปและร้องไห้ด้วยความขมขื่น จากนั้นมุ่งตรงไปยังหมู่บ้านชายแดน ทราบว่าพระยางูได้ถูกนำไปยังเมืองพาราณสี

          มเหสีงู จึงรีบเดินทางและมุ่งตรงไปยังพระราชวัง ณ ที่แห่งนั้น มเหสีงูได้เห็นพระยางูกำลังเต้นระบำให้ความบันเทิงในหมู่พสกนิกรจำนวนมาก มเหสีงูจึงลอยตัวอยู่กลางอากาศ ร้องไห้อย่างโทมนัส ระหว่างที่กำลังแสดงการเต้นระบำอยู่นั้น พระยางูมองเห็นมเหสีงูของตน รู้สึกละอายจึงรีบเลื้อยเข้าไปในตะกร้าและซ่อนตัว

          พระเจ้าแผ่นดินเห็นงูหยุดเต้นระบำ จึงทรงตรัส "เกิดอะไรขึ้น"

          พระองค์ทรงมองขึ้นไปในอากาศ เห็นมเหสีงูของพระยางูล่องลอยอยู่ รู้สึกประหลาดใจต่อภาพที่ได้เห็น "เจ้าเป็นใคร ช่างสว่างไสวดั่งสายฟ้า เหมือนดวงดาวช่วงโชติ เป็นเทพธิดาหรือไร ไม่เห็นเหมือนมนุษย์เลย"

          มเหสีงู "ข้าพระพุทธเจ้าไม่ใช่เทพธิดาหรือมนุษย์ แต่เป็นราชินีแห่งงู มาที่นี่เพื่อจุดประสงค์"

          พระเจ้าแผ่นดิน "น้ำตาเจ้าไหล ประหนึ่งเต็มไปด้วยความโกรธ บอกมาชิ ทำไมถึงเข้ามายังที่แห่งนี้"

          มเหสีงู "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท งูที่เต้นระบำต่อพระพักตร์ของพระองค์ ถูกจับมาโดยชายผู้นี้เพื่อหวังกำไร งูตัวนี้คือสวามีของข้าพระพุทธเจ้า มาที่นี่เพื่อร้องขออิสระภาพแก่สวามี"

          พระเจ้าแผ่นดิน "ชายที่ผอมแห้งผู้นี้จับงูที่มีพละกำลังได้อย่างไร ? บอกเรามา ราชินีแห่งงู เกิดขี้นได้อย่างไร"

          มเหสีงู "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระยางูนี้มีพละกำลังมหาศาล มากพอที่จะเผาเมืองนี้ให้เป็นจุล แต่ที่ยอมให้จับแต่โดยดี ก็เพื่อมิให้ความตั้งใจต่อจิตอธิษฐานที่ได้ปฎิบัติธรรมมานาน ต้องมะลายไป"

          พระเจ้าแผ่นดิน "แล้วชายผู้นี้จับพระยางูได้อย่างไร"

          มเหสีงู "ทุกวันศีล พระยางูจะขึ้นมาพาดกายอยู่ที่ข้างทางเดิน และที่นั่นได้ถูกหมองูจับมา เขาคือพระยาของเหล่างูหนึ่งหมื่นหกพัน ที่พักอาศัยอยู่ใต้พื้นแม่น้ำจำปา พระองค์โปรดช่วยปล่อยให้เป็นอิสระด้วยเถิด ซื้อการปลดปล่อยจากชายผู้นี้ด้วยทองคำ วัว และหมู่บ้าน เพื่อเป็นการกระทำความเมตตาปราณี"

          พระเจ้าแผ่นดินเห็นด้วยที่จะปลดปล่อยพระยางู จึงหันไปยังพราหมณ์หนุ่ม "เราขอซื้ออิสระภาพให้แก่พระยางูจากท่าน เราจะแลกด้วยทองคำเครื่องประดับ บัลลังก์ที่สวยงาม โค กระบือ และภรรยาอีกสองคนที่มีอายุเท่าๆ กับเจ้า ปล่อยพระยางูตัวนี้แล้วเจ้าจะได้รับบุญกุศลร่วมกัน"

          พราหมณ์หนุ่มกล่าวตอบ "ข้าพระพุทธเจ้าไม่ปรารถนาสิ่งใดเป็นการตอบแทน จะปล่อยให้พระยางูได้รับอิสระภาพด้วยความเต็มใจ"

          พราหม์หนุ่มนำพระยางูออกจากตะกร้า พระยางูได้เลื้อยไปยังดอกไม้ จากที่ได้รับความลำบาก ทุกข์ทรมาน จึงได้หายตัวไปและสามารถถอดร่างจากสัตว์เลื้อยคลาน กลายร่างมาเป็นชายหนุ่มในชุดอาภรณ์สง่างาม มเหสีงูสุมานาลงมาจากอากาศเบื้องบนและยืนข้างสามีของนาง พระยางูได้ก้มโค้งกระทำความเคารพพระเจ้าแผ่นดินอักกะเสน "ข้าพระพุทธเจ้าขอแสดงความคาราวะต่อพระกรุณาของพระองค์ที่ช่วยให้ได้รับอิสระภาพอีกครั้ง ต้องขอกราบทูลลา"

          พระเจ้าแผ่นดิน "วังของท่านอยู่ที่ใด เราใคร่อยากเห็น"

          พระยางู "พระองค์ได้ประทานให้ข้าพเจ้าได้รับอิสระภาพ เพื่อเป็นการตอบแทน ข้าพระพุทธเจ้าและเหล่าพลเมืองงูจะจงรักภักดีต่อพระองค์เสมอไป ขอเชิญเสด็จลงไปยังเมืองบาดาลของข้าพระพุทธเจ้า"

          พระเจ้าแผ่นดินมีความกระหายใคร่ชมเมืองบาดาลของพระยางู "เตรียมราชรถเทียมล่อให้พร้อม นำช้างประดับยศด้วยเครื่องทอง เพื่อข้าจะได้ไปเยือนเมืองบาดาล"

          กลองถูกตี เสียงเป่าสังข์ เสียงฉาบฉิ่ง ดังก้อง เมื่อพระเจ้าอักกะเสนพร้อมด้วยพระยางู มเหสีงู และผู้ติดตามจำนวนมาก ออกจากเมืองพาราณสี

          พระยางูได้ใช้เวทมนตร์คาถาเสกให้เกิดกำแพงโลหะล้อมรอบเมืองบาดาล ถนนที่มุ่งตรงไปยังพระราชวังตกแต่งอย่างวิจิตรตระการ ดังนั้น เมื่อพระเจ้าอักกะเสนเข้าสู่โลกของงู จึงพบกับภาพแห่งความงดงาม

          พื้นแม่น้ำปกคลุมด้วยทรายทองคำ ปะการังเรืองแสงไปทั่ว หอคอยทองคำตั้งตระหง่านเป็นระยะ วังของพระยางูร่มด้วยเงาไม้นับพันต้น เรืองรองด้วยแสงสว่าง บรรยากาศอบอวลด้วยน้ำหอมน้ำปรุง เสียงพิณบรรเลงเพลงแผ่วเบา เหล่านางกำนัลงูเต้นรำอยู่ในท้องพระโรง

          พระเจ้าแผ่นดินได้รับเชิญให้ประทับบนบัลลังก์ทองคำรองนั่งด้วยหมอนนุ่ม หอมด้วยกลิ่นไม้จันทร์ ทรงได้เสวยพระกระยาหารและเครื่องดื่มรสเลิศ ได้รับการเลี้ยงรับรองด้วยบรรยากาศที่แสนอบอุ่นเป็นเวลาเจ็ดวันจากพระยางู พระองค์พิศวงในความมั่งคั่งของพระยางู ทรงถาม "ท่านผู้ยิ่งใหญ่ ทำไมจึงต้องละสิ่งสง่างามเหล่านี้ ขึ้นไปยังโลกของเราและอยู่ที่จอมปลวก ? ท่านมีทีอยู่อันโอ่โถง มีบาดาลที่แสนลึก งามกว่าที่แห่งใดในโลก นกกระสา นกยูง ปักษาแห่งสวรรค์ มีรอบไปหมด ต้นมะม่วง ไม้ผลต่างๆ สารพันดอกไม้ ทุกสิ่งล้วนสวยงามเลอเลิศกว่าที่มีอยู่บนโลกมนุษย์ แต่ท่านกลับละทิ้งม้น"

          พระยางู "ข้าพระพุทธเจ้าละทิ้งขึ้นไปบนโลกของมนุษย์ก็เพื่อที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ในภายภาคหน้า"

          พระเจ้าแผ่นดิน "พระยางูท่านมีพละกำลังและพลังอำนาจมหาศาล จงบอกมาซิ หนทางใดในโลกมนุษย์ของเราดีกว่าโลกของท่าน"

          พระยางู "การควบคุมตนเอง ปฏิบัติจิตให้บริสุทธิผ่องใส กระทำได้เฉพาะบนโลกมนุษย์ นี่คือสิ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าค้นหา"

          พระเจ้าแผ่นดิน "เราน้อมรับในความเฉลียวฉลาดของท่าน พระยางู ความคิดของท่านช่างประเสริฐโดยแท้ เราจะปฏิบัติตาม และจะพยายามทำคุณงามความดี พวกเราได้พักอยู่ที่นี่นานแล้ว สมควรแก่เวลาต้องลากลับ"

          พระยางูได้ชี้ไปยังสมบัติทั้งหลาย และทูลพระเจ้าแผ่นดินอักกะเสน "พระองค์เลือกได้ทุกสิ่งที่โปรด ข้าพระพุทธเจ้ามีทองคำนับจำนวนไม่ถ้วน เงินกองสูงกว่าต้นไม้ นำไปสร้างกำแพงด้วยเงิน และบ้านด้วยทองคำในราชอาณาจักรของพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้ามีหีบบรรจุหินปะการังและไข่มุกร่วมห้าพันหีบ นำไปปูพื้นของพระราชวังให้มองไม่เห็นพื้นดิน สร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ เมืองพาราณสีจะสวยงามร่ำรวย จงปกครองเหล่าพสกนิกรด้วยคุณงามความดี"

          พระเจ้าอักกะเสนทรงยินดีและเห็นด้วยกับข้อแนะนำของพระยางู ต่างกล่าวคำอำลา เกวียนหลายร้อยเล่มบรรทุกแปร้ไปด้วยสมบัติ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องอย่างเอิกเกริกส่งพระเจ้าแผ่นดินจากเมืองบาดาลกลับสู่เมืองพาราณสี จากนั้นมา ผู้คนต่างกล่าวขานกันว่า ผืนแผ่นดินของเมืองพาราณสีล้วนเป็นทองคำ



คัดลอกจากภาพเขียนโบราณ ในถ้ำ Ajanta caves ประเทศอินเดีย จากหนังสือชาดก ตอน "กษัตริย์ ศิวิ"


กษัตริย์ ศิวิ King Sivi

          ในประเทศอินเดียยุคโบราณ มีพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนาม ศิวิ (Sivi) ผู้เรืองอำนาจปกครอง นคร อะริททะบูร (Aritthapura) มีราชโอรสทรงพระนาม ศิวิ พระนามเดียวกันกับพระราชบิดา

          เมื่อเจ้าชายเติบใหญ่เป็นหนุ่ม ได้ไปศึกษาร่ำเรียนวิชาที่สำนักตักศิลา (Taxila) กลับมาด้วยความรอบรู้และความเฉลียวฉลาด พระราชบิดาได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นอุปราชแห่งราชอาณาจักร

          เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต อุปราชจึงได้ขึ้นครองราชสืบแทน ปกครองไพร่ฟ้าประชาราชด้วยคุณงามความดี ได้สร้างโรงทานหกแห่งในพระนคร สึ่แห่งที่ประตูเมือง สองแห่งนอกพระราชวัง ทุกๆ วัน พระองค์จะพระราชทานเงินจำนวนหกพันเหรียญแก่ผู้ยากไร้ ทุกๆ วันที่แปด สิบสี่ และ สิบห้า ของทุกเดือน พระองค์จะเสด็จไปยังโรงทานทุกแห่งเพื่อตรวจดูว่าได้แจกจ่ายเงินถูกต้อง

          วันหนึ่งเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง พระองค์ได้นั่งบนบัลลังก์ภายใต้ร่มเงาของฉัตร ทบทวนทุกสิ่งที่ได้เคยแจกจ่ายมอบให้พลเมืองของพระองค์ บรรดาสิ่งของที่ได้ให้ทานไปนั้น รู้สึกว่าน้อยไป น่าจะต้องมีมากและดีกว่านี้ เราต้องการมอบอวัยวะจากร่างกายของเรา วันนี้ ถ้าเราไปที่โรงทาน หากผู้ใดก็ตามขออวัยวะจากร่างกาย เราจะยินดีและมอบให้ หากเขาร้องขอทาส เราก็จะยอมถอดเครื่องทรงของกษัตริย์ออกและทำงานเยี่ยงทาส หรือขอดวงตาเราก็ยินดีควักออกมอบให้แก่เขา

          พระองค์ทรงสรงน้ำด้วยน้ำอบปรุงด้วยเครื่องหอมสิบหกขัน และแต่งองค์ด้วยอาภรณ์อย่างดี หลังจากได้เสวยพระกระยาหารที่โปรดปราน จึงทรงช้างที่ประดับประดาอย่างสวยงามตรงไปยังโรงทาน

          พระอินทร์ (Indra) ราชาแห่งทวยเทพต้องการทดสอบพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ ทรงครุ่นคิด "พระเจ้าแผ่นดิน ศิวิ ได้ปลงใจที่จะมอบดวงตาให้แก่ผู้ใดก็ตามที่ร้องขอ เราประหลาดใจว่าเมื่อถึงเวลานั้นจริง พระองค์จะกล้ากระทำการอุทิศที่สุดยอดเช่นนี้จริงหรือ !"

          พระอินทร์จึงแกล้งแปลงกายเป็นพราหมณ์แก่ตาบอดยืนอยู่หน้าโรงทาน เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงช้างผ่านมา พราหมณ์แก่ตาบอดได้ยื่นกะลาขอทาน และร้องขอ "มหาบพิธ ไม่มีที่แห่งใดในโลกนี้จะปราศจากเสียงก้องแห่งชื่อเสียงคุณงามความดีของพระองค์ ดังที่พระองค์ได้เห็นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าตาบอด พระองค์มีดวงพระเนตรสองดวง ข้าพระพุทธเจ้าได้เดินทางมาจากแดนไกลเพื่อขอพระราชทานพระเนตรของพระองค์หนึ่งดวง"

          พระเจ้าศิวิทรงคิดในใจ "นี่คือสิ่งที่เราได้คิดไว้อยู่แล้ว ความปรารถนาของเราสมหวัง เราจะมอบสิ่งที่ไม่เคยมีผู้ใดได้เคยกระทำมาก่อน" พระเจ้าศิวิทรงหันไปมองพราหมณ์แก่ตาบอด "ผู้ใดได้บอกเจ้าให้มาขอดวงตาข้า ? มันคือส่วนที่จำเป็นของร่างกายมนุษย์ และยากที่จะแยกตัดออกได้"

          พราหมณ์แก่ตาบอด "พระอินทร์ได้บอกให้ข้าพระพุทธเจ้ามาขอพะยะค่ะ ผู้คนมักกล่าวกันว่า การอุทิศดวงตาคือการทำกุศลที่สูงส่งที่สุด พระองค์ปฏิเสธหรือ ข้าพระพุทธเจ้าทูลขอเพียงดวงเดียวเท่านั้น"

          พระเจ้าศิวิ "ท่านพราหมณ์ ท่านขอเพียงข้างเดียว เราจะมอบให้ท่านทั้งสองข้าง" จากนั้น พระเจ้าศิวิได้เดินทางกลับเข้าพระราชวังพร้อมกับพราหมณ์แก่ตาบอด

          ทั่วทั้งเมืองระงมไปด้วยข่าวพระเจ้าแผ่นดินอุทิศดวงตาให้พราหมณ์แก่ตาบอด พระมเหสี เหล่าขุนนาง และข้าราชสำนัก ต่างช่วยกันทัดทานขอร้อง "ขอพระองค์โปรดอย่าได้อุทิศดวงพระเนตร ควรพระราชทานเงินทองของมีค่าอื่นๆ แทนดีกว่า ไม่ควรบริจาคชิ้นส่วนของร่างกาย พวกข้าพระพุทธเจ้าขอวิงวอน"

          พระเจ้าศิวิ "ข้าได้สาบานที่จะอุทิศทุกอย่างที่ถูกร้องขอ ถ้าข้าฝืนคำสาบานจะเป็นบาปอย่างใหญ่หลวง วิญญาณข้าจะตกอยู่ในอันตรายต้องลงไปอยู่ในขุมนรกของพระยายม (Yama) ไม่ต้องร้องขอ ข้าได้ตัดสินใจให้ตามคำขอของท่านพราหมณ์ผู้นี้ และจะไม่คืนคำมั่นสัญญา"

          ข้าราชสำนัก "พระองค์ประสงค์สิ่งใดเป็นการตอบแทนต่อการอุทิศดวงพระเนตร ประสงค์อะไรกันแน่ หรือว่าพระองค์หวังผลตอบแทนเพื่อให้ได้มีชีวิตที่ยืนยาว ความสง่างามหล่อเหลา หรือพละกำลังแห่งอำนาจ ทำไมพระเจ้าแผ่นดินต้องอุทิศดวงพระเนตรเพื่อการได้มาเกิดในภพหน้า ?"

          พระเจ้าศิวิ "การอุทิศดวงตาของข้านี้ มิได้หวังความรุ่งโรจน์ ความมั่งคั่ง อาณาจักร หรือโอรส นี่คือวิถีทางของผู้ทรงศีล วิญญาณของข้าจะรู้สึกปิติที่ได้กระทำการอุทิศ"

          พระเจ้าศิวิหันไปยังแพทย์หลวง และทรงสั่งการ "ท่านคือเพื่อนสนิท จงทำตามที่ข้าบอก ควักดวงตาของข้าด้วยความสามารถจากมือที่มากประสบการณ์ของเจ้า แล้วจงมอบให้ท่านพราหมณ์ผู้นี้"

แพทย์หลวง "พระองค์โปรดได้ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน การบริจาคดวงพระเนตรเป็นเรื่องใหญ่ มิใช่เรื่องเล็กน้อย"

          พระเจ้าศิวิ "ข้าได้ทบทวนอย่างรอบคอบแล้ว อย่าได้ประวิงเวลาและพูดมาก จงควักดวงตาของข้าออกตามสั่ง"

          แพทย์หลวงลังเลอยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดได้ควักดวงพระเนตรของพระเจ้าศิวิออกทั้งสองดวงตามรับสั่ง สุดแสนเจ็บปวด ทุกคนในท้องพระโรงต่างกรูกันไปหาและก้มลงแทบเท้าพระเจ้าศิวิ ร้องไห้และคร่ำครวญ "พระองค์ได้กระทำอะไรลงไป พระองค์ได้สังเวยดวงพระเนตรเพื่ออะไร"

          พระเจ้าศิวิทรงอดทนและอดกลั้นด้วยความเงียบไม่ยอมปริปาก สักครู่พระเจ้าศิวิผงกพระเศียรให้พราหมณ์แก่ตาบอดเข้ามาใกล้ "ท่านพราหมณ์ จงนำดวงตาของข้าใส่เข้าไปในเบ้าตาบอดของเจ้า ดวงตาแห่งการเห็นธรรมย่อมมีค่ามากกว่าดวงตาที่แสนรักของมนุษย์คู่นี้หลายพันเท่า ท่านได้รับสิ่งที่ข้าต้องการกระทำ"

          พราหมณ์แก่ตาบอดได้ใส่ดวงพระเนตรทั้งสองของพระเจ้าแผ่นดินเข้าไปในเบ้าตาของตนและรีบเดินออกจากพระราชวัง เมื่อออกมาอยู่นอกประตูเมืองได้แปลงกายคืนร่างกลับสู่วิมาน

          ขณะนี้ พระเจ้าศิวิได้กลายเป็นกษัตริย์พระเนตรบอดอยู่ในพระราชวังเดินไปมาลำบากยิ่ง หลังจากนั้นหลายวัน พระองค์ทรงดำริ "คนตาบอดจะปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร ต้องยกอาณาจักรให้ขุนนาง แล้วไปอาศัยอยู่ในสวนดั่งฤาษี"

          พระองค์ได้เรียกประชุมเหล่าขุนนาง และบอกพระประสงค์ "ข้าต้องการผู้ติดตามเพียงคนเดียว เพื่อรับใช้และเป็นผู้นำทางในการเดินเหิน"

          พระองค์ต้องการราชรถ แต่ราชสำนักไม่ยอมให้พระองค์นั่งราชรถ เขาเหล่านั้นจัดใหัพระองค์ขึ้นนั่งบนเกี้ยวทองคำนำพระองค์ไปยังพระราชอุทยานซึ่งปลอดภัยกว่า ได้ปล่อยให้พระองค์อยู่กับคนใช้หนึ่งคน จากนั้นพากันกลับพระราชวัง

          พระอินทร์ทรงประทับนั่งอยู่บนพระราชอาสน์ในสวรรค์ เห็นพระเจ้าศิวินั่งเข้าฌานในสวน คิดในใจ "เราจะให้พระเจ้าศิวิร่วมสนุก เพื่อจะได้ดวงพระเนตรกลับคืนอีกครั้ง"

          เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ในร่างของพระอินทร์ และยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าศิวิผู้มีพระเนตรบอด ซึ่งได้ยินเสียงฝีเท้าแปลกๆ ทรงถามว่า "ท่านเป็นใคร ต้องการอะไรจากเรา"

          พระอินทร์ "ข้าคือพระอินทร์ เจ้าแห่งทวยเทพ ลงมาจากสวรรค์เพื่อมาเยี่ยมท่าน ข้าต้องการเล่นสนุกกับท่าน กษัตริย์นักปราชญ์ จงเอ่ยนามอะไรก็ได้"

          พระเจ้าศิวิพระเนตรบอด "โอ ท่านมหาเทพ ข้าพเจ้าได้ละทิ้งความหรูหรา สมบัติ อำนาจ บารมี ไว้เบื้องหลัง ต้องการแต่ความตาย เนื่องด้วยนัยตาบอด"

          พระอินทร์ "พระเจ้าศิวิ ทำไมถึงเรียกร้องขอความตายด้วยเหตุพระเนตรบอด หรือเพราะต้องการความตาย"

          พระเจ้าศิวิพระเนตรบอด "ก็เนื่องด้วยข้าพเจ้าดวงตาบอด ท่านมหาเทพ"

          พระอินทร์ "พระเจ้าศิวิ ท่านได้ทำทานเพื่อบารมีในภายภาคหน้า ท่านได้ถูกร้องขอดวงพระเนตรหนึ่งดวง แต่ท่านกลับให้ไปถึงสองดวง จงพูดความจริง ทำไมต้องกระทำเช่นนั้น นี่คือหนทางที่ท่านจะได้ดวงพระเนตรทั้งคู่กลับคืน"

          พระเจ้าศิวัพระเนตรบอด "ท่านมหาเทพ ถ้าท่านต้องการคืนดวงตาแก่ข้าพเจ้า ก็ขอให้เป็นไปตามผลบุญที่จะตามมา"

          พระอินทร์ "ข้าเป็นถึงพระอินทร์ผู้ยิ่งใหญ่ยังไม่ยอมให้ดวงตาแก่ผู้ใดแม้จะขอเพียงข้างเดียวก็ตาม จากบันทึกรายการทำบุญของท่าน การอุทิศอันสูงส่งของท่านนี้ปราศจากความเคลือบแคลง ท่านจะได้รับพระเนตรทั้งสองดวงคืน"

          พระเจ้าศิวิพระเนตรบอด ทรงรู้สึกปิติยินดี "ใครผู้ใดก็ตามเข้ามาหาข้าพเจ้าและร้องขอของกำนัล ข้าพเจ้าจะมอบให้โดยไม่ถาม ถ้านี่เป็นการพูดความจริง ก็ขอให้ดวงตาตาปรากฏ" เมื่อสิ้นสุดคำพูด เนตรกลวงโบ๋ข้างหนึ่งของพระเจ้าศิวิ ก็พลันมีดวงพระเนตรปรากฏ

          พระเจ้าศิวิตรัส "พราหมณ์ผู้หนี่งได้เข้ามาหาและร้องขอดวงตาข้าพเจ้าหนึ่งข้าง แต่ข้าพเจ้าได้มอบให้เขาไปสองข้าง ด้วยความยินดีและเต็มใจ ถ้าข้าพเจ้าได้พูดความจริง ก็ขอให้ได้ดวงตาอีกข้างกลับคืน"

          ทันใดนั้น เนตรอีกข้างที่กลวงโบ๋ก็ปรากฏดวงพระเนตร และพระเนตรดวงที่สองนี้คือผลของความจริงที่สมบูรณ์

          พระอินทร์ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ ดลใจเหล่าขุนนางข้าราชสำนักทั้งหมดมารวมกันที่สวน และกล่าวต่อพระเจ้าแผ่นดิน "พระเจ้าศิวิ เพื่อเป็นกำนัลต่อสุดยอดการอุทิศตน บัดนี้ ข้าได้มอบดวงพระเนตรวิเศษหนึ่งคู่ พระองค์สามารถมองทะลุหินผา หุบเขา ได้ไกลในทุกทิศทาง" จากนั้น พระอินทร์ได้ทูลลา และจากไปสู่วิมาน

          พระเจ้าศิวิเสด็จกลับเข้าพระราชวัง โดยมีเหล่าขุนนางข้าราชสำนักห้อมล้อม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องและพิธีต้อนรับ ข่าวพระเจ้าแผ่นดินได้รับคืนดวงพระเนตร กระจายเป็นที่รับทราบไปทั่วพระนคร เหล่าประชากรได้เดินทางมาเข้าเฝ้าพร้อมกับได้นำข้าวของติดมือมาเพื่อถวาย

          ปะรำพิธีขนาดใหญ่ได้ถูกสร้างขึ้นที่ประตูทางเข้าพระราชวัง พระเจ้าแผ่นดินประทับบนบัลลังก์ใต้ร่มฉัตร เหล่าพลกลองได้ถูกส่งเข้าไปในเมืองเพื่อตีเป็นสัญญาณเรียกระดมคนให้เข้ามารวมกันที่ปะรำพิธี เมื่อฝูงชนจำนวนมากมารวมกันต่อพระพักตร์ พระเจ้าศิวิได้มีกระแสพระราชดำรัส "ประชากรแห่ง ศิวิ บัดนี้ ท่านได้เห็นดวงตาวิเศษคู่นี้ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เคยรัปทานอาหารโดยปราศจากการให้บางสิ่งแก่ผู้อื่น แต่ในหมู่เจ้าทั้งหลายหากถูกขอ มักปฏิเสธมาตรว่าเป็นของรักของหวง ? ดวงตาทั้งสองข้างของข้าพเจ้าคือของขวัญจากพระเจ้า ไม่ว่า หินผา ภูเขา หุบเหว ไกลออกไปเพียงใดก็สามารถมองเห็นได้ ข้าพเจ้าได้เคยอุทิศดวงตา และก็ได้รับคืนมาเป็นดวงตาวิเศษ ดูเถิดประชากรที่รัก จงแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่นบ้าง กระทำแต่ความดีงาม แล้วท่านจะได้ขื้นสวรรค์"

          พระเจ้าศิวิจะสั่งสอนประชากรให้ประพฤติปฎิบัติในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ เหล่าขุนนางข้าราชสำนักต่างร่วมกันทำทาน ประพฤติแต่สิ่งที่ดีงาม และในที่สุดได้ขึ้นสวรรค์ มีชีวิตเป็นนิรันดร


**********


          ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ท่านสามารถนำ ข้อเขียน เนื้อหา ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแจ้งแต่ประการใด ส่วนภาพประกอบในสาระน่ารู้เหล่านี้ได้คัดลอกมาจาก Internet Public Domains บางภาพอาจมีลายน้ำต้องคงไว้เป็นตัวอ้างอิงถึงที่มา และต้องให้ Credit แก่เจ้าของภาพ และ www.dandinth.com เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้น

คลิกที่นี่ เพื่อกลับไปเริ่มต้นอ่านใหม่

กลับไปหน้าหลัก